ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “วาเลนไทน์ในสไตล์วัยรุ่นไทย” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 5 – 7 กุมภาพันธ์ 2563 จากประชาชนที่มีอายุ 18 - 25 ปี กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพ ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,263 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับความคิดเห็นที่มีต่อวันวาเลนไทน์ ซึ่งตรงกับวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ของทุกปี การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” สุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ร้อยละ 95.0 จากการสำรวจเมื่อถามถึงการมีแฟนของวัยรุ่นไทย พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 55.11 ระบุว่า มีแฟน รองลงมา ร้อยละ 43.55 ระบุว่า ไม่มีแฟน และร้อยละ 1.34 ระบุว่า ไม่แน่ใจว่าใช่แฟนหรือเปล่า และเมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจ วาเลนไทน์ในสไตล์วัยรุ่นไทย ปี 2558 พบว่า ผู้ที่ระบุว่า มีแฟน มีสัดส่วนลดลง ซึ่งในขณะที่ผู้ที่ระบุว่า ไม่มีแฟน มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น ด้านความคิดเห็นของวัยรุ่นไทยต่อความสำคัญของวันวาเลนไทน์ พบว่า ร้อยละ 6.02 ระบุว่า มีความสำคัญมากที่สุด ร้อยละ 24.86 ระบุว่า ค่อนข้างมีความสำคัญ ร้อยละ 45.60 ระบุว่า ไม่ค่อยมีความสำคัญ และร้อยละ 23.52 ระบุว่า ไม่มีความสำคัญเลย และเมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจ วาเลนไทน์ในสไตล์วัยรุ่นไทย ปี 2558 พบว่า ผู้ที่ระบุว่า มีความสำคัญมากที่สุด ค่อนข้างมีความสำคัญ และไม่ค่อยมีความสำคัญ มีสัดส่วนลดลง ซึ่งในขณะที่ผู้ที่ระบุว่า ไม่มีความสำคัญเลย มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงสิ่งที่วัยรุ่นไทยนึกถึงในวันวาเลนไทน์ พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 30.88 ระบุว่า ดอกกุหลาบ ดอกไม้ รองลงมา ร้อยละ 22.72 ระบุว่า คนในครอบครัว เช่น พ่อ แม่ พี่ น้อง ร้อยละ 13.30 ระบุว่า คนรัก แฟน ภรรยา สามี ร้อยละ 11.88 ระบุว่า ไม่นึกถึงอะไรเลย ร้อยละ 9.98 ระบุว่า ความรัก การดูแลเอาใจใส่ การมอบสิ่งดี ๆ ให้กัน ร้อยละ 9.26 ระบุว่า ช็อกโกแลต ร้อยละ 1.43 ระบุว่า หัวใจ สีชมพู และ ร้อยละ 0.55 ระบุว่า อื่น ๆ ได้แก่ สถานที่ท่องเที่ยว ขนมหวาน ศิลปิน/ดาราที่ชื่นชอบ และความเชื่อทางศาสนาคริสต์ และเมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจ วาเลนไทน์ในสไตล์วัยรุ่นไทย ปี 2558 พบว่า ผู้ที่ระบุว่า ดอกกุหลาบ ดอกไม้ คนรัก แฟน ภรรยา สามี และไม่นึกถึงอะไรเลย มีสัดส่วนลดลง ซึ่งในขณะที่ผู้ที่ระบุว่า คนในครอบครัว เช่น พ่อ แม่ พี่ น้อง ความรัก การดูแลเอาใจใส่ การมอบสิ่งดี ๆ ให้กัน ช็อกโกแลต และหัวใจ สีชมพู มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 8.87 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ ร้อยละ 25.97 มีภูมิลำเนาอยู่ปริมณฑล และภาคกลาง ร้อยละ 18.21 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ ร้อยละ 33.49 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และร้อยละ 13.46 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคใต้ ตัวอย่างร้อยละ 49.09 เป็นเพศชาย และร้อยละ 50.91 เป็นเพศหญิง ตัวอย่างร้อยละ 41.09 มีอายุ 18 – 21 ปี และร้อยละ 58.91 มีอายุ 22 – 25 ปี ตัวอย่างร้อยละ 92.95 นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 4.04 นับถือศาสนาอิสลาม ร้อยละ 1.03 นับถือศาสนาคริสต์ และอื่น ๆ และร้อยละ 1.98 ไม่ระบุศาสนา ตัวอย่างร้อยละ 89.63 สถานภาพโสด ร้อยละ 8.71 สมรสแล้ว ร้อยละ 1.66 ไม่ระบุสถานภาพการสมรส ตัวอย่างร้อยละ 2.77 จบการศึกษาประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ร้อยละ 50.20 จบการศึกษามัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 9.90 จบการศึกษาอนุปริญญาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 34.76 จบการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ร้อยละ 0.55 จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และร้อยละ 1.82 ไม่ระบุการศึกษา ตัวอย่างร้อยละ 6.33 ประกอบอาชีพข้าราชการ/ลูกจ้าง/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 19.95 ประกอบอาชีพพนักงานเอกชน ร้อยละ 7.92 ประกอบอาชีพเจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ ร้อยละ 1.35 ประกอบอาชีพเกษตรกร/ประมง ร้อยละ 12.75 ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน ร้อยละ 11.64 เป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน ร้อยละ 38.08 เป็นนักเรียน/นักศึกษา และร้อยละ 1.98 ไม่ระบุอาชีพ ตัวอย่างร้อยละ 49.72 ไม่มีรายได้ ร้อยละ 10.45 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนไม่เกิน 10,000 บาท ร้อยละ 28.11 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 10,001 – 20,000 บาท ร้อยละ 3.72 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 20,001 – 30,000 บาท ร้อยละ 0.79 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 30,001 – 40,000 บาท ร้อยละ 0.64 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 40,001 บาทขึ้นไป และร้อยละ 6.57 ไม่ระบุรายได้