วันที่ 8 ก.พ.63 พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กชื่อ พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง" ระบุว่า ...คำถามคาใจ “จะนำพาประเทศไปหาอดีต หรือนำพาประเทศไปสู่อนาคตที่เจริญรุ่งเรือง?”เฟสบุคของ Pakorn Puengnetr (ปกรณ์ พึ่งเนตร) หัวข้อเรื่อง “2 ประเด็นคาใจคำวินิจฉัยศาล รธน. (ใหญ่กว่าทุกองค์กร?)” มีเนื้อหาเกี่ยวกับ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 63 ที่มีปัญหา "เสียบบัตรแทนกัน" (ความจริงคือการใช้สิทธิแทนกัน) คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ คุณปกรณ์ ได้สรุปเป็นประเด็นไว้ 4 ประเด็น ตั้งข้อสังเกตุจากคำวินิจฉัยไว้ 2 ข้อ และตั้งคำถามสำคัญจากคำวินิจฉัยอีก 2 ข้อ ที่มีความแหลมคมและท้าทายในการแลกเปลี่ยนทางทางวิชาการมาก แม้จะมีขีดจำกัดในการแสดงความคิดเห็นเนื่องจากเกรงต่อการละเมิดอำนาจศาลก็ตามแต่เนื่องจาก “คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรอื่นของรัฐ” หมายถึง ศาลรัฐธรรมนูญมีลักษณะพิเศษ แต่เพียงผู้เดียวมีอำนาจหน้าที่ในการวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของบรรดากฎหมาย และร่างกฎหมาย ดังนั้น คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญครั้งนี้ก็เป็นประเด็นประเด็น “คาใจ” ไปอีกนาน ส่วนตัวจะยังไม่แสดงความเห็นถึงคำวินิจฉัยศาล รธน. แต่จะขอนำความไม่สมดุลของ รธน 2560 ที่มีความ “ไม่พอดี” และ “ไม่สมดุล” ทั้งในด้านโครงสร้างอำนาจ กลไก และมาตราการในการจัดสรรแบ่งปัน อำนาจ ผลประโยชน์ ทรัพยากร และความยุติธรรม หลายประการ ทั้งมีที่มาของ รธน. ที่เกิดจากผู้ทำการปฏิวัติรัฐประหาร กระบวนการยกร่างจัดทำขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนและถูกครอบงำ แม้จะอ้างว่ามีการลงประชามติรัฐธรรมนูญก็ตาม แต่เป็นการประชามติที่ประชาชนไม่เห็นด้วยขาดเสรีภาพ เกิดความขัดแย้งและไม่เป็นไปตามหลักการประชาธิปไตย ในด้าน “เนื้อหารัฐธรรมนูญ” หลายส่วนขัดกับหลักประชาธิปไตยและหลักนิติธรรม มีความไม่พอดี และความไม่สมดุล เพราะคณะรัฐประหารและผู้ร่างไม่ไว้ใจประชาชน จึงมีอคติที่มีต่อนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน เป็น รธน. ที่สร้างโครงสร้างอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระ วุฒิสภา และโครงสร้างอำนาจรัฐ มีพลังอำนาจสูงสุด ผู้ดำรงตำแหน่งล้วนมีที่มาจากระบบการแต่งตั้งจากระบบราชการ กองทัพ และฝ่ายตุลาการ ที่มีอำนาจมากและปราศจากการตรวจสอบจากประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย เมื่อพิจารณาอายุของผู้ดำรงตำแหน่งในศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระพบว่าเป็น “วัยชรา หรือคนแก่” ทั้งสิ้น แม้การมีอายุมากจะแสดงถึงเป็นผู้ผ่านประสบการณ์ชีวิตมามากที่นับว่ามีประโยชน์ก็ตาม แต่ก็มีส่วนด้อยด้านศักยภาพในหลายประการ และกรณีความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญนั้นสามารถมีได้ในคนทุกเพศทุกวัยไม่จำกัด ยิ่งมีความแตกต่างหลากหลายได้มีส่วนร่วมยิ่งแสดงถึงความเป็นประชาธิปไตยเป็นประโยชน์ในการตัดสินใจ ไม่ควรละเว้นแม้แต่สตรีหรือผู้พิการหรือเยาวชนหากเรื่องที่ตัดสินใจเกี่ยวข้องกับบุคคลเหล่านั้น ในกรณีอายุ ตัวอย่าง เช่น ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอยู่ได้ถึงอายุ 75 ปี กกต. ป.ป.ช. คตง ผู้ตรวจการแผ่นดิน และกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ อยู่ได้ถึงอายุ 70 ปี ส.ว. หลายคนอาจมีอายุกว่า 70 ปี นี่ยังไม่รวมถึงที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา จำนวนกว่า 100 คน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกาที่มีอายุใกล้ 70 ปี อีกเป็นจำนวนมาก “ผู้ชราภาพ หรือคนแก่” มีทั้งส่วนที่ดีและส่วนที่เป็นปัญหาสังคม กรณีประเทศไทยที่เข้าสู่สังคมผู้สูง จากข้อมูลพบว่ามีผู้อายุ 60 ปีขึ้นไปในสังคมไทยประมาณ 10 ล้านคนหรือประมาณร้อยละ 15 ของประชากรทั้งหมด ซึ่งมีปัญหามากในขณะนี้ แต่ รธน. ยังจะเอา “คนชราภาพหรือคนแก่” อย่างเดียวให้มีอำนาจเหนือประชาชนมาแบกอุ้มประเทศไทยอีกจึงมีความห่วงกังวลที่เป็นคำถามคาใจว่า รธน. 60 กำลัง “จะนำพาประเทศไปหาอดีต หรือนำพาประเทศไปสู่อนาคตที่เจริญรุ่งเรือง” กันแน่ กรณี “ศาลรัฐธรรมนูญ” ซึ่งจัดตั้งขึ้นเป็นครั้งแรกตาม รธน. 2540 ใช้สืบเนื่องใน รธน. 2550 และ รธน. 2560 ฉบับปัจจุบันนั้น ควรทำการศึกษาวิจัยอย่างจริงจัง อย่างกว้างขวางและปราศจากอคติ หากผลการศึกษาวิจัยพบว่าจะต้องปฏิรูปหรือเปลี่ยนแปล ศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้เป็นองค์กรในการวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของบรรดาร่างกฎหมาย กฎหมาย บทบัญญัติแห่งกฎหมาย ข้อบังคับ และการกระทำทั้งหลายทั้งปวงที่คำวินิจฉัยต้องมีชัดเจน เป็นบรรทัดฐานได้ ไม่เป็นที่เคลือบแคลงสงสัยหรือตีความกันไปต่าง ๆ นานา ถ้าผลการศึกษาว่าต้องทำการปฏิรูปหรือเปลี่ยนแปลงแล้วดีขึ้นก็ต้องทำเช่นกัน ในอดีต ก่อน รธน. 2540 ประเทศไทยมี “คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ” ที่ผู้เป็นตุลาการมีส่วนยึดโยงกับประชาชน เช่น รธน. 2489 คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ เกิดได้ขึ้นครั้งแรก มีจำนวน 15 คน ประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิที่รัฐสภาแต่งตั้ง เป็นประธานคณะตุลาการคนหนึ่ง และตุลาการอื่นอีก 14 คน หรือ รธน. 2534 คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ มีจำนวน 9 คน ประกอบด้วย ประธานรัฐสภา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานศาลฎีกา อัยการสูงสุด และผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ หรือสาขารัฐศาสตร์ อีกหกคน ซึ่งวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรแต่งตั้งสภาละสามคน ประธานรัฐสภาเป็นประธานตุลาการรัฐธรรมนูญ เป็นต้น ซึ่ง “คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ” ในอดีตมีส่วนที่ยึดโยงกับประชาชนสอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตยและได้สร้างผลงานที่ดีเป็นที่เชื่อถือศรัทธาของประชาชน ดังนั้น จึงควรที่จะทำการศึกษาวิจัยด้วยเพื่อให้มีองค์กรสูงสุดการพิทักษ์สิทธิเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญอย่างแท้จริงเกิดขึ้น https://www.facebook.com/100001150309227/posts/2712768395438144/?d=n พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ