เพื่อสืบสาน รักษา ต่อยอด “ศาสตร์พระราชาฝนหลวง” ให้ยังประโยชน์ต่อชาวไทยและนานาชาติ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร จึงได้วางยุทธศาสตร์ในการพัฒนากรมในอีก 20 ปี เพื่อให้เป็นองค์กรที่สามารถทำฝนได้ผลสัมฤทธิ์และรองรับการเป็นศูนย์กลางการดัดแปรสภาพอากาศระดับโลก ทั้งหมดเพื่อสานต่องานพระบิดาแห่งฝนหลวง ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า กรมได้จัดทำแผนปฏิบัติการด้านการดัดแปรสภาพอากาศ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ระยะ 20 ปี( 2561-2580) โดยแผนดังกล่าวเป็นผลจากการระดมความเห็นของบุคลากรของกรม ที่มาจากประสบการณ์และการทำงานจริง นับตั้งแต่มีการตั้งสำนักงานฝนหลวงและการบินเกษตร ปัจจุบันคือกรมฝนหลวงและการบินเกษตร มาร่วมกันยกร่างวิจัย จนได้แผนปฏิบัติการฉบับนี้ “กรมได้มีการตั้งคณะทำงานศึกษาเพื่อทำแผนปฏิบัติการฯ ไม่ได้จ้างสถาบันศึกษาใดมาช่วยศึกษา เพราะเราตระหนักดีว่า ผู้ปฏิบัติคือคนที่จะทราบประเด็นทุกด้าน ตลอดจนปัญหาอุปสรรค และความต้องการเพิ่มเติม ทั้งด้านวิชาการ งานวิจัย การพัฒนาบุคลากร เพื่อให้แผนปฏิบัติการฯ ออกมาสมบูรณ์และสามารถปฏิบัติตามได้จริง ทั้งหมด เพื่อเป็นการสานต่องานฝนหลวงตามศาสตร์พระราชา” โดยแผนปฏิบัติการฯ สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 ครอบคลุมใน 4 ด้านหลักคือ 1. เพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งและบรรเทาภัยพิบัติเชิงพื้นที่ 2. เพิ่มประสิทธิภาพการดัดแปรสภาพอากาศ 3. เพิ่มขีดความสามารถการบริหารจัดการด้านการบิน และ 4. พัฒนาระบบบริหารจัดการภาครัฐ เป้าหมายวางไว้ 4 ระยะ คือระยะแรก (ปี 2561-2565 ) กรมจะสามารถทำฝนแก้ปัญหาภัยแล้งได้ไม่น้อยกว่า 70-80% ของพื้นที่ปฏิบัติการ พื้นที่ประสบภัยได้รับการแก้ไขไม่น้อยกว่า 45% ของพื้นที่ มีศูนย์กลางถ่ายทอดเทคโนโลยีการดัดแปรสภาพอากาศ มีศูนย์การบินดัดแปรสภาพอากาศ มีบุคลากรที่มีศักยภาพ ผ่านเกณฑ์ประเมินรัฐบาลดิจิทัลในระดับดี ระยะที่ 2 ( ปี 2566-2570) หวังผลแก้ปัญหาภัยแล้งได้ 93% ของพื้นที่ พื้นที่ประสบภัยได้รับการแก้ไขไม่น้อยกว่า 63% ของพื้นที่ และเป็นศูนย์การถ่ายทอดเทคโนโลยีการดัดแปรสภาพอากาศ และศูนย์กลางการบินดัดแปรสภาพอากาศระดับอาเซียน เป้าหมายระยะที่ 3 (ปี 2571-2575) หวังผลแก้ปัญหาภัยแล้งได้ 95% ของพื้นที่ พื้นที่ประสบภัยได้รับการแก้ไข 65% ของพื้นที่ และยกระดับเป็นศูนย์กลางการถ่ายทอดเทคโนโลยี และการบินดัดแปรสภาพอากาศระดับเอเชีย ระยะที่ 4 (ปี 2576-2580) หวังช่วยเหลือภัยแล้งได้ไม่น้อยกว่า 98% ของพื้นที่ และพื้นที่ประสบภัยพิบัติได้รับการแก้ไข 70% ของพื้นที่ และไทยเป็นศูนย์กลางการถ่ายทอดเทคโนโลยีการดัดแปรสภาพอากาศและการบินดัดแปรสภาพอากาศระดับนานาชาติ “ทุกระยะจะพัฒนาพร้อมกันทุกด้าน ทั้งวิชาการ งานและคน เพื่อให้ไปสู่เป้าหมายที่กำหนด โดยงานวิจัย การพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อให้สามารถปฏิบัติการทำฝนได้ผลสัมฤทธิ์ในสภาวะอากาศแปรปรวนทั่วโลก เป็นเครื่องมือสำคัญที่ต้องเร่งพัฒนา เช่น การพัฒนาสารฝนหลวงทางเลือก พัฒนาอากาศยานไร้คนขับ และจรวดฝนหลวง เป็นต้น” พันธกิจเพื่อเป็นศูนย์กลางการถ่ายทอดเทคโนโลยีและการบินดัดแปรสภาพอากาศในทุกระดับ กรมจึงได้มีการพัฒนาบุคลากร โดยได้เตรียมสร้างหลักสูตรการบินตามศาสตร์ฝนหลวง โรงเรียนการบิน ซึ่งได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านอากาศยานมาร่วมให้ความเห็นต่อหลักสูตร คาดว่าอีกไม่เกิน 1 ปี จะสามารถยื่นขอเป็นหลักสูตรต่อสถาบันการบินพลเรือนได้ และคาดว่าจะตั้งโครงการได้ในงบประมาณปี 2564 มีเป้าหมายคือผลิตนักบินฝนหลวงเอง โดยร่วมกับกองทัพอากาศ เพื่อเป้าหมายสูงสุดคือการเป็นศูนย์กลางการบินดัดแปรสภาพอากาศในระดับนานาชาติในอีก 20 ปี และการมีบุคลากรที่มีความชำนาญเฉพาะด้าน เนื่องจากการบินทำฝนจะต่างจากการบินโดยทั่วไป นอกจากนั้นปี 2563 กรมเตรียมเปิดศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงเพิ่มเป็น 7 ศูนย์ โดยอีก 2 แห่งที่จะเปิดใหม่คือ ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวง จ.บุรีรัมย์ และ จ. พิษณุโลก เพิ่มจากเดิมที่มีอยู่แล้ว 5 แห่งคือ เชียงใหม่ นครสวรรค์ ขอนแก่น ระยอง สุราษฎร์ธานี และในปี 2564 จะมีการย้ายศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือจากจ.เชียงใหม่ มาตั้งที่จ.ตาก เนื่องจากการจราจรทางอากาศหนาแน่น แผนปฏิบัติการฯ ที่กลั่นมาจากสมองและสองมือของบุคลากรกรมฝนหลวงและการบินเกษตร จึงเป็นแผนที่สามารถขับเคลื่อนได้จริง เพราะคนปฏิบัติเป็นคนเขียน พันธกิจที่ตั้งไว้จึงคาด