ถกกมธ.แก้รัฐธรรมนูญ ฟาก "เพื่อไทย"เสนอแก้ไข ม.49 ป้องกันคดีีรกศาล ด้าน "ปกรณ์"แนะแก้ไขหมวด สิทธิเสรีภาพต้องคำนึงถึงพันธกรณีต่อต่างประเทศ "ไพบูลย์"เผยจะรับข้อเสนอไปพิจารณา วันที่ 7 ก.พ. ในการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ที่มี นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และเป็นประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้มีวาระพิจารณาข้อเสนอเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญในหมวดสิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทย นายโภคิน พลกุล ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ เสนอว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันกำหนดบทบัญญัติเกี่ยวกับการรับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชนไว้จำนวนมาก แต่กลับถูกตัดด้วยบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญมาตรา 279 ว่าด้วยการรับรองความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของบรรดาประกาศ คําสั่ง และการกระทําของคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ส่งผลให้สิทธิเสรีภาพของประชาชนต้องมาอยู่ภายใต้บทเฉพาะกาล ทั้งๆที่สิทธิและเสรีภาพของประชาชนได้รับการรับรองไว้ในบทถาวรของรัฐธรรมนูญ ดังนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการแก้ไขบทเฉพาะกาลในมาตรานี้ โดยอาจจะกำหนดระยะเวลาการบังคับใช้ เหมือนกับบทเฉพาะกาลในส่วนอื่นๆที่มีการกำหนดระยะเวลาเช่นกัน นายสมชัย ศรีสุทธิยากร รองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญ กล่าวว่า สิทธิเสรีภาพของประชาชนเขียนไว้ดีในรัฐธรรมนูญ แต่ในทางปฏิบัติกลับถูกดำเนินคดีความ ขณะที่สิทธิเสรีภาพที่หายไปที่ไม่ได้เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ เช่น สิทธิเสรีภาพในทางการเมืองที่ให้ประชาชนสามารถเข้าชื่อกันถอดถอนคนในฝ่ายการเมืองได้ผ่านวุฒิสภา แต่ก็มีคำถามอีกว่าในช่วงที่ ส.ว. มาจากการแต่งตั้งสมควรที่จะมีสิทธิถอดถอนคนของฝ่ายการเมืองหรือไม่ แต่หากมีการตั้ง ส.ว. ชุดใหม่ก็ควรให้อำนาจนี้กลับคืนมา หรืออีกทางคือพิจารณาว่า ประชาชนมีสิทธิเข้าชื่อถอดถอนคนในฝ่ายการเมืองหรือไม่ และถ้ามี ควรไปรวมอยู่กับอำนาจ ส.ว. เหมือนเดิมหรือไม่ นายชูศักดิ์ ศิรินิล กรรมาธิการวิสามัญฯสัดส่วนพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า อยากให้พิจารณาศึกษาแก้ไขมาตรา 49 ว่าด้วยบุคคลจะใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมิได้ โดยมาตรานี้มีความมุ่งหมายป้องกันการใช้รัฐประหารและป้องกันการใช้กำลังมาล้มล้างรัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐธรรมนูญในอดีตจะให้อำนาจอัยการสูงสุดในการเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ โดยไม่เปิดโอกาสให้ประชาชน แต่ปรากฎว่าครั้งหนึ่งศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยว่าให้ประชาชนเป็นผู้ร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ จึงเห็นว่ามาตรานี้มีปัญหาพอสมควร และใช้มาตรานี้เป็นเครื่องมือทางการเมือง แม้แต่การเสนอญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูยก็ยังถูกกล่าวหาเป็นการล้มล้างการปกครองมาแล้ว ดังนั้น อยากเสนอว่าควรมีการกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญให้ชัดเจนว่าการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ถือว่าเป็นการกระทำที่ล้มล้างการปกครองฯ "ไม่อยากให้มาตรานี้ถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง จนเป็นคดีรกศาลรัฐธรรมนูญ ดังนั้น มาตรา 49 ควรได้รับการแก้ไขให้ชัดเจนเพื่อให้การใช้อำนาจนิติบัญญัติเป็นไปด้วยความสะดวกและมีความชัดเจน" นายชูศักดิ์ กล่าว นายปกรณ์ นิลประพันธ์ กรรมาธิการวิสามัญฯและอดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า หมวดสิทธิเสรีภาพในรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจำนวนมาก ดังนั้น การจะแก้ไขในเรื่องใดควรพิจารณาถึงพันธกรณีของไทย ที่มีต่อต่างประเทศด้วย นอกจากนี้ ไม่ว่าจะมีสิทธิเสรีภาพมากขนาดไหนแต่กรอบการใช้สิทธิเสรีภาพเป็นเรื่องสำคัญ รัฐธรรมนูญต้องถูกใช้เพื่อให้เดินไปข้างหน้า จึงต้องคำนึงถึงการใช้สิทธิเสรีภาพในอนาคตภายใต้ความท้าทายใหม่ด้วย เช่น สังคมผู้สูงอายุ เพื่อให้เป็นนวัตกรรมของคณะกรรมาธิการวิสามัญที่แสดงให้เห็นว่าได้ทำงานไปข้างหน้า นายไพบูลย์ นิติตะวัน รองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญฯและประธานคณะอนุกรรมาธิการศึกษาวิเคราะห์บทบัญญัติรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ และกฎหมายอื่น กล่าวว่า คณะอนุ กรรมาธิการฯจะรับข้อเสนอจากที่ประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญฯไปพิจารณา เพราะเห็นว่าหลายเรื่องที่กรรมาธิการวิสามัญฯได้อภิปรายแสดงความคิดเห็นนั้นได้ผ่านการพิจารณาของคณะอนุกรรมาธิการฯมาบางส่วนแล้ว แต่เมื่อที่ประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญฯได้มีข้อสังเกต ทางคณะอนุกรรมาธิการฯจะนำไปพิจารณาและกลับมาเสนอต่อที่ประชุมต่อไป