ดร.สุพิศ ปราณีตพลกรัง ระเบียบวินัยนั้น เป็นเรื่องที่มีความสำคัญของการอยู่ร่วมกันในสังคม ช่วยให้การพัฒนาสังคมเป็นไปอย่างราบรื่น เพราะสมาชิกในสังคมยึดมั่นกติกาของส่วนรวม ทุกคนได้ประโยชน์จากกติกาการอยู่ร่วมกัน กติกานั้นไม่จำกัดเฉพาะที่ปรากฏอยู่ในรูปของตัวบทกฎหมาย แต่เป็นเรื่องลงลึกไปถึงขั้นของศีลธรรมประจำใจ สิ่งดีงามที่เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป และเต็มใจจะยึดถือปฏิบัติ มิใช่เพียงลำพังการเกรงกลัวว่าจะถูกตำหนิติเตียนหากมีการฝ่าฝืนเท่านั้น ตัวอย่างของประเทศที่ประชาชนยึดมั่นในระเบียบวินัยประเทศหนึ่งก็คือ ประเทศญี่ปุ่น แม้ว่าจะเป็นสภาวการณ์ปกติหรือเกิดภัยพิบัติ เหตุการณ์ฉุกเฉิน ทุกคนก็พร้อมที่จะควบคุมตนเองให้อยู่ในระเบียบวินัย มีการเข้าคิว ไม่ยื้อแย่งสิ่งของที่แจก ข้าวของที่ค้นพบหากไม่ใช่ของตัวเองก็ไม่เอาไป มีความเข้าใจกัน เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กัน ไม่กักตุน ขึ้นราคาสินค้าหาประโยชน์บนความทุกข์ของเพื่อนร่วมชาติ สามารถปลุกปลอบจิตใจตนเองให้คลายความตื่นตระหนกจากเหตุการณ์ต่าง ๆ ได้ในเวลาอันรวดเร็ว ปัญหาการไม่นำพาในกฎเกณฑ์ การไม่มีวินัยของคนไทยนั้นจะเป็นเรื่องปกติ และยอมรับกันได้ จนแก้ไขได้ยาก จนขึ้นชื่อลือชาว่า เรามักจะมีนิสัยขี้โกง หลีกหลบเลี่ยงอะไรที่ไม่ชอบอยู่ตลอดเวลา วินัยจราจรเราก็ละเมิดเป็นนิตย์ กำหนดเวลานัดเราก็ไม่เคยตรง ทำอะไรก็โอ่อ่าพิธีการเกินเหตุโดยผลที่ได้รับนั้นเพียงเล็กน้อย แต่เราก็ทำใจยอมรับ ไม่มีการปรับเปลี่ยน ไม่ยอมรับเหตุผล ข้อมูลที่ถูกต้อง เป็นจริง เรามีจิตใจโน้มเอียงในทางหาเหตุผลเข้าข้างตนเองในการกระทำที่ไม่เหมาะสมมากกว่าความละอายใจ ราชการทุกหน่วยงานต้องลงทุนมีเครื่องสแกนนิ้วมือลงเวลามาทำงาน เพื่อหลีกเลี่ยงการมาสาย การลงชื่อแทนกัน หรือต้องเว้นช่องไว้ให้ท่านหัวหน้า แต่แม้จะมีการพิมพ์นิ้วมือ ก็ยังคงเลี่ยงหลบไม่ยอมทำงานตามเวลาราชการหลังจากพิมพ์ลายนิ้วมือแล้ว ที่หนักหนาไปกว่านั้น ก็คือ การอบรมในโครงการต่าง ๆ ของหน่วยงานราชการที่มีข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ นักธุรกิจ ภาคเอกชนที่มีชื่อเสียง ที่ผู้คนต่างขวนขวายหาทางเข้ามาร่วมอบรมต่างก็มีปัญหาเดียวกันเกี่ยวกับความรับผิดชอบในการเข้าอบรม ต้องมีการควบคุมด้วยการสแกนหรือพิม์ลายนิ้วมือทั้งภาคเช้าภาคบ่าย เวลาไปดูงานนอกสถานที่ก็ต้องหอบขนเครื่องสแกนไปด้วย ทั้ง ๆ ที่ต่างก็เป็นผู้ใหญ่และกระเหี้ยนกระหืออยากเข้ามาอบรมทั้งนั้น แต่ทำไมไม่มีวินัย ไม่มีความรับผิดชอบในหน้าที่ภารกิจ กลับต้องมีการควบคุมโดยการใช้เทคโนโลยีดังกล่าว คงต้องเป็นเรื่องที่ต้องทวงถามจากมโนสำนึกของท่านผู้เกี่ยวข้องทั้งหลาย จะอ้างว่างานประจำเยอะ ภารกิจติดขัด มีเรื่องฉุกเฉินบ่อย ท่านก็ต้องแก้ปัญหาหรือเตรียมการล่วงหน้าก่อนเข้ารับการอบรมอยู่แล้ว หากเป็นเช่นนี้ งานประจำก็เสีย การอบรมก็ไม่ได้มรรคได้ผลอะไร หรือจะมาเพื่อพักผ่อน มาหาเครือข่ายเชื่อมโยงผลประโยชน์ ก็คงจะได้ตามนั้น แต่เสียดายงบประมาณของหลวงที่ลงไปกับโครงการเหลือเกิน เพราะเป็นจำนวนเงินค่อนข้างสูงโดยเฉพาะการไปดูงานต่างประเทศ ปัญหาการขาดวินัย ไม่สนใจปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของคนไทยนั้น อาจจะเกี่ยวข้องกับระบบอุปถัมภ์ค้ำชูซึ่งฝังรากลึกในสังคมไทย เพราะมีอะไรก็แก้ปัญหาได้แบบไทย ๆ ลูบหน้าปะจมูกช่วยเหลือกันไป ที่ผิดมากก็กลายเป็นผิดน้อย ที่ผิดน้อยก็กลายเป็นไม่ผิด ปล่อยปละละเลยกันไป เมื่อเป็นเช่นนี้ก็จะโยงใยไปถึงการรณรงค์การแก้ไขปัญหานี้ เราจะสอนเด็กได้อย่างไร เราจะใช้ตัวแบบอย่างไร มีอะไรที่ไม่ถูกต้อง ไม่เหมาะสมก็ดูจะใช้สูตรเดียวกันว่า รู้เท่าไม่ถึงการณ์ ขอโทษสังคม แล้วก็เกิดเรื่องเดิม ๆ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า กระทรวงหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ไม่เคยสรุปบทเรียนรับรู้ปัญหาและหาทางแก้ไขในทิศทางที่เป็นรูปธรรมได้อย่างแท้จริง ปัญหานี้ ไม่รู้จะสรุปลงท้ายอย่างไร เพราะเป็นเรื่องใหญ่ มีตัวอย่างทั้งระดับชุมชน ระดับประเทศ คงต้องวอนขอจากคุณธรรมสำนึกของแต่ละคน สิ่งใดดี สิ่งใดชั่วก็แยกแยะได้ อยู่ที่ตัวเราเองจะโกหกตัวเองหรือไม่ มีความละอายในการกระทำหรือไม่ มากน้อยเพียงใด หากมีความละอายน้อยก็ย่อมกระทำสิ่งระยำตำบอนได้อย่างไม่ตะขิดตะขวงใจได้ทุกขณะจิต