ขี่ม้าเลียบค่ายอยู่เป็นนานสองนาน ที่สุดก็ออกแขกหน้าม่านมาแล้ว สำหรับพรรคร่วมฝ่ายค้านที่ได้ฤกษ์ยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีพร้อม 5 รัฐมนตรี เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2563 ที่ผ่านมา หลังจากเจอโรคเลื่อนมาแล้วหลายครั้ง กระนั้น บรรดากองเชียร์และกองแช่งรัฐบาลทั้งหลาย เหมือนไม่ค่อยตื่นเต้นสักเท่าไหร่ นั่นก็เพราะดูรูปมวยของพรรคร่วมฝ่ายค้านแล้ว น่าหนักใจมากกว่าฝ่ายรัฐบาล จนหวั่นว่างานนี้จะกลายเป็นแค่ “ลิเกการเมือง” อาจไม่เกินเลยนัก ด้วยวิเคราะห์อย่างสังเคราะห์ สิ่งที่ทำให้การอภิปรายไม่ไว้วางใจถูกมองเป็นเพียงมหรสพนั้น มาจากปัจจัยต่างๆ 5 ประการดังนี้ ประการแรก ตัวบุคคลที่ตั้งแท่นจะจับขึ้นเขียงอภิปรายไม่ไว้วางใจไว้ ล้วนแล้วแต่ไม่ใช่นักการเมืองอาชีพ ที่จะมีประวัติและบาดแผลให้ขุดขึ้นมาอภิปรายได้มากเท่าไหร่นัก ไล่เรียงดูจากรายชื่อตั้งแต่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือ “บิ๊กตู่” นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หรือ “บิ๊กป้อม” รองนายกรัฐมนตรี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา หรือ “บิ๊กป๊อก” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ดอน ปรมัตวินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยในส่วนของนายกรัฐมนตรี แค่ยื่นญัตติอภิปรายบรรยายพฤติกรรมของนายกรัฐมนตรี ที่กล่าวหาว่าฉีกรัฐธรรมนูญ วิปรัฐบาลก็ตั้งธงแล้วว่า หากไม่ทบทวนญัตติใหม่ก็จะเกิดการประท้วงในการประชุมตั้งแต่เริ่มอภิปราย สำหรับข้อกล่าวหาในส่วนของ “บิ๊กป้อม”คือร่ำรวยผิดปกติ มีพฤติการณ์ทุจริตต่อหน้าที่ เก็งข้อสอบแล้วก็ไม่พ้นเรื่องยืมนาฬิกาเพื่อน ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่ชาติ หรือป.ป.ช.ชี้มูลแล้วว่าไม่ผิด ขณะที่ “บิ๊กป๊อก” ถูกกล่าวหาว่าปล่อยปละละเลยจนเกิดการทุจริตในหน่วยงานที่ตนเองรับผิดชอบดูแลเก็งข้อสอบแล้วเป็นเรื่องเกี่ยวกับการฮั้วประมูลเตาเผาขยะ ที่ได้ชี้แจงจบไปแล้ว ส่วน “วิษณุ” นั้นเป็นเรืองของการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม ซึ่งก็ต้องมีหลักฐานระดับใบเสร็จจึงจะเอาอยู่ ขณะที่หวาดเสียวสักหน่อย สำหรับ“ดอน” ที่อาจถูกขุดปมเรื่องการแสดงความเห็นกรณีเหตุตึงเครียดระหว่งสหรัฐกับอิหร่าน และกรณีการรับคนไทยกลับจากเมืองอูฮั่น ประเทศจีนที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา แต่หลายประเด็นก็ข่าวตัดแปะไปแล้ว จึงไม่มีอะไรใหม่ เช่นเดียวกับ “ร.อ.ธรรมนัส” หากขุดเรื่องของวุฒิการศึกษาขึ้นมาฝ่ายค้านก็อาจจะต้องเสี่ยง เพราะร.อ.ธรรมนัสเคยประกาศแล้วว่าจะดำเนินการฟ้องร้องหากมีการพาดพิงถึงเรื่องดังกล่าว ประการที่สอง รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์เพิ่งบริหารประเทศมาได้เพียง 6 เดือนเศษ ในขณะงบประมาณยังไม่มี ทำให้ไม่มีประเด็นเรื่องของการโครงการต่างๆที่จะถูกตรวจสอบความไม่ชอบมาพากล ประเด็นที่จะอภิปรายส่วนใหญ่จึงเป็นเรื่องเก่าในสมัยรัฐบาล คสช. ประการที่สาม ความไม่เป็นเอกภาพของพรรคร่วมฝ่ายค้าน ที่เสียอาการตั้งแต่ตั้งท่าจะยื่นญัตติอภิปรายกันตั้งแต่ช่วงปลายปี 2562 ที่ผ่านมาแต่ก็มีอันต้องขยับวันเวลาออกไปเรื่อยๆ และในการหารือกันก็มีปัญหาในเรื่องของการกำหนดตัวบุคคลที่เป็นเป้าหมายในการอภิปราย ซึ่งพรรคเพื่อไทยต้องการพุ่งเป้าอภิปรายนายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียว ทำให้เป็นเหตุให้ต้องขยับวันยื่นญัตติออกมาเรื่อยๆ มีโผรายชื่อหลุดออกมา 3-4 โผที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอด ในขณะที่มีข่าวการล็อบบี้เพื่อให้ชื่อรัฐมนตรีบางคนหลุดออกจากบัญชีซักฟอกของฝ่ายค้านจากการรับประทานอาหารโต๊ะจีนของแกนนำบางคนของพรรคเพื่อไทย รวมทั้งดีล900 ล้านเพื่อถอดรายชื่อรัฐมนตรีจากพรรคภูมิใจไทยด้วย กระทั่งร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ประธานคณะกรรมการกิจการพิเศษพรรคเพื่อไทย ออกมาปฏิเสธว่าไม่มีการล็อบบี้ให้ถอดชื่อรัฐมนตรี และไม่ปิดกั้นการเสนอชื่อ ส่วนที่ไม่เห็นด้วยที่อภิปราย “บิ๊กป้อม” ก็เพราะเห็นว่าหากเป็นข้อมูลเก่า ทั้งเรื่องบัญชีทรัพย์สิน แหวน และนาฬิกา เพราะประเด็นนี้ถือว่าจบไปแล้ว หลังจากป.ป.ชชี้มูลว่าไม่ผิด หากฝ่ายค้านจะอภิปรายในประเด็นนี้อีกก็เท่ากับว่าไม่ยอมรับการตัดสินของ ป.ป.ช.ที่เป็นองค์กรอิสระตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ หนำซ้ำผู้อภิปรายต้องรับผิดชอบตัวเอง อาจจะมีความผิดติดคุกกันได้ รวมทั้ง สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ก็ได้ออกมาปฏิเสธข่าวดีล900ล้านว่าไม่เป็นความจริงเช่นเดียวกัน ทว่าในที่สุดหวยก็ไปออกที่นายกฯกับอีก 5 รัฐมนตรี และมีชื่อของ “บิ๊กป้อม”ติดโผถูกซักฟอก แม้จะต้องจับตาดูว่าการอภิปรายจะมีหลักฐานเด็ดถึงขั้นน็อกเอาต์ได้หรือไม่ และท่าทีในการอภิปรายจะจริงแค่ไหน โดยการแบ่งงานความรับผิดชอบในการอภิปรายรัฐมนตรีให้กับพรรคต่างๆในซีกฝ่ายค้านไปรับผิดชอบ โดย “บิ๊กตู่” จะเป็นหัวหน้าจากทุกพรรคฝ่ายค้านเป็นผู้อภิปราย ยกเว้นพรรคอนาคตใหม่ เนื่องจากธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ พ้นสมาชิกภาพความเป็นส.ส.แล้ว “บิ๊กป้อม” มีพรรคเพื่อชาติ และพรรคอนาคตใหม่ เป็นแกนหลัก “บิ๊กป๊อก”มีพรรคเพื่อไทย พรรคนาคตใหม่ เป็นแกนหลัก “วิษณุ” มีส.ส.จากพรรคเพื่อไทย และพรรคอนาคตใหม่ “ดอน” มีพรรคเพื่อไทยรับผิดชอบ ส่วน “รอ.ธรรมนัส” เป็นหน้าที่ของพรรคเสรีรวมไทย และพรรคอนาคตใหม่เป็นหลัก อีกทั้งยังเกิดปัญหาพรรคเศรษฐกิจใหม่ ขอถอนตัวจากพรรคร่วมฝ่ายค้านเพื่อทำงานเป็นอิสระ โดยให้เหตุผลว่ามีผู้ใหญ่บางคนให้พรรคเศรษฐกิจใหม่ กลับไปทบทวนตั้งแต่ช่วงที่อภิปรายงบประมาณ 2563 ซึ่งทำให้พรรคเศรษฐกิจใหม่ตัดสินใจถอนตัว ซึ่งต่อมา มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคก็ประกาศแยกทางกับพรรคแม้จะยังไม่ลาออกจากพรรคก็ตาม ประการที่สี่ ไม่เพียงแต่พรรคร่วมฝ่ายค้านที่มีปัญหาความไม่เป็นเอกภาพ หากแต่ภายในพรรคเพื่อไทยก็ขยายรอยร้าวใหญ่ขึ้น ปรากฎชัดในการเลือกตั้งซ่อมส.ส.กำแพงเพชร เขต 2 แทน แทนตำแหน่งที่ว่าง เนื่องจากศาลตัดสินจำคุก ไม่รอลงอาญา ไวพจน์ อาภรณ์รัตน์ จากพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งทางพรรคพลังประชารัฐส่งลูกชายของไวพจน์ คือเพชรภูมิ อาภรณ์รัตน์ ลงรักษาพื้นที่ ทำให้ “สมพงษ์” และภูมิธรรม เวชยชัย เห็นว่าพรรคเพื่อไทยไม่ควรส่งผู้สมัครลงแข่งเนื่องจากเป็นพื้นที่ฐานเสียงที่ผูกขาด แต่ “เจ๊หน่อย”คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ไม่เห็นด้วยและยืนยันจะส่งผู้สมัครลงแข่งขัน ในที่สุดก็ส่งกัมพล ปัญกุล ลงเลือกตั้ง ซึ่งก็ทำให้มีรายงานข่าวตามมาว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ “เจ๊หน่อย”อาจต้องรับผิดชอบในเรื่องงบประมาณในการลงสนามครั้งนี้เอง ขณะที่มีข่าวว่า ในวันที่ 16 กุมภาพันธ์นี้ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคเพื่อไทย จะเดินทางมาประเทศสิงคโปร์ โดยจะมีแกนนำของพรรค เช่น “ภูมิธรรม” ไปพบ ที่อาจมีการพูดคุยกันถึงปัญหาภายในพรรค ขณะที่แกนนำบางรายอ้างว่า “ทักษิณ” ไม่ได้ให้ความสำคัญกับ “เจ๊หน่อย”แล้ว ประการที่ 5 คือข่าวการปรับครม. ภายหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ที่อาจมีการล้างไพ่ใหม่ โดยปรับเอาพรรคประชาธิปัตย์ออกจากการร่วมรัฐบาล แล้วนำพรรคเพื่อไทยเข้ามาเสียบแทน จากท่าทีเกี้ยเซียะของพรรคเพื่อไทยกับรัฐบาล อีกทั้งปัญหาเรื่องของการตรวจสอบกรณี เสียบบัตรแทนกัน ของ นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ที่ทำตัวเป็น “ฝ้ายแค้น” ในรัฐบาลนั้น วงในพรรคพลังประชารัฐปักใจว่ามีผู้ใหญ่อยู่เบื้องหลัง สนับสนุน ให้“นิพิฏฐ์” ดับเครื่องชน เพื่อหวังผลให้เกิดปัญหาและตัดสินใจยุบสภา เพื่อล้างตาการเลือกตั้งในพื้นที่ภาคใต้ ขณะที่มีรายงานการพบกันของการพบกันระหว่างกลุ่ม 16 ในพรรคพลังประชารัฐ กับพรรคเพื่อไทยหลายครั้ง นั่นจึงทำให้กลุ่มสามมิตร ในพรรคพลังประชารัฐ ที่มี 3 ส. สมศักดิ์ เทพสุทิน สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจและสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อยู่เฉยไมได้ ต้องออกมาเคลื่อนไหวนัดหารือที่โรงแรมสุโกศล อย่างไรก็ดี เมื่อภาพรวมของมหรสพการเมืองออกมาเป็นเช่นนี้ จึงคาดหวังความขึงขังเข้มข้นที่จะเกิดขึ้นในการอภิปรายไว่ไว้วางใจได้ยากยิ่ง หากเป็นแค่ลิเกที่เล่นบทตบจูบกันไปมาไม่ได้เล่นจริงเจ็บจริง ขณะเดียวกัน หากมีปัจจัยแทรกซ้อน ที่น่าจับตาคือ ศาลรัฐธรรมนูญนัดอ่านคำวินิจฉัยคดียุบพรรคอนาคตใหม่ จากปม “ธนาธร”ให้เงินกู้กับพรรคในวันศุกร์ที่ 21 กุมภาพันธ์นี้ หากผลออกมาเป็นในทางลบพรรคอนาคตใหม่ก็จะมีอันถูกย่อยสลายไป และก็ต้องวุ่นวายกับการหาพรรคใหม่ ยิ่งส.ส.บัญชีรายชื่อที่ควบตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคก็จะหมดสิทธิในการเข้าร่วมศึกซักฟอกที่จะเกิดขึ้นในระหว่างวันที่ 24 -26 กุมภาพันธ์นี้ หรือแม้แต่หากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะออกมาเป็นบวกกับพรรคอนาคตใหม่ การรับศึกหลายด้านย่อมทำลายสมาธิ ฉะนั้นสถานการณ์เดินมาถึงจุดนี้ ก็แทบไม่มีอะไรให้ “บิ๊กตู่”และ 5 รัฐมนตรีต้องให้ราคาเลย