ปากกาขนนก / สกุล บุณยทัต บทรำลึกถึงชีวิตและการจากไปของกวีหนุ่ม... “มูหัมหมัด ฮาริส กาเหย็ม” “ในทุกความฝันได้ตกผลึกบนแก่นความจริง...ปล่อยความจริงให้ได้โลดแล่นเถิด” “หลายๆขณะความเป็นชีวิตมักจะถูกดูดกลืนอย่างมืดมนและไร้เหตุผลอันสมควรสู่โลกเฉพาะแห่งความสับสนซับซ้อนที่เวิ้งว้างกว้างใหญ่ เป็นจุดบรรจบแห่งมโนสำนึกที่พวยพุ่งขึ้นมาด้วยพลังแห่งความบีบคั้นของเจตจำนง และ ณ ที่ที่ต้องว่ายวนด้วยเหตุผลแห่งการถูกดูดกลืนนั้น...ก็ช่างเต็มไปด้วยปรากฏการณ์และปฏิกิริยาของรูปรอยที่คล้ายดั่งเงาซึ่งหาที่มาที่ไปแห่งต้นกำเนิดของลำแสงอันเป็นความหมายแห่งความหมายไม่ได้....แน่นอนว่า...มันอาจอยู่ในหลืบลึกของความรู้สึกที่อยู่เหนือเงื่อนไขของความจริง หรือจมปลักอยู่กับแก่นแกนอันลึกล้ำของจินตนาการที่ยากจะตีความและสร้างนัยแห่งการรับรู้ต่อโลกอันเป็นสามัญ...ทั้งหมดทั้งสิ้นนั้นดูคล้ายดั่งผลึกของสัญชาตญาณที่เหมือนจักรอคอยกาลเวลาที่จะประกาศสัจจะแห่งความเป็นตัวตนของตนออกมาสู่การบรรลุถึงภาพแสดงของความนึกคิดที่สื่อเนื้อแท้ในการเป็นรากเหง้าแห่งความเป็นสัจจะ ของโลกและชีวิตออกมา แม้ทุกสิ่งจะหมุนวนเคลื่อนไหวอย่างไม่รู้จักจบสิ้น แต่การค้นพบคำตอบของใครคนหนึ่งในฐานะมนุษย์ บนบริบทที่เปรียบดั่งการลอยล่องอยู่บนทะเลต้องมรสุมนี้ กลับมีคุณค่าและเป็นแบบแผนของการเรียนรู้ที่หลอมรวม..จนเป็นหนึ่งเดียวกับหัวใจ” นี่คือภาพรวมแห่งสัญญะอันน่าใคร่ครวญที่สื่อออกมาด้วยภาษาทางความรู้สึก...ผ่านมิติทางนามธรรมอันชวนตีความจากกวีนิพนธ์ร่วม 50บทของกวีหนุ่ม “มูหัมหมัด ฮาริส กาเหย็ม”... “ในท้องปลาวาฬ” ...ซึ่งเต็มไปด้วยแง่มุมอันชวนขบคิดผ่านโครงสร้างที่ปริร้าว และเต็มไปด้วยปริศนาที่หม่นมืดของยุคสมัย..ประหนึ่งการหลงทางในวังวนที่ซ้อนอยู่ในวังวน... “ปราศจากทางออกและวิถีแห่งความคลี่คลาย” ทั้งนี้ทั้งนั้น...ก็ขึ้นอยู่กับว่าผู้คนในสังคมจะให้โอกาสตัวเองที่จะสดับตรับฟัง...ยินยลและรู้สึกถึงความพลิกผันต่างๆนานาที่เกิดขึ้นอย่างซ้ำแล้วซ้ำเล่าโดยไม่รู้จบหรือไม่? “ฟังสิฟัง,สะท้อนเสียงเคาะไม้เท้าสะเทือนผนัง/ในเรือนจำมืดมิดแห่งโถงท้องปลาวาฬ/เกินเขตมณฑลใดแลน่าพิศวงยิ่ง/ใครดุ่มเดินจักเคาะไม้เท้าคลำทางไปชั่วกาล/ฉัน,พลัดหลงมา ถามไม้เท้าหาแสงสว่าง/ราวกับใกล้แค่ปลายนิ้ว..แต่....” บทกวี “หลงทางในท้องปลาวาฬ” บทนี้ ได้นำเสนอประเด็นของข้อขบคิดแห่งความเพียรพยายามในการหาทางออก...ด้วยนัยแห่งตัวตนที่ย่อมแลเห็นความเป็นตัวตน แม้บางครั้งจะตกอยู่กับสภาวะของความพร่ามัว...แต่ก็ยังพอที่จะอาศัยบางสิ่งบางอย่างที่ศรัทธายึดพยุงให้ชีวิตมีโอกาสก้าวไปหาความเข้าใจอันเป็นหนทางออกที่บีบแคบนั้นได้ นี่คืออุบัติการณ์แห่งการค้นพบภาพเงาแห่งความเคลือบแคลงที่ถือเป็นบทเริ่มต้น “ทางออกถูกหลอมรวมไว้ห่างไกลอีกก้าว/เพื่อความหวังใหม่อื่น จำต้องเริ่มต้นอีกทุกคราวครั้ง/คืบคลานเหมือนทาก...ไล่กวดกาลเวลา/ฟังสิฟัง,เสียงหยดน้ำร่ำไห้เดือดระเหยยามตกต้องพื้น/โอ้มวลมนุษย์เอย...เราถูกเฉือนชิ้นส่วน ยิ่งนิดน้อยราวถ่านไหม้/ร้อนรนลุกโชนแตกสลาย เหยื่อใต้กองเพลิง/หลุมศพหยุดถามหาเจ้าของแล้ว กลับมาแล้ว:อ้า..กลับมาแล้วคืนดิน” เราอาจตอบคำถามได้ไม่เต็มปากเต็มคำนักกับสถานการณ์ที่มืดมน ภายใต้ความหลังความเลวที่วกวน...ข้อประจักษ์แม้เพียงน้อยนิดอาจเป็นช่องทางของการหายใจที่ล้ำค่า...อย่างไรก็ดี เราอาจหลงทางกันอีกต่อไป แต่เราก็ได้สามารถสัมผัสรู้ถึงสายธารแห่งจิตวิญญาณ จับต้องและแนบสนิทกับมันอย่างนั้น.. “หนอสายลมจะพัดพาวิญญาณเราสู่แห่งใด/พัดหลงคนละทิศคนละฟ้าคนละน่านน้ำ/บัดนี้,ยังหลงทางในท้องปลาวาฬ/อาจเป็นไปได้ว่า..เราทุกคนต่างเริ่มต้นเกิดมาด้วยความไม่รู้...เหตุนี้เราจึงไม่แน่ใจในสถานะและบทบาทของตัวเอง...จนกระทั่งขลาดกลัวที่จะกล้าเรียกขานนามอันแท้จริง ซึ่งบริสุทธิ์ของชีวิต “หน้าที่ของผู้ไม่รู้” จึงต้องเกิดขึ้นทั้งในโลกธรรมและศาสนธรรม ทั้งสองส่วนนี้จะนำพาชีวิตไปสู่มรรคาแห่งการปฏิบัติได้ ไม่ว่าจะเป็นเบื้องต้นแห่งการหาเลี้ยงชีพหรือการรับรู้เพื่อน้อมคำนับต่อบุคคลหรือสิ่งอันเป็นบุญคุณ...ไม่ว่า ณ ขณะจิตนั้นๆเราจะดำรงอยู่ด้วยกายร่างของสิ่งใดๆก็ตาม บทกวี”อย่าเรียกฉันยามนี้”ฟังดูเศร้าโศกและสับสน...กระทั่งยอมรับในชะตากรรม...ความจริงก็คือว่า...ด้วยสิ่งเล็กๆ มันสามารถทิ่มตำและขัดขวางการเคลื่อนไหวสู่ความบรรลุทางจิตวิญญาณได้ และเราทุกคนก็มักที่จะยอมตกเป็นผู้พ่ายแพ้เกินกว่าจะก้าวย่างผ่านข้ามไป...ชีวิตในห้วงขณะแห่งการแสวงหามักจะเผชิญหน้าอยู่กับความท้าทายที่จะคอยเข่นฆ่าความมั่นใจของเราอยู่เหมือนเช่นนี้ เป็นภาวะที่ยิ่งใหญ่ของการมองเห็นคุณค่าแห่งพลังของการปลดปล่อย...เราอาจต้องยอมรับการเปล่าเปลือยของความขลาดกลัวของตัวเราเองในยามหนึ่งแล้วแปรค่าของมันให้คืนกลับมาสู่เส้นทางที่เป็นความหวังของชีวิตกันอีกครั้ง...นั่นคือเงื่อนไขของการเปรียบเทียบที่มีค่า.. “ก้อนหินเคร่งขรึมเกินไป:ไป!ไปให้พ้นหน้าต่างของฉัน/ขว้างให้พ้นเหมือนราตรีขว้างดาวหางวูบแสงแต่อันตรธาน สาระใดๆให้มันมลาย!/ฉันแตกกระจายเยี่ยงเขากวางเอื้อมเกี่ยวจันทรา/ไม้กวาดของแมกไม้กวาดสายลมไม่แยแส/อย่างยาวนานให้โลกเหมือนย้อนคืนป่าเปลี่ยว/เปล่าเปลือยไปในรัตติกาล” “มูหัมหมัดฮาริส” สร้างสรรค์บทกวีของเขาด้วยนัยของการเปรียบเทียบจากภาษาของความรู้สึก ที่หลั่งไหลออกมากจากด้านในผ่านโครงข่ายของความคิดที่สะท้อนบอกออกมา ในกลไกของภาพแสดงที่สั่นไหว...ด้านในของเขาดูเหมือนจะมีประจุแห่งความรุนแรงแฝงอยู่ ในคราบแห่งความสูญสิ้นจิตสำนึก...และนั่นอาจถือได้ว่ามันคือแก่นแกนของหัวใจในการร่ายเรียงและขีดเขียนบทกวีทั้งหมดของเขาด้วยท่าทีและท่วงทำนองอันเป็นลักษณะที่ถูกขีดวงเอาไว้เช่นนี้ “ข้าโผล่หน้าจากรอยแตกระแหงแห่งดินแดนสีเหลือง/และพระอาทิตย์กำลังเคี้ยวภูเขาสีเขียว/โอ้...ไม้แขวนเปลวเพลิงร้อนแผด/ใกล้อีกก้าว...จิตวิญญาณอาจละลายดับสูญ/คมร้อน...ฉีกตัดเสื้อผ้า เป็นจุณกระจาย/ร่างพลันนุ่งหม่นเพลิงแดง เผาไม้ทุกเปลือกหุ้ม/ถ่านโรยถมเป็นภูเขาสีเทา.../วูบเดียวเท่านั้น...วับหาย...” บทกวี “บนไม้แขวนเปลวเพลิง” บทนี้นำเสนอ ความเปรียบที่แปลกต่างแต่โดดเด่นไปด้วยนัยที่แฝงอยู่กับความมืดมนของ ป่าเมืองที่อัดแน่นไปด้วยหมู่ตึกที่เป็นประหนึ่งโลงศพที่ถูกปิดบังฝาโลง ปกคลุมใบหน้าของโลกอันงดงามแห่งแสงฉายของธรรมชาติและชีวิตอันเป็นอาภรณ์ที่เต็มไปด้วยสีสันของความหมาย...ที่กลับกลายหายสิ้น ขณะถูกแขวนอยู่บนไม้แขวนที่ถูกรุกรานจากอวิชชาของยุคสมัย บางทีนี่อาจเป็นความระทดท้ออย่างถึงที่สุดของมนุษย์ เมื่อฉากแสดงแห่งการมีชีวิตอยู่ของพวกเขา ต้องถูกทำลายจิตสำนึกลงโดยอำนาจบางสิ่งบางอย่างที่ไร้สำนึก กระทั่งเสียงเรียกขานเพื่อขอชีวิต ก็ต้องสยบยอมกับความเป็นดั่งนี้ “ล่องไปเถอะเถ้าถ่าน...ข้าไม่เหนี่ยวรั้ง/ที่คงเหลือทานทนบนไม้แขวนเปลวเพลิง/ใช่!คือบทกวีของข้า.../ แขวนเดียวดายปะทะสายลมร้อนแล้ง/กวัดไกวลุกโชน มีชีวิตชีวานิรันดร์...” ดูเหมือนว่า “มูหัมหมัดฮาริส” จะเน้นย้ำถึงโลกอันเป็นเสรีที่จิตวิญญาณกลับถูกทำลายลงด้วยบริบทแห่งยุคสมัยของความหยาบกระด้าง...ตัวแทนแห่งธรรมชาติอันเป็นเสรีสิ่งแล้วสิ่งเล่าถูกตอกตรึงด้วยความเชื่ออันเป็นอคติ ถูกประหัตประหารด้วยศัตรูผู้คุกคามให้ความโลดแล่นของหัวใจต้องเงียบนิ่งหวั่นกลัว และขาดวิ่นในความมั่นใจ..แม้แต่ในความเป็นบทกวี “หัวจิตหัวใจหยาบกระด้างเสียนี่กระไร/เรียวปีกของเจ้าจึงเป็นอื่น,อย่าร้องไห้เลยเจ้าผีเสื้อเอย/ “จวงจื้อฝันเป็นผีเสื้อ หรือผีเสื้อฝันว่าเป็นจวงจื้อกันแน่” /ในรองเท้าฟางคู่นั้นหมอกจริงฝันมิรู้สิ้น/มาแต่บรรพกาล ถักทอเส้นทางไปเบื้องหน้า/เกวียนของข้าหนักเพียบ ม้าของข้าอิดโรย/แส้แห่งคำถามก็หวดโบยลงบาดแผลโง่เขลา/” บทกวี “ผีเสื้อแห่งรูปสลักหิน” บทนี้นับว่าสวยงามและมีนัยของการบอกกล่าวถึงความกลมกลืนกับธรรมชาติที่ถูกโบยตี ขณะที่พาหะแห่งการนำพาชีวิตไปสู่จุดหมายอันหมายถึงรากลึกทางจิตวิญญาณ...เหมือนจะอ่อนล้าและถูกโค่นล้ม...การกล่าวอ้างถึงคำถามของจวงจื้อ...นับเป็นเป้าหมายของการรับรู้บนพื้นฐานของความเข้าใจที่ย่อมต้องสอดคล้องกับธรรมชาติอย่างจริงใจ...แต่ ณ วันนี้สิ่งอันเป็นความหมายดังกล่าวได้กลับกลายเป็นดั่งบาดแผลของความโง่เง่าที่ปรากฏอยู่บนพื้นฐานของการมีชีวิตอยู่ร่วมกัน...เราไม่อาจมีชีวิตที่เป็นเสรีและเรียบง่าย...ไม่อาจมุ่งหาความสงบสงัด...ไม่อาจเฉียดใกล้การค้นหาความจริงภายในตนเอง แม้จะเชื่อกันสักเพียงใดว่า..ชีวิตของคนเราแต่ละคนเป็นไปต่างอะไรกับความฝัน....ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นย่อมจะผ่านไป ไม่มีสิ่งใดเกิดขึ้นและดำรงอยู่เป็นจีรัง “อีกแล้ว,แสนฉงนที่เราไขว่คว้าทุกก้าวย่าง/สรรพสิ่งกรีดร้องในใจข้า/ปลดพ้นวิญญาณจากรูปสลักหิน/ผีเสื้อคือผีเสื้อ,โบยบิน/” ความเข้าใจตรงส่วนนี้ตอกย้ำให้ได้รู้ซึ้งว่า ทุกสิ่งไม่มีแก่นสารที่แท้จริง แม้ขณะที่เกิดขึ้นจะดูว่าจริงสักเพียงใด...แต่ภายใต้เงื่อนไขของความเป็นชีวิต เราต้องรู้ทันความจริง นั่นหมายถึงว่า ถึงอย่างไรรูปสลักของหินก้อนหนึ่ง...แท้จริงมันเป็นเพียงรูปรอยสำนึกที่เกิดจากหินก้อนนั้น ราวกับฝันที่มลายหายไปเมื่อคืนจากการนอนหลับฝัน ภาวะแห่งความรู้ตื่นนี้ช่างเจ็บปวดและขมขื่น เมื่อต้องแลกมา ด้วยแส้แห่งคำถามที่หวดโบยลงบนบาดแผลที่โง่เขลาอยู่ซ้ำๆ “อุทยานแห่งข้าล้อมก่อกำแพง เขาก็เช่นเดียวกัน/สีผีเสื้อหยุดหน่วงต้นกุหลาบโอนเอน/สีแดงแผ่ซ่านในก้านกุหลาบลึกเร้น/หรือสีเลือดของจวงจื้อกันแน่/อีกแล้ว,แส้แห่งคำถามก็หวดโบยตีลงบนบาดแผลโง่เขลา” การแสดงนัยทางปัญญาผ่านบทกวีชุดนี้ในแต่ละบทได้ส่งผ่านกระแสแห่งการรับรู้ผ่านเงื่อนไขในใจเฉพาะของกวี..ที่ทั้งเล่นกับชะตากรรมและทุกขเวทนาแห่งการไร้ทางออกแห่งตน...มีอยู่หลายครั้งหลาบหนที่ท่าทีและน้ำเสียงของกวีดูอ่อนล้า...แผ่วเบาเหมือนจะแพ้แต่ก็พยายามผลักดันตนเองให้มาสู่หนทางที่ไม่พ่ายแพ้ การอยู่คาบเกี่ยวกับสถานการณ์เช่นนี้ ทำให้มิติเปรียบเทียบในเชิงบทกวีของ “มูหัมหมัดฮารีส” ถูกถ่ายทอดออกมาด้วยอารมณ์ร่วมที่เปี่ยมเต็มไปด้วยภาพพจน์ ดั่งบทกวี”ปัญญาของเม่น”บทนี้ “เม่น,ที่ลำคอผอมโซของฉัน/เดินอุ้ยอ้ายลากขน/กรีดวงกลมขบคิด/หาหนทางกลับป่า,อาหารและร่าเริง/เม่นหัวโตขึ้น-ขนแหลมขึ้น/แต่แขวนสร้อยคอแห่งบาดแผล/คราบเลือดหนักอึ้งแน่นหนายิ่งกว่าโซ่รัด/เลือดสดหยดเข่า และโซเซยิ่งกว่าค้อนทุบ//ฉันอยากนอนหลับสักงีบ/น่าเศร้ายังมีแรงฝันร้าย/ฉันกลายเป็นเม่นประหลาดเสียแล้ว/ปลายขนงอกเข้าด้านใน” ที่สุดเราก็รู้ได้ว่า เราต่างมีเพลงฝันร้ายของความฝันติดแน่นอยู่ในหัวใจของกันและกัน และรอยบาดเจ็บของสิ่งที่เลวร้ายเกาะกุมและยึดครองชีวิตของเราจากภายนอก...เหตุนี้เองที่ทำลายอัตลักษณ์ของเราจนสิ้นท่า มันทิ่มแทงคว้านลึกเข้าสู่หุบโพรงแห่งความหวัง ดูดกลืนสิ่งอันชั่วร้ายเข้าไปกักเก็บเอาไว้ในเบื้องลึกแห่งนิยามของความเป็นตัวเอง....เราต้องค่อยๆเรียนรู้ ย่อยสลายการค้นพบก้นบึ้งของการรับรู้เพื่อนำมาเป็นอาหารเพื่อชุบชูชีวิตอย่างเข้าใจด้วยมโนสำนึกที่แท้... “ในท้องปลาวาฬ”ถือเป็นรวมบทกวีร้อยแก้ว(PROSE)ที่หยั่งลึก งดงาม และมีพลัง/ฝีมือและรูปรอยแห่งการสะท้อนความคิดแห่งชีวิตของผู้เป็นกวีถือว่ามาจากหลืบลึกของมโนสำนึก..ที่ผสานไปด้วยทั้งความเป็นตัวตนที่สับสนวกวน และความไร้รูปรอยของจิตสำนึกอันพร่ามัว/แต่กลับถูกถ่ายทอดออกมาด้วยอาการกู่ตะโกนภายในและการพิเคราะห์ในภาวการณ์ต่างๆด้วยสัญญะแห่งสัญชาตญาณทางความรู้สึกที่จริงจังและจริงใจในทุกๆบทตอน...เปรียบดั่งกระแสธารแห่งพายุสำนึกที่พัดโหมเข้าใส่เหยื่อแห่งชะตากรรมที่ไม่รู้ตัว..อันถือเป็นบทเรียนแห่งการเพ่งพินิจทางวรรณกรรมที่มีคุณค่าในรสชาติแห่งความเป็นผัสสะยิ่ง... “ชีวิตและการจากไป”ของมูหัมหมัด ฮาริส กาเหย็ม”เมื่อไม่มีกี่วันที่ผ่านมาจึ่งเปรียบได้ดั่งสัญญะที่หยั่งลึกหนึ่งของนัยแห่งกวีนิพนธ์ในนามของลมหายใจที่ลาจากด้วยบทจบแห่งความคิดคำนึง..ที่ทั้งนบน้อมและยกย่องเชิดชูระคนกัน “ในทุกความฝันได้ตกผลึกบนแก่นความจริง...ปล่อยความจริงให้ได้โลดแล่นเถิด”