กระทรวงเกษตรฯ เอาใจคนรักสุขภาพ ยกทัพสินค้าเกษตรปลอดภัยมาตรฐานจีเอพี (GAP) และมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ หรือออร์แกนิก จากผู้ผลิตตัวจริงเสียงจริง หนุนคนไทยบริโภคอาหารปลอดภัย พร้อมกระตุ้นเกษตรกรผลิตสินค้าได้มาตรฐานตามความต้องการตลาดโลก ตั้งเป้าเพิ่มพื้นที่เกษตรอินทรีย์ ลดการใช้สารเคมี สนองนโยบายปีแห่งการยกระดับมาตรฐานการเกษตรสู่ความยั่งยืน วันนี้ (7 เมษายน 2560) นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดงานมหกรรม “เกษตรปลอดภัย นำไทย สู่ความยั่งยืน” เพื่อประกาศนโยบายปีแห่งการยกระดับมาตรฐานการเกษตรสู่ความยั่งยืน รวมทั้งเผยแพร่ความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับเกษตรปลอดภัยและเกษตรอินทรีย์ควบคู่ไปกับการจำหน่ายสินค้าเกษตรปลอดภัยที่ได้คุณภาพมาตรฐาน GAP และมาตรฐานอินทรีย์ (Organic) รวมทั้งผลิตภัณฑ์แปรรูปหลากหลายและสินค้าเกษตรนวัตกรรม กว่า 130 บูธ ณ รอยัลพารากอน ฮอลล์ 3 ชั้น 5 ศูนย์การค้าสยามพารากอน กรุงเทพมหานคร นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า โลกยุคใหม่ในปัจจุบันผู้คนใส่ใจสุขภาพ มีความต้องการและคัดสรรสินค้าเกษตรและอาหารคุณภาพดี มีมาตรฐาน เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งสินค้าเกษตรอินทรีย์ เป็นสินค้ามาตรฐานประเภทหนึ่งซึ่งผู้รักสุขภาพและคนทั่วไปให้ความสนใจ ประกอบกับการซื้อขายสินค้า ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ มีกฎระเบียบ ข้อกำหนดด้านมาตรฐานที่เข้มงวดมากขึ้น จำเป็นที่เกษตรกรผู้ผลิตในยุคปัจจุบันจะต้องปรับตัวให้เข้ากับกระแสโลกยุคใหม่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายภายในประเทศหรือเพื่อส่งออกก็ตาม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้มอบหมายให้สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ร่วมกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดงานมหกรรม “เกษตรปลอดภัย นำไทย สู่ความยั่งยืน” ระหว่างวันที่ 6-9 เมษายน 2560 นี้ ณ รอยัลพารากอน ฮอลล์ 3 ชั้น 5 ศูนย์การค้าสยามพารากอน เพื่อประกาศปีแห่งการยกระดับมาตรฐานการเกษตรสู่ความยั่งยืนให้เป็นที่รับทราบในวงกว้าง ตลอดจนสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของการผลิตและการบริโภคสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพมาตรฐาน รวมทั้งโชว์ศักยภาพมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารของไทยให้เป็นที่รู้จักและยอมรับทั้งในและต่างประเทศอย่างกว้างขวาง และเร่งให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องและให้รับรู้ถึงความแตกต่างระหว่างสินค้าเกษตรปลอดภัย หรือสินค้าซึ่งได้มาตรฐาน GAP กับเกษตรอินทรีย์ หรือ ออร์แกนิก ที่สำคัญต้องการให้เวทีดังกล่าวนี้ เพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้าให้เกษตรกรและประชาสัมพันธ์เรื่องมาตรฐานสินค้าเกษตรให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางมากยิ่งขึ้น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า สำหรับยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนเพื่อเข้าสู่ปีแห่งการยกระดับมาตรฐานการเกษตรสู่ความยั่งยืนหลักๆ นั้น ประกอบด้วย 1.ยุทธศาสตร์เกษตรอินทรีย์ โดยการเพิ่มพื้นที่เกษตรอินทรีย์เป็น 6 แสนไร่หรือสูงสุด 1 ล้านไร่ และเพิ่มเกษตรกรทำเกษตรอินทรีย์ 30,000 ราย ปี 2564 หรือภายใน 5 ปี 2.ยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนการจัดการสารเคมีเกษตร มุ่งลดการใช้สารเคมี 10 % ภายใน 5 ปี การตรวจพบสารเคมีตกค้างเกินมาตรฐานต้องลดลงจากปัจจุบัน 10 % ของจำนวนตัวอย่างที่ตรวจ ภายใน 5 ปี 3.การยกระดับมาตรฐานเกษตรแปลงใหญ่ เพื่อให้แปลงใหญ่ทุกแปลงยกระดับเข้าสู่มาตรฐานจีเอพี โดยในปี 2560 นี้ มีเป้าหมายเกษตรกรในแปลงใหญ่ได้รับการรับรอง GAP ไม่น้อยกว่า 25 % ของเกษตรกรแปลงใหญ่ทั้งหมด 4.การสร้างความตระหนัก/รับรู้ที่ถูกต้องเรื่องเกษตรปลอดภัย/เกษตรอินทรีย์แก่ทุกภาคส่วนผู้ผลิต ผู้บริโภคมีความเข้าใจที่ถูกต้องเพิ่มมากขึ้น และ5.การบูรณาการร่วมกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อยกระดับมาตรฐานครบวงจร เพื่อให้มีตลาดรองรับสินค้ามาตรฐานอย่างกว้างขวาง ทั้งตลาดชั่วคราวและตลาดถาวร โดยร่วมมือกับกระทรวงอื่นๆ เช่น การจัดงานสินค้ามาตรฐาน รวมทั้งจัดหาตลาดกับกระทรวงพาณิชย์ การให้ข้อมูลแหล่งผลิตสินค้ามาตรฐานให้กับโรงพยาบาลหรือการนำไปเชื่อมโยงกับแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นต้นและเน้นสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้ามาตรฐานด้วยการสนับสนุนการต่อยอดการแปรรูป การสร้างอัตลักษณ์ และคุณค่าโภชนาการ รวมทั้งการใช้นวัตกรรมต่างๆ เพื่อปรับเปลี่ยนเป็นสินค้านวัตกรรมใหม่ๆ ในตลาด เช่น การใช้ระบบ QR Trace เพื่อตรวจสอบย้อนกลับแหล่งผลิตสินค้า ตลอดจนเชื่อมโยงกับการค้าออนไลน์ด้วย “ที่ผ่านมากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้ความสำคัญในเรื่องการผลิตสินค้าเกษตรและอาหารปลอดภัยมาโดยตลอด ปีที่แล้วดำเนินการตามนโยบาย เน้นการลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มโอกาสในการแข่งขัน ส่วนด้านการผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัย มีเกษตรกรเข้าสู่ระบบการผลิตได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP 247,000 ราย ครอบคลุม พืช สัตว์ และประมง ส่วนเกษตรอินทรีย์ มีเกษตรกรที่ได้รับการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์เกือบ 10,000 ราย นอกจากนี้ ยังมีโรงงานหรือสถานประกอบการที่ผ่านการรับรองมาตรฐานจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เช่น GMP/ HACCP ไม่ต่ำกว่า 2,200 แห่ง ซึ่งยังมีอีกจำนวนมากที่ผ่านการรับรองมาตรฐานจากหน่วยรับรองอื่นๆ นอกเหนือจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์” นางสาวชุติมา กล่าวว่า นางสาวชุติมา กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังมีการสร้างความเชื่อมั่นในสินค้าเกษตรปลอดภัย โดยดำเนินมาตรการตรวจการใช้สารเคมี ที่ไม่ปลอดภัยอย่างเข้มข้น จริงจัง และต่อเนื่องตลอดปี และในเดือนเมษายนนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยังได้กิจกรรม “สัปดาห์แห่งการเข้มงวดกวดขันอาหารไม่ปลอดภัย” ในช่วงวันที่ 1–7 เมษายน นี้ รณรงค์ตรวจเข้มอาหารไม่ปลอดภัย เนื่องจากเป็นช่วงก่อนเทศกาลสงกรานต์ ประชาชนจับจ่ายใช้สอยซื้อสินค้าเกษตรและอาหารกันมาก เพื่อให้มั่นใจว่าประชาชนจะได้บริโภคอาหารที่ปลอดภัยในช่วงสงกรานต์อีกด้วย "เรื่องมาตรฐานเป็นสิ่งสำคัญที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นสินค้าเกษตรและอาหาร หรือสินค้าอุตสาหกรรม เนื่องจากความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนไป สินค้าที่มีความแตกต่าง มีเอกลักษณ์ จึงจะสามารถสร้างตลาดถาวรและยั่งยืนได้ เราจะเห็นตัวอย่างมากมายของสินค้าเกษตรและอาหารที่มีการต่อยอด ยกระดับมาตรฐาน แปรรูป ออกแบบผลิตภัณฑ์ที่มีเอกลักษณ์เรื่องราวเฉพาะ สามารถขายได้ในราคาสูง เป็นสินค้าพรีเมี่ยม แม้ในขณะที่สินค้าเกษตรทั่วไป อาจประสบปัญหาราคาตกต่ำอยู่ก็ตาม ดังนั้น จึงเชิญชวนพี่น้องเกษตรกรและผู้ประกอบการด้านการเกษตรให้ยกระดับการผลิตเข้าสู่มาตรฐาน โดยขอคำแนะนำได้ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขณะเดียวกันขอให้ผู้บริโภคซึ่งเป็นกลไกในการขับเคลื่อนที่สำคัญในการผลักดันให้เกิดการผลิตสินค้ามาตรฐาน ให้การสนับสนุนสินค้าคุณภาพมาตรฐาน ทั้งเกษตรปลอดภัยและเกษตรอินทรีย์ เพื่อให้เกิดการผลิตและบริโภคสินค้าเกษตรและอาหารมาตรฐานครบวงจร สามารถขับเคลื่อนการยกระดับมาตรฐานการเกษตรไปสู่ความยั่งยืนได้อย่างแท้จริง"รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าว นางสาวชุติมา กล่าวอีกว่า การจัดงานมหกรรม “เกษตรปลอดภัย นำไทย สู่ความยั่งยืน” ในครั้งนี้ เป็นเพียงจุดเริ่มต้นในการสร้างกระแสตื่นตัวเรื่องมาตรฐานเกษตรปลอดภัยให้กับผู้ผลิตและผู้บริโภคในวงกว้าง หลังจากนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนการยกระดับการผลิตและการตลาดสินค้าเกษตรมาตรฐาน เช่น การจัดงานแสดงสินค้าในงาน Organic Expo ร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ งาน OTOP ของกระทรวงมหาดไทย การนำสินค้าเกษตรปลอดภัยและเกษตรอินทรีย์ไปจำหน่ายในแหล่งตลาดรับซื้อของกระทรวงต่างๆ อาทิ Farm Outlet ประจำจังหวัด ของกระทรวงพาณิชย์ โรงพยาบาลอาหารปลอดภัย ของกระทรวงสาธารณสุข เป็นต้น