คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน ร่วมกับ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา จัดโครงการแข่งขันธุรกิจเพื่อสังคม ครั้งที่ 3 “โคราชเมืองที่คุณสร้างได้” ณ ห้องประชุมตะโกราย 3 ชั้น 4 อาคาร 35 มทร.อีสาน นครราชสีมา โดยได้รับเกียรติจาก นางปิยะฉัตร อินสว่าง รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานเปิดโครงการ มี รศ.ดร.พิพัฒน์ อมตฉายา รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ มทร.อีสาน เป็นผู้แทนอธิการบดี มทร.อีสาน  กล่าวรายงาน ซึ่งจัดขึ้นเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้นักศึกษาได้มีการศึกษาเรียนรู้นอกห้องเรียนเพื่อพัฒนาความรู้ ทักษะ ความคิด ในการร่วมกิจกรรมการแข่งขันตอบปัญหาเกี่ยวกับธุรกิจเพื่อสังคมในการพัฒนาท้องถิ่นไทย การแข่งขันการผลิตสื่อ “หัวข้อ โคราชเมืองที่คุณสร้างได้” การแข่งขันการเขียนแผนธุรกิจ “หัวข้อ โคราชเมืองที่คุณสร้างได้” การแข่งขันการกล่าวสุนทรพจน์ (ภาษาอังกฤษ) หัวข้อ Social Enterprise for Thailand’s Development ผศ.ดร.วิโรจน์ ลิ้มไขแสง อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน กล่าวว่า มทร.อีสาน มุ่งสร้างบัณฑิตนักปฏิบัติ ผ่านการเรียนรู้จากการปฏิบัติงานจริง และสามารถใช้ศักยภาพของนักศึกษาได้เต็มรูปแบบ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพนักศึกษาให้เป็นบัณฑิตที่ดีในอนาคต ผ่านโครงการแข่งขันธุรกิจเพื่อสังคม ครั้งที่ 3 “โคราชเมืองที่คุณสร้างได้” ซึ่งผลการสำรวจความคิดเห็นผู้ที่อาศัยอยู่ใน จ.นครราชสีมา 962 คน ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง 62% อายุ 21-30 ปี 34% และ 41-50 ปี 27% แบ่งเป็น 5 กลุ่มอาชีพ ได้แก่ เกษตรกร/รับจ้างทั่วไป กลุ่มสถาบันการศึกษา องค์กรรัฐบาล องค์กรเอกชน และกลุ่มผู้ประกอบการ คิดเป็นสัดส่วน 31% 29% 15% 15% และ 9% ตามลำดับช่วงรายได้ระหว่าง 10,001-30,000 บาท 36% พบการสำรวจทัศนคติต่อการพัฒนาเมืองโคราชพบว่า 3 สิ่งแรกเมื่อนึกถึงโคราช ได้แก่ อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี 72% เขาใหญ่/สถานที่ท่องเที่ยวธรรมชาติ 17.5% และผัดหมี่โคราช/อาหารอีสาน 15% สำหรับมุมมองปัญหาเมืองโคราชในปัจจุบันพบว่า ปัญหาแรกคือการจัดการจราจรในเขตเมือง 32.6% รองลงมาคือปัญหาการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 18.9% และการขนส่งสาธารณะไม่ดึงดูดให้คนมาใช้บริการ 14.8% โดยชาวโคราชต้องการให้ดำเนินโครงการเพิ่มโครงข่ายขนส่งสาธารณะรถไฟฟ้ารางเบาLRTเป็นโครงการแรก 18.2% รองลงมาคือ โครงการพัฒนาพื้นที่สาธารณะเชิงสุขภาพ 16.4% และโครงการพัฒนาพื้นที่สีเขียวและเชิงพาณิชย์ 16.4% ตามลำดับ นอกจากนี้ สำหรับทัศนคติที่อยากเห็นเมืองโคราชเป็นแบบใดในอนาคตพบว่า อยากให้เมืองโคราชเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมGreen City 19.2% รองลงมาคือ เป็นเมืองแห่งเกษตรสมัยใหม่ 13.8% เป็นเมืองแห่งสังคมการขับเคลื่อนเทคโนโลยี 13.7% และเป็นเมืองศูนย์กลางโครงข่ายการคมนาคมขนส่งแห่งภาคอีสาน 13% ตามลำดับ ผศ.ดร.วิโรจน์ กล่าวทิ้งท้าย