สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง หนุนเปิดสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนไทย ภาคตะวันออก จับมือขยายตลาดผลผลิตทุเรียน ปี 63 ทั้งในและต่างประเทศ นายดำรงฤทธิ์ หลอดคำ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 (สกก.3) จังหวัดระยอง เปิดเผยระหว่างการร่วมเสวนาในงานแถลงข่าวเปิดตัว "สมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนไทย ภาคตะวันออก" ในหัวข้อ Durian to Go by สมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนภาคตะวันออก “พัฒนาทุเรียนไทย ก้าวไกลสู่สากล” โดยมีนายชาตรี บุญนาค รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร นายวิทูรัช ศรีนาม ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี นายชลธี นุ่มหนูผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 จันทบุรี นายธีรภัทร อุ่นใจ นายกสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนไทย ภาคตะวันออก ร่วมกันแถลงข่าว ณ สวนทุเรียนนายพีรเพลิน ทับที่สุด อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรีา ผลผลิตทุเรียนในพื้นที่ภาคตะวันออกฤดูการผลิตปี 2563 ผลผลิตจะเพิ่มขึ้นจากปี 2562 ประมาณ ร้อยละ 20 โดยภาคตะวันออกมีพื้นที่ปลูกทุเรียนประมาณ 7 แสนไร่ มีผลผลิตประมาณ 5 แสนตัน และทั้งหมดจะมีความสมบูรณ์ และมีคุณภาพเนื่องจากเกษตรกรมีการดูแลเกี่ยวกับระบบการให้น้ำเป็นอย่างดี และโดยภาครวมของพื้นที่ในปัจจุบันมีระบบน้ำที่ดี ขณะเดียวกันเกษตรกรก็มีการให้ปุ๋ยทางผิวดินอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดจันทบุรีจะไม่กระทบเรื่องปริมาณน้ำ น้ำมีเพียงพอกับผลไม้ทุกชนิด ส่วนในพื้นที่ของจังหวัดระยอง และชลบุรีนั้นอาจจะมีปัญหาบ้างด้วยปริมาณน้ำในปัจจุบันลดน้อยลง แต่ก็ยังสามารถนำมาใช้ในพื้นที่เพาะปลูกของเกษตรกรเพื่อให้ผลผลิตออกมาสมบูรณ์ได้ สำหรับผลผลิตที่จะออกสู่ตลาดมากที่สุดจะเป็นช่วงเดือนพฤษภาคม-เมษายน โดยในปี 2563 นี้อาจจะมีผลกระทบบ้างจากสถานการณ์โรคระบาดที่ทั่วโลกมีความระมัดระวังในการเดินทางและการติดต่อกันระหว่างประเทศ ซึ่งอาจจะกระทบกระเทือนต่อระบบการส่งออกสินค้าทางการเกษตรด้วย ถึงกระนั้นทางสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง ได้มีการเตรียมการเพื่อรองรับไว้แล้ว โดยการร่วมกับสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนภาคตะวันออกขยายผลด้านการตลาดในประเทศเพิ่มมากขึ้น ควบคู่กับการการขยายตลาดในประเทศ สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซียและเวียดนาม “ปีที่ผ่านมาทุเรียนภาคตะวันออกพึ่งพิงตลาดต่างประเทศ มากถึงร้อยละ 80 แต่ปี 2563 นี้จะต้องปรับตัวโดยจะเน้นตลาดภายในประเทศให้มากขึ้น ส่วนปัญหาภัยแล้งที่คาดการณ์ว่าปี 2563 น้ำจะน้อยนั้น ก็จะมีการรณรงค์ให้เกษตรกรใช้น้ำอย่างประหยัด ที่สำคัญจะทำการผลิตผลไม้ออกมาอย่างมีคุณภาพเพิ่มขึ้น ผลไม้ภาคตะวันออกจะต้องมีคุณภาพดีเหมือนเดิม และนำสู่ตลาดได้อย่างมั่นใจภายใต้การบริหารงานร่วมกันระหว่างส่วนราชการที่เกี่ยวข้องกับสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนภาคตะวันออก”นายดำรงฤทธิ์ หลอดคำ กล่าว ด้านนายพีรเพลิน ทับที่สุด เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียน ตำบลซึ้ง อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี ประธานแปลงใหญ่ทุเรียน ตำบลซึ้ง อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี เกษตรกรดีเด่นระดับเขตภาคตะวันออก และคณะกรรมการสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนภาคตะวันออก กล่าวว่า เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนในพื้นที่อำเภอขลุง จะปลูกทุเรียนพันธุ์กระดุมเป็นส่วนใหญ่ เป็นทุเรียนพันธุ์เบา ตั้งแต่เริ่มออกดอกแล้วบานไปจนติดลูกและสุกสามารถเก็บเกี่ยวได้อยู่ที่ 90 วันเท่านั้น และพื้นที่ปลูกส่วนใหญ่จะเป็นดินทรายสามารถควบคุมการให้น้ำและบังคับการออกลูกได้ดี จึงทำให้การวางแผนการผลิตทุเรียนให้ออกมาก่อนพื้นที่อื่นๆ และพันธุ์อื่นๆ ได้ ทำให้จำหน่ายได้ก่อนและได้ราคา โดยดอกจะออกประมาณช่วงเดือนพฤศจิกายน บานเดือนธันวาคม แล้วติดผลสามารถตัดส่งจำหน่ายได้ประมาณปลายเดือนมกราคมเป็นต้นไป “เรื่องน้ำในพื้นที่ไม่ค่อยมีปัญหาเท่าไหร่ เนื่องจากเกษตรกรส่วนใหญ่จะมีสระเก็บกักน้ำในช่วงหน้าฝนในพื้นที่ปลูกของตนเอง ส่วนที่ไม่มีก็ดึงน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติที่อยู่ใกล้สวนมาใช้ จึงทำให้ไม่ขาดแคลน ผลผลิตก็ออกมาสมบูรณ์ ในปี 2563 นี้ ตลาดก็ไม่มีปัญหาเพราะมีผู้ซื้อเดินทางเข้ามารับซื้อแบบเหมาสวนราคาอยู่ที่ 150 บาทต่อกิโลกรัม พื้นที่อำเภอขลุงจังหวัดจันทบุรีปี 2563 ผลผลิตจะอยู่ที่ประมาณ 2,040 ตัน ฉะนั้นเม็ดเงินที่จะเข้ามาในพื้นที่อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี ปี 2563 นี้จะอยู่ที่ประมาณ 306 ล้านบาท”นายพีรเพลิน กล่าว