ออก 5 มาตรการ ให้ผู้กลับจากถิ่นระบาด งดบริจาคใน 14 วัน ผู้ที่ติดเชื้อหลังรักษาหายดีแล้วให้งดบริจาคเลือดใน 4 สัปดาห์ ผู้สัมผัสผู้ติดเชื้อ งดบริจาคเลือดใน 4 สัปดาห์เช่นกัน และผู้บริจาคเลือดต้องให้ข้อมูลตามจริงทุกอย่าง ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย กำหนดมาตรการป้องกันการถ่ายทอดเชื้อไวรัส โคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ทางโลหิต โดยให้ผู้บริจาคโลหิตคัดกรองตนเองก่อนบริจาคโลหิต เพื่อป้องกันจากความเสี่ยงการได้รับเชื้อจากผู้บริจาคโลหิตไปสู่ผู้ป่วยรับโลหิต รศ.พญ.ดุจใจ ชัยวานิชศิริ ผอ.ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การระบาดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 พบผู้ป่วยยืนยันการได้รับเชื้อจากต่างประเทศพักรักษาอาการที่โรงพยาบาลในประเทศไทย อีกทั้งมีการยืนยันแล้วว่าการแพร่เชื้อสามารถติดต่อจากมนุษย์สู่มนุษย์ได้จากการสัมผัสผู้ติดเชื้อ เช่น ละอองจากการไอ จาม แตะที่ปาก จมูก หรือตา หากได้รับเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ผู้ป่วยจะเริ่มแสดงอาการออกมาภายใน 1 วัน- 2 สัปดาห์หลังได้รับเชื้อ โดยอาการเริ่มแรกของผู้ป่วยที่ได้รับเชื้อส่วนใหญ่จะเริ่มจากมีไข้ ไอ เจ็บคอ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ หายใจหอบเหนื่อย ถ่ายเหลวท้องเสีย หากผู้ป่วยมีร่างกายไม่แข็งแรงหรือมีภูมิคุ้มกันต่ำ ก่อให้เกิดความรุนแรงขั้นวิกฤตและเสียชีวิตได้ ดังนั้น เพื่อป้องกันมิให้รับบริจาคโลหิตจากผู้ที่มีความเสี่ยงได้รับเชื้อไปสู่ผู้ป่วย ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย จึงกำหนดมาตรการป้องกันการถ่ายทอดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ทางโลหิต โดยให้ผู้บริจาคโลหิตรายเก่า หรือผู้บริจาคโลหิตรายใหม่ได้คัดกรองตนเองก่อนบริจาคโลหิต ดังนี้ 1. ผู้ที่เดินทางมาจากประเทศที่มีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ 2019 งดรับบริจาคโลหิต 14 วัน 2. ผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าติดเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ 2019 หลังจากได้รับการรักษาจนหายดีให้งดบริจาคโลหิตเป็นเวลา 4 สัปดาห์ 3. ผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ 2019 งดบริจาคโลหิต 4 สัปดาห์ 4. ภายใน 14 วันหลังบริจาคโลหิต หากผู้บริจาคโลหิตได้รับการวินิจฉัยว่าติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ให้รีบแจ้งหน่วยงานที่รับบริจาคโลหิตทราบทันที 5. ผู้บริจาคโลหิตจะต้องตอบคำถามสุขภาพตัวเอง โดยให้ข้อมูลตรงตามความเป็นจริง ทั้งนี้ เพื่อให้งานบริการโลหิตของประเทศไทย มีคุณภาพปลอดภัยตามมาตรฐาน ถึงแม้ว่าโลหิตที่ได้รับจากการบริจาคทุกยูนิต จะต้องผ่านกระบวนการตรวจคัดกรองในห้องปฏิบัติการ และนำไปปั่นแยกเป็นส่วนประกอบโลหิต ได้แก่ เกล็ดเลือด เม็ดเลือดแดง และพลาสมา ตามประเภทความต้องการใช้ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้ป่วย ในส่วนกลางกรุงเทพมหานคร บริจาคโลหิตได้ที่ ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ ถนนอังรีดูนังต์ และ ศูนย์รับบริจาคโลหิตและพลาสมา สถานีกาชาด 11 วิเศษนิยม (บางแค) ในส่วนภูมิภาค บริจาคโลหิตได้ที่ ภาคบริการโลหิตแห่งชาติ และงานบริการโลหิต รวม 13 แห่ง ได้แก่ ภาคบริการโลหิตแห่งชาติ จังหวัดลพบุรี ชลบุรี ราชบุรี นครราชสีมา ขอนแก่น อุบลราชธานี นครสวรรค์ พิษณุโลก เชียงใหม่ นครศรีธรรมราช (ทุ่งสง) สงขลา ภูเก็ต และงานบริการโลหิต สถานีกาชาดหัวหินเฉลิมพระเกียรติ จ.ประจวบคีรีขันธ์