ประกาศกระทรวงเกษตรฯ แต่งตั้งให้ข้าราชการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พรบ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยถึงความก้าวหน้าในการออกกฎหมายลำดับรองของพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557 ปัจจุบันกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ออกประกาศแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557 (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562 โดยให้ข้าราชการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คือ ปลัดเทศบาล ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบล ปลัดกรุงเทพมหานคร และปลัดเมืองพัทยา เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ มีอำนาจหน้าที่ปฏิบัติการตาม พรบ.ป้องกันการทารุณกรรมฯ ภายในเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบ “การแต่งตั้งให้ท้องถิ่นเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พรบ.ป้องกันการทารุณกรรมฯ เป็นการแต่งตั้งเพิ่มเติม ซึ่งเดิมมีประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พรบ.ป้องกันการทารุณกรรมฯ ลงวันที่ 29 มีนาคม 2562 คือ อธิบดีกรมปศุสัตว์ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ ผู้อำนวยการกอง/สำนักที่เกี่ยวข้อง เจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ ทั้งในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค สำนักงานปศุสัตว์เขต สำนักงานปศุสัตว์จังหวัด และสำนักงานปศุสัตว์อำเภอ”อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าว สำหรับอำนาจหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พรบ.ป้องกันการทารุณกรรมฯ เป็นไปตามมาตรา 25 แห่งพรบ.ป้องกันการทารุณกรรมฯ ดังต่อไปนี้ 1.มีหนังสือเรียกเจ้าของสัตว์ ผู้แทนองค์กรจัดสวัสดิภาพสัตว์ ผู้ดูแลสถานสงเคราะห์สัตว์หรือผู้ซึ่งเกี่ยวข้องมาให้ถ้อยคำ หรือให้ส่งเอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องมาเพื่อประกอบการพิจารณาดำเนินการตาม พรบ.นี้ 2.เข้าไปในสถานที่ใดๆ เพื่อดำเนินการตรวจสอบ เมื่อได้รับแจ้งหรือมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีการทารุณกรรมสัตว์ตาม พรบ.นี้ ซึ่งการเข้าไปในสถานที่เพื่อทำการตรวจค้นต้องมีหมายค้น เว้นแต่มีเหตุอันควรเชื่อว่าหากเนิ่นช้ากว่าจะเอาหมายค้นมาได้ จะมีการยักย้าย ซุกซ่อน หรือทำลายหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด ให้ดำเนินการค้นได้โดยไม่ต้องมีหมายค้น แต่ต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาว่าด้วยการค้น 3.สั่งให้หยุดซึ่งยานพาหนะเพื่อดำเนินการตรวจสอบ เมื่อได้รับแจ้งหรือมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีการ ทารุณกรรมสัตว์ตาม พรบ.นี้ 4.ยึดหรืออายัดสัตว์หรือซากของสัตว์ที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าถูกฆ่าหรือถูกทารุณกรรม รวมทั้งเอกสาร หลักฐาน ยานพาหนะ เครื่องมือ อุปกรณ์ หรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดตามพรบ.นี้ เพื่อเป็นพยานหลักฐานในการดำเนินคดี 5.นำสัตว์ที่ถูกทารุณกรรมไปตรวจรักษาหรือช่วยเหลือสัตว์ที่ตกอยู่ในภยันตราย ในกรณีที่ปรากฏว่าสัตว์นั้นไม่มีผู้ใดให้การรักษาหรือช่วยเหลือ ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินการตามพรบ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557 เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ รวมทั้งเป็นการกระจายอำนาจให้ดูแลสัตว์อย่างทั่วถึง ซึ่งกรมปศุสัตว์ยังคงทำหน้าที่กำกับดูแลกฎหมายฉบับนี้ให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ในการคุ้มครองสวัสดิภาพสัตว์ในทุกมิติให้อยู่ร่วมกันกับสังคมอย่างปกติสุข อธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าว