มีผลไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สำหรับ การที่สหราชอาณาจักรที่นำโดยอังกฤษพ้นจากสมาชิกภาพของสหภาพยุโรป หรือที่เรียกกันติดปากว่า “เบร็กซิต (Brexit)” ซึ่งมีผลอย่างเป็นทางการเมื่อสิ้นเดือน ม.ค. ที่เพิ่งผ่านพ้นมา โดยเป็นผลอย่างเป็นทางการ ภายหลังจากค้างคากว่า 3 ปี นับตั้งแต่สหราชอาณาจักร ในการนำของนายกรัฐมนตรีเดวิด คาเมรอน สมัยนั้น เปิดโอกาสให้ประชาชาวสหราชอาณาจักร ประกอบด้วย อังกฤษ เวลส์ สกอตแลนด์ และไอร์แลนด์เหนือ ได้ลงประชามติว่าจะ “ยังอยู่” หรือ “ออกไป” พ้นจากอียู คือ สหภาพยุโรป เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 2559 (ค.ศ. 2016) ซึ่งผลปรากฏว่า ผู้ไปใช้สิทธิ์ลงคะแนนจำนวนร้อยละ 51.89 เห็นว่าให้สหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรป หรือเบร็กซิต ส่วนผู้ไม่เห็นด้วย คือ เห็นควรให้สหราชอาณาจักรอยู่ในสหภาพยุโรปต่อไปมีจำนวนร้อยละ 48.11 หลังจากนั้นจนถึงวันที่เบร็กซิตมีผล ภายในสหราชอาณาจักร ก็มีการสัประยุทธ์จากฝ่ายต่างๆ ในหมู่ผู้ที่มีความคิดเห็นหลากหลายอย่างฝุ่นตลบทั่วเกาะ ไม่ว่าจะเป็นการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายระหว่างกลุ่มผู้สนับสนุนกับกลุ่มต่อต้านเบร็กซิต การเกิดกลุ่มที่มีความต้องการให้ทางการได้จัดลงประชามติเบร็กซิตกันใหม่ การออกจากสหภาพยุโรปแบบเงื่อนไขข้อตกลงหรือไม่ และอย่างไร รวมไปจนถึงการก่อเกิดกระแสของแว่นแคว้นอื่นๆ ในสหราชอาณาจักรว่า อยากจะมีการลงประชามติแยกตัวเป็นอิสระจากสหราชอาณาจักรที่มีอังกฤษเป็นผู้นำเข้าให้บ้าง ซึ่งการก่อเกิดกระแสแยกตัวเป็นอิสระจากสหราชอาณาจักรโดยแว่นแคว้นหลายแห่งข้างต้น นักวิเคราะห์หลายคนบอกว่า ไม่ผิดอะไรกับเกาะอังกฤษ นิกเนมว่าเมืองผู้ดี มีแนวโน้มที่จะแตกเป็นเสี่ยงๆ เลยทีเดียว แว่นแคว้นอื่นๆ ที่หมายใจว่าจะแยกตัวจากอังกฤษ ก็ได้ “สกอตแลนด์” แดนวิสกีดัง โดยเมื่อเอ่ยถึงสกอตแลนด์แห่งนี้ ก็ต้องกล่าวว่า มี “ปม” ที่จะแยกตัวเป็นอิสระจากอังกฤษตั้งแต่ครั้งประวัติศาสตร์ เมื่อ กว่า700 ปีก่อนแล้ว ดังปรากฏในเรื่องราววีรบุรุษอันเลื่องชื่อ นั่นคือ “วิลเลียม วอลเลซ” ก่อนลากยาวมาถึงยุคปัจจุบันร่วมสมัย ถึงขนาดจัดทำให้ประชาชาวสกอตมาลงประชามติเพื่อแยกตัวออกจากอังกฤษกันก็มีแต่ไม่ประสบความสำเร็จ อย่างไรก็ตาม เมื่อว่าถึงกระแสที่สกอตแลนด์หมายใจจะแยกตัวออกจากอังกฤษ ก็ต้องบอกว่า เริ่มมีความร้อนแรงขึ้น หลังปรากฏการณ์แห่งเบร็กซิตช่วง 1 – 2 ปีหลังนี้ ล่าสุด ในการสำรวจความคิดเห็นของชาวสกอตโดยสำนักโพลล์ชื่อดังอย่าง “ยูกอฟ” ซึ่งมีที่ตั้งสำนักงานใหญ่ในกรุงลอนดอน เมืองหลวงของอังกฤษ เมื่อเร็วๆ นี้ อันเป็นห้วงเวลาเดียวกับเบร็กซิตกำลังจะมีผลสิ้นเดือน ม.ค.ที่เพิ่งผ่านพ้นมานั้น ก็ปรากฏว่า ชาวสกอตกลุ่มตัวอย่างที่ตอบแบบสอบถามถึงร้อยละ 51 เห็นว่าต้องการแยกตัวออกจากสหราชอาณาจักร ส่วนผู้ที่ไม่เห็นด้วยมีจำนวนร้อยละ 49 คณะนักวิเคราะห์ของยูกอฟ แสดงทรรศนะทันทีที่เห็นตัวเลขข้างต้นว่า ถือเป็นตัวเลขเสียงข้างมากครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2558 (ค.ศ. 2015) มาเลยก็ว่าได้ ที่ชาวสกอตต้องการแยกตัวออกจากสหราชอาณาจักร อย่างไรก็ดี ทาง “ไมเคิล แอชครอฟท์” หรือ “ลอร์ดแอชครอฟท์” นักธุรกิจและนักการเมืองพรรคอนุรักษ์นิยมของอังกฤษ ซึ่งได้รับการกล่าวขวัญว่า ชอบสำรวจโพลล์เป็นการส่วนตัวอยู่เป็นประจำ และมีความแม่นยำพอสมควร ออกมาระบุว่า ตัวเลขของยูกอฟยังน้อยกว่าที่เขาสำรวจมาด้วยซ้ำ โดยตัวเลขที่เขาเคยสำรวจได้นั้น พบว่า ชาวสกอตต้องการแยกตัวออกจากสหราชอาณาจักรถึงร้อยละ 52 ส่วนผู้ที่ต้องการอยู่ในสหราชอาณาจักรต่อไปมีจำนวนร้อยละ 48 โดยตัวเลขที่ออกมาดังกล่าว ก็บ่งชี้ว่า ถ้าหากมีการจัดทำประชามติในสกอต ณ เวลานี้ สหราชอาณาจักรก็มีแนวโน้มว่าจะต้องเสียสกอตแลนด์ออกจากอ้อมอกอ้อมใจไปค่อนข้างจะแน่ ทั้งนี้ เมื่อว่าถึงบรรยากาศในสกอตแลนด์ ก็ต้องบอกว่า กระแสต่อต้านเบร็กซิตค่อนข้างจะแรง ไม่เว้นแม้กระทั่งใน “สภาเอ็มเอสพี” หรือ “รัฐสภาสกอตแลนด์” ที่บรรดา ส.ส.ชาวสกอต ภายใต้การนำของ “พรรคชาติสกอต” หรือ “เอสเอ็นพี” ที่มี “นางนิโคลา สเตอร์เจียน” เป็นหัวหน้าพรรคฯ ได้ผ่านมติการประชุมด้วยคะแนนเสียง 63 ต่อ 54 เสียง ที่จะไม่ปลด “ธงสหภาพยุโรป” ออกจากอาคารรัฐสภาของพวกเขา โดยเมื่อกล่าวถึงพรรคเอสเอ็นพีของนางสเตอร์เจียนแล้ว ต้องถือเป็น “หัวหอก” ในการรณรงค์ให้สกอตแลนด์ แยกตัวออกจากสหราชอาณาจักร ระดับแถวหน้าเลยทีเดียว อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเสียงข้างมากต้องการให้แยกตังออกจากสหราชอาณาจักร แต่ชาวสกอตจำนวนร้อยละ 56 เห็นว่า ยังไม่ควรจัดทำประชามติเพื่อแยกตัวดังกล่าวในปีนี้ ทั้งนี้ เพื่อเตรียมความพร้อมของสกอตแลนด์ในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ ให้มีความพร้อมก่อนที่จะแยกตัวออกไป พร้อมกันนี้ ก็มีรายงานด้วยว่า บรรดาแกนนำของสหภาพยุโรป หรืออียู ทั้งในอดีตและปัจจุบัน ดูจะยินดีปรีดาต่อกระแสแยกตัวออกจากสหราชอาณาจักรในสกอตแลนด์ไม่น้อย ยกตัวอย่างเช่น นายโดนัลด์ ทัสก์ อดีตประธานสภายุโรป ถึงกับออกมาบอกว่า พร้อมให้ความสนับสนุนสกอตแลนด์ในการเข้าร่วมเป็นสมาชิกของอียูต่อไปด้วย นอกจากสกอตแลนด์แล้ว ก็ยังปรากฏว่า “ไอร์แลนด์เหนือ” ซึ่งก็มีประวัติการต่อสู้เพื่อเอกราชจากอังกฤษมาอย่างยาวนาน ก็เกิดกระแสต่อต้านเบร็กซิตหาน้อยไม่ โดยมีตัวเลขผลการสำรวจความคิดเห็นชาวไอริชครั้งล่าสุดปรากฏว่า ร้อยละ 65 หรือคิดเป็น 2 ใน 3 ที่เห็นว่า ผลพวงของเบร็กซิตจะก่อให้เกิดรวมเป็นหนึ่งเดียวระหว่างไอร์แลนด์เหนือและไอร์แลนด์ ซึ่งตัวเลขครั้งล่าสุด เป็นการตอกย้ำถึงการสำรวจโพลล์ครั้งก่อนเมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมา ที่ปรากฏว่า ได้ตัวเลขเท่านี้เช่นกัน โดยเหล่านักวิเคราะห์แสดงทรรศนะว่า หากชาวไอริชรวมเป็นหนึ่งเดียวได้ตามความต้องการที่แสดงออกผ่านผลโพลล์ ก็จะเป็นบันไดขั้นต้นสำหรับการแยกตัวของชาวไอริชออกจากสหราชอาณาจักรเป็นลำดับถัดไป