ทนายกระดูกเหล็ก พา 'อาม่าฮวย' ไปยื่นหนังสือขอให้เลขาธิการ ปปง. ยึดทรัพย์คืนอาม่าฮวย และให้ดำเนินคดีกับคนที่ลักเงินของอาม่าฮวยไป หลังพบหลักฐานการถ่ายเทเงินออกไป ทนายอนันต์ชัย ไชยเดช หรือในฉายา "ทนายกระดูกเหล็ก" ได้พาอาม่าฮวย พร้อมนางสาวมินตรา ศรีวิรัตน์ หลานสาว ไปยื่นหนังสือร้องเรียนต่อ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ที่สำนักงาน ปปง. ในเมื่อเวลา 10.00 น. วันนี้ (4 ก.พ. 63) เพื่อขอให้เจ้าหน้าที่ ปปง. ตรวจสอบธุรกรรม หรือทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดยึด หรืออายัดทรัพย์สิน และคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหายจากการกระทำความผิดมูลฐานของนางมาวดี ศรีวิรัตน์ กับพวกรวม 7 คน ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 พร้อมทั้งขอให้ดำเนินคดีอาญา ฐานฟอกงิน และข้อหา ลักทรัพย์ หรือยักยอกเงิน กับนางมาวดี ศรีวิรัตน์ พร้อมพวก ตลอดจนเร่งติดตามทรัพย์สินของอาม่าฮวยกลับคืนมา หลังจากที่ถูกเจ้าหน้าที่ธนาคารชื่อดังปกปิดข้อมูลการทำธุรกรรมต่างมาโดยตลอด สำหรับคดีนี้ สืบเนื่องจากกรณีของอาม่าฮวย ศรีวิรัตน์ ได้ฝากเงินไว้กับธนาคารชื่อดัง สาขาศรีนครินทร์ กม.9 และสุขุมวิท101 กลับนำเงินไปลงทุนในกองทุนบริษัท หลักทรัพย์ กว่า 250 ล้านบาท ต่อมา มีบุคคลบังอาจกระทำการทุจริตเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการเบิกถอน และสั่งจ่ายเงิน จากอาม่าฮวยลงลายมือชื่อด้วยตนเอง เป็นพิมพ์ลายนิ้วมืออาม่าฮวยแทน และบังอาจทุจริตซ้ำ2 แอบพิมพ์ลายนิ้วมืออาม่าฮวยยักย้ายถ่ายเทเงินในบัญชีธนาคารทั้ง 2 สาขา และในกองทุนบริษัทหลักทรัพย์ ของอาม่าฮวยไปจนหมดเกลี้ยงไม่เหลือเลย จนกระทั่ง อาม่าฮวย ได้ไปแจ้งความที่ สน.อุดมสุข ให้ดำเนินคดีผู้ที่เอาเงินของอาม่าฮวยไป จนในที่สุดทราบคนที่เอาเงินไปจนหมด คือลูกสาวของตนเอง โดยมีเจ้าหน้าที่ของธนาคารฯ ร่วมด้วย ก่อนที่พนักงานอัยการจะมีคำสั่งฟ้อง และเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2562 ก็ได้ฟ้องเป็นคดีอาญา ที่ศาลอาญาพระโขนง ในข้อหาร่วมกันปลอมเอกสารใช้เอกสารปลอม ,ร่วมกันลักทรัพย์ รวม 5 คน ต่อมา ทางอาม่าฮวยก็ได้ฟ้องธนาคารชื่อดัง พร้อมกับพวกรวม 6 คน ในคดีแพ่ง ข้อหา ฎละเมิดผิดสัญญาฝากทรัพย์ ติดตามทรัพย์คืน" ที่ศาลแพ่งพระโขนง วันที่ 19 ธันวาคม 2562 โดยเรียกเงินคืนพร้อมดอกเบี้ย จำนวนกว่า 350 ล้านบาท ตามที่เป็นข่าวโด่งดังไปทั่วประเทศมาแล้ว และจากการตรวจสอบการทำธุรกรรมของอาม่าฮวยในเบื้องต้น กลับพบว่า มีการกระทำความผิดเกี่ยวกับการลักทรัพย์ หรือยักยอกเงินของอาม่าฮวย จำนวน 361 ครั้ง เป็นเงิน จำนวน กว่า 254 ล้านบาท อันมีลักษณะเป็นปกติธุระ จึงเข้าข่ายเป็นมูลฐานความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ในมาตรา3 ประกอบมาตรา 3 (18) ,มาตรา48 และ49 นอกจากนี้ ยังเข้าข่ายในคดีอาญาฐานฟอกเงิน ตามมาตรา5 ,มาตรา9 ประกอบมาตรา60 ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปี ถึง 10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000 บาท ถึง 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ อีกด้วย ทั้งนี้ ทางทนายอนันต์ชัย ยังระบุอีกว่า สำหรับวิธีการที่ตนเองไปยื่นร้อง ปปง. ในครั้งนี้ ทนายความส่วนใหญ่ไม่ค่อยทำกัน โดยจะทำกันเมื่อชนะคดี แต่ก็สายเกินไปเสียแล้ว เพราะส่วนใหญ่พนักงานสอบสวน และอัยการเป็นคนสั่งให้ทำ เมื่อมีมูลฐานความผิดแล้ว ซึ่งทำให้คดีล่าช้า จำเลยก็จะอาศัยช่องว่างในช่วงที่ยังฟ้องร้องกันอยู่ในชั้นศาลยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินหมด ตนเองจึงถือว่าคดีนี้ "เป็นเคสสตาร์ทดี้" อีกด้วย