กรมวิชาการเกษตร ลุยกำจัด“หนอนหัวดำ” ชี้กระทบต่ออุตสาหกรรมมะพร้าวไทย มูลค่ากว่า 10,000 ล้านบาท เร่งตัดวงจรก่อนแพร่ระบาดลามพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมัน เตือนเกษตรกร-ผู้บริโภคอย่าตื่น มีผลงานวิจัยรองรับปลอดสารตกค้างทั้งในน้ำและเนื้อมะพร้าว ไม่มีลกระทบสิ่งแวดล้อม นายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร นายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า จากปัญหาการระบาดรุนแรงของหนอนหัวดำในสวนมะพร้าว คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติงบประมาณจำนวน 287.73 ล้านบาท ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดำเนินโครงการป้องกันกำจัดศัตรูมะพร้าว (หนอนหัวดำ) ด้วยวิธีผสมผสาน แบบครอบคลุมพื้นที่ โดยการมีส่วนร่วมอย่างยั่งยืนในพื้นที่ 78,954 ไร่ ใน 29 จังหวัด ตั้งแต่เดือนเมษายน-ธันวาคม 2560 โดยกรมวิชาการเกษตรร่วมกับกรมส่งเสริมการเกษตรได้จัดทำโครงการเร่งป้องกันกำจัดศัตรูมะพร้าว(หนอนหัวดำ)ในมาตรการขั้นเด็ดขาดทั้งระยะสั้นและระยะยาวเพื่อตัดวงจรการระบาดไม่ให้แพร่ระบาดไปยังพื้นที่ปลูกพืชเศรษฐกิจ คือ ปาล์มน้ำมัน และเพื่อควบคุมไม่ให้แพร่ระบาดไปยังพื้นที่แห่งใหม่ด้วย "หนอนหัวดำมะพร้าว เป็นแมลงศัตรูมะพร้าวต่างถิ่นที่ระบาดเข้ามาในไทย พบการระบาดครั้งแรกที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นแมลงศัตรูที่สำคัญชนิดหนึ่งของมะพร้าวในแถบเอเชียใต้ ได้แก่ อินเดีย ศรีลังกา ปากีสถาน เมียนมาร์ และบังคลาเทศ สำหรับประเทศไทยหนอนหัวดำมะพร้าวสามารถแพร่กระจายตัวโดยติดไปกับต้นกล้ามะพร้าว หรือปาล์มประดับ ผลมะพร้าว หรือส่วนใบมะพร้าวซึ่งถูกนำมาจากแหล่งที่มีการระบาดเข้าไปในพื้นที่ใหม่" อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว นายสุวิทย์ กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกมะพร้าวทั้งประเทศ ประมาณ 1.24 ล้านไร่ ในจำนวนดังกล่าวพบพื้นที่ที่มีการระบาดของหนอนหัวดำ 78,954 ไร่ครอบคลุม 29 จังหวัด แต่ที่พบการระบาดรุนแรงมากที่สุดใน 5 จังหวัด ได้แก่ 1 ประจวบคิรีขันธ์ 62,410ไร่ พบการระบาดของหนอนหัวดำทุกอำเภอและสุราษฏร์ธานี 5,536 ไร่ ชลบุรี 4,024 ไร่ สมุทรสาคร 2,669 ไร่ และ แปดริ้ว 953 ไร่ ซึ่งการรุกระบาดของแมลงหนอนหัวดำในพื้นที่ 78,954 ไร่ในปีนี้ ได้ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมมะพร้าวกว่า 10,000 ล้านบาท แบ่งเป็นพื้นที่ประจวบคีรีขันธ์เสียหาย 4 พันกว่าล้าน และพื้นที่อื่นๆใน 28 จังหวัดอีก 5 พันกว่าล้าน นายสุวิทย์ กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ในการแก้ปัญหาในระยะแรก กรมวิชาการเกษตรและกรมส่งเสริมการเกษตรจะร่วมกันดำเนินการป้องกันและกำจัดหนอนหัวดำในพื้นที่จังหวัดประจวบคิรีขันธ์และสุราษฎร์ธานีก่อน เนื่องจากที่ผ่านมาพบ 2 ปัญหาสำคัญที่ทำให้ไม่สามารถเข้าไปดำเนินการจัดการกับหนอนหัวดำในสวนมะพร้าวในบางพื้นที่ได้ โดยปัญหาแรกมาจากการที่เกษตรกรเจ้าของสวนบางรายไม่ยินยอมให้เจ้าหน้าที่ใช้สารเคมีตามหลักวิชาการเพื่อกำจัดหนอนหัวดำ และอีกปัญหาหนึ่ง คือ เจ้าของสวนไม่ได้อยู่ในพื้นที่ปล่อยให้สวนทิ้งร้างกลายเป็นแหล่งอาศัยและเพาะพันธุ์ของหนอนหัวดำ นายสุวิทย์ กล่าวอีกว่า การดำเนินการกำจัดหนอนหัวดำในพื้นที่ดังกล่าวซึ่งมีการระบาดของหนอนหัวดำที่อยู่ในระดับรุนแรงต้องใช้วิธีพ่นสารทางใบสำหรับต้นมะพร้าวที่มีความสูงน้อยกว่า 12เมตร โดยใช้สารเคมีชนิดใดชนิดหนึ่งตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตร ได้แก่ ฟลูเบนไดเอไมด์ และครอแรนทรานิลิโพรล และวิธีที่สองสำหรับมะพร้าวที่มีความสูงมากกว่า 12 เมตร ใช้สารอีมาเม็กติน เบนโซเอต ฉีดเข้าต้น เพราะเชื่อมั่นว่าสามารถตัดวงจรชีวิตหนอนหัวดำได้ผลดีที่สุด ซึ่งการใช้สารดังกล่าวเกษตรกรและผู้บริโภคไม่ต้องกังวลว่าจะมีการตกพิษค้างในมะพร้าว เนื่องจากกรมวิชาการเกษตรมีผลการทดลองการศึกษาพิษตกค้างตามมาตรฐานสากล CODEX ยืนยันแล้ว่าไม่พบสารตกค้างทั้งเนื้อและน้ำมะพร้าว นอกจากนี้เนื่องจากผลมะพร้าวมีเปลือกที่ประกอบด้วยเส้นใยที่หนาแข็งแรง อีกทั้งมีกะลาที่แข็ง ดังนั้นการใช้สารเคมีตามคำนะนำทางวิชาการทั้ง 2 วิธีดังกล่าวไม่มีโอกาสที่สารเคมีจะแทรกซึมเข้าไปในน้ำและเนื้อมะพร้าวอย่างแน่นอน