วันที่ 3 ก.พ.63 พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กชื่อพันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง ระบุว่า ข้อความว่า... การ “การพิทักษ์รัฐธรรมนูญและการต่อต้านการปฏิวัติรัฐประหาร” จะทำได้หรือไม่นั้น เมื่อตรวจสอบจากรัฐธรรมนูญทั้ง 20 ฉบับแล้วพบว่า เรื่องการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ มีบัญญัติไว้ชัดเจน ใน รธน 2517 มาตรา 4 ว่า “การนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือรัฐธรรมนูญจะกระทำมิได้” รธน 17 ใช้บังคับได้เป็นระยะเวลาเพียง 2 ปีเท่านั้น ก็เกิดปฏิวัติรัฐประหารในปี 2519 ส่วนการ ‘ต่อต้านการปฏิวัติรัฐประหาร’ มีขึ้นใน รธน 40 เป็นฉบับแรก ที่บัญญัติ เรื่อง “ต่อต้านโดยสันติวิธี” ตามมาตรา 65 ไว้ คือ “บุคคลย่อมมีสิทธิต่อต้านโดยสันติวิธี ซึ่งการกระทำใด ๆ ที่เป็นไปเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้” คำว่า “ต่อต้านโดยสันติวิธี” ตาม รธน 40 หมายถึง การชุมนุมเพื่อต่อต้าน ยับยั้ง สกัดกั้น คัดค้าน หรือแสดงความไม่เห็นด้วยต่อการปฏิบัติรัฐประหารเพราะเห็นปรปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่ง รธน 40 ใช้บังคับได้เป็นระยะเวลา 9 ปีเศษ ก็ถูกการรัฐประหารในปี 2549 ต่อมามี รธน 50 ก็มีบทบัญญัติ (ในมาตรา 69) ที่มีข้อความ “ต่อต้านโดยสันติวิธี” เหมือนกับ รธน 40 ก็ตาม แต่ รธน 50 มีที่มาและปรัชญาแตกต่างกันสิ้นเชิงเพราะเป็นผลพวงมาจากการรัฐประหาร ปี 2549 คำว่า ต่อต้านโดยสันติวิธี คือ การต่อต้านบุคคลหรือพรรคการเมืองที่ได้รับเลือกตั้งมาโดยไม่สุจริต หรือการซื้อเสียงเป็นหลัก ซึ่งต่างจาก รธน 40 ที่ต่อต้านภัยคุกคามจากการปฏิวัติรัฐประหาร ซึ่งอายุใช้งาน รธน 50 ใช้บังคับได้เป็นระยะเวลา 7 ปีเศษ ก็ถูกรัฐประหารในปี 2557 ส่วนใน รธน 60 ฉบับปัจจุบัน ไม่มีบัญญัติเรื่องการ “ต่อต้านโดยสันติวิธี” เหมือนรัฐธรรมนูญปี 40 มีเพียง มาตรา 49 ว่า “บุคคลจะใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมิได้” จะเห็นว่า รธน 60 เป็นฉบับที่มองไม่เห็นอันตรายจากการปฏิวัติรัฐประหารและไม่ไว้วางใจประชาชนจ้องเอาผิดกับบุคคลที่เป็นผู้แทนราษฎรและพรรคการเมืองเพื่อสืบทอดอำนาจ ของ “นักปฏิวัติรัฐประหาร” นั้นเอง คำถามว่า จะมีมาตรการป้องกันการปฏิวัติรัฐประหารได้อย่างไร ? จะเป็นคำถามยอดฮิตที่ไม่มีคำตอบจากบทบัญญัติรัฐธรรมนูญได้ เพราะ ที่ผ่านมา “รัฐธรรมนูญเป็นเพียงบันทึกการปกครองประเทศ” เท่านั้น ไม่ใช่เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศตามที่เข้าใจกันแต่อย่างใด พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ