ไม่ผิดอะไรกับสัญญาณตีระฆังบอกยกบนสังเวียนเลือดที่จะสัประยุทธ์กัน ระหว่างบรรดาผู้สมัครรับเลือกตั้งตัวแทนพรรคการเมืองทั้งหลาย ก่อนไปชิงชัยในสนามใหญ่ของการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา 2020 (พ.ศ. 2563) ช่วงปลายปี สำหรับ “การเลือกตั้งขั้นต้น” ในอันที่จะให้รัฐต่างๆ ที่ในสหรัฐฯ มีจำนวน 50 รัฐ ด้วยกัน เฟ้นหาผู้สมัครที่เหมาะสมที่สุด ดีที่สุดเป็นตัวแทนของแต่ละพรรค ซึ่งในสหรัฐฯ ก็มีสองพรรคใหญ่ คือ “พรรครีพับลิกัน” กับ “พรรคเดโมแครต” ไปสู้ศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีกับตัวแทนของพรรคฝ่ายตรงข้ามต่อไป ซึ่งการเลือกตั้งขั้นที่ว่านั้น ก็จะเริ่มเปิดฉากขึ้นในวันจันทร์ที่ 3 ก.พ.นี้ ตามเวลาท้องถิ่น ซึ่งจะช้าเวลาในไทยราว 11 – 12 ชั่วโมง โดยรัฐแรกที่จะเป็นสมรภูมิในศึกเลือกตั้งขั้นต้นดังกล่าว ก็จะมีขึ้นที่ “ไอโอวา” รัฐที่อยู่ในแถบมิดเวสต์ คือ ตะวันตกตอนกลางของสหรัฐฯ ซึ่งถ้าจะว่าไปก็เปรียบเสมือนเป็นประเพณีการเลือกตั้งประธานาธิบดีของถิ่นลุงแซมเลยทีเดียว ที่จะมาเริ่มเปิดฉากเลือกตั้งขั้นต้นที่รัฐแห่งนี้ก่อนเป็นลำดับแรก การเลือกตั้งขั้นต้นที่ “รัฐไอโอวา” ก็เป็นแบบ “คอคัส (Caucus)” อันเป็น 1 ใน 2 ของรูปแบบการเลือกตั้งขั้นต้น ส่วนการเลือกตั้งขั้นต้นอีกแบบนั้น เรียกว่า “ไพรมารี (Primary)” ทั้งนี้ การเลือกตั้งขั้นต้นแบบ “คอคัส” ที่จะมีขึ้นที่รัฐไอโอวา วันจันทร์ที่ 3 ก.พ.นี้นั้น ก็ต้องถือว่าเป็นการเลือกตั้งขั้นต้นแบบดั้งเดิม ที่สหรัฐฯ ใช้วิธีนี้มา ซึ่งปัจจุบันมี 11 รัฐ กับอีก 1นครหลวงกรุงไกร ที่ใช้รูปแบบคอคัสนี้ ได้แก่ ไอโอวา (รัฐเปิดประเดิม) นิวเม็กซิโก นอร์ทดาโกตา เมน เนวาดา มินนิโซตา แคนซัส ไวโอมิง โคโลราโด อะแลสกา ฮาวาย และแม้แต่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมืองหลวงของประเทศ ก็ยังใช้รูปแบบคอคัสอยู่ รูปแบบวิธีการ ก็คือ ประชุมผู้สนับสนุนพรรคแล้วก็ลงคะแนนเลือกกันเลย โดยแตกต่างกันระหว่างพรรคเดโมแครต กับพรรครีพับลิกัน คือ ทางพรรคเดโมแครต ลงคะแนนกันแบบเปิดเผย อาจจะใช้วิธีการยกมือก็ได้ ขณะที่ ทางพรรครีพับลิกัน ลงคะแนนแบบลับ ซึ่งผู้ร่วมคอคัสก็จะแบ่งเป็นกลุ่มไปเข้ากับกลุ่มของผู้สมัครที่พวกชื่นชอบหมายใจที่จะเลือก ถ้ากลุ่มใดมีสมาชิกไม่ถึงร้อยละ 15 ของผู้เข้าร่วม คอคัสนั้นก็จะถูกยุบ ก่อนไปรวมกับผู้สมัครอื่นๆ จนมีสมาชิกเพียงพอที่จะได้รับ “ดิลิเกต” คือ “ตัวแทน” ส่วนรูปแบบวิธีการเลือกตั้งขั้นแบบไพรมารี เป็นรูปแบบที่นิยมมากที่สุด โดยจะให้ผู้ที่ลงคะแนน ซึ่งได้ลงทะเบียนไว้กับพรรคการเมืองแต่ละพรรค ได้ลงคะแนนเพื่อเลือกตั้งแทนพรรคของตนเอง โดยเลือกได้เพียงพรรคเดียว ในการลงคะแนนก็มีทั้งแบบเปิดเผยและแบบลับ รวมถึงมีทั้งแบบเลือกผู้สมัครได้โดยตรง และเลือกตัวแทน หรือดิลิเกต ที่จะไปสนับสนุนผู้สมัครรับเลือกตั้งอีกทีก็ได้ ตามแต่จะกำหนดกันไว้ ว่ากันตามสถานการณ์และบรรยากาศการชิงชัยในศึกเลือกตั้งขั้นต้นไม่ว่าจะเป็นแบบคอคัส และไพรมารี ทั้งพรรคเดโมแครตและพรรครีพับลิกัน ปรากฏว่า ทางพรรครีพับลิกัน ดูจะไม่คึกคักกันสักเท่าไหร่ เพราะดูเหมือนว่า ไม่ผิดอะไรกับ “พิธีกรรม” แต่เพียงเท่านั้น เนื่องจากอย่างไรเสีย “นายโดนัลด์ ทรัมป์” ก็ได้เป็นตัวแทนของพรรครีพับลิกัน ไปสู้ศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ สนามใหญ่ เพราะคู่แข่งแต่ละคนไร้บารมีมาเทียบเทียม ไม่ว่าจะเป็นนายบิลล์ เวลด์ อดีตผู้ว่าการรัฐแมสซาชูเซตส์ หรือนายโจ วอลช์ อดีตสมาชิกรัฐสภา หรือสภาคองเกรสสหรัฐฯ โดยสถานการณ์และบรรยากาศในการสัประยุทธ์ของบรรดาผู้สมัครรับเลือกตั้งภายในพรรคเดโมแครต ได้ รับการจับตาจ้องมองยิ่งกว่า เนื่องจากมีเหล่านักการเมืองคนดังของพลพรรคเดโมแครต ตบเท้าเข้าร่วมทำศึกกันอย่างคับคั่งถึง 12 คน ด้วยกัน ไล่ไปตั้งแต่อดีตรองประธานาธิบดีโจ ไบเดน นายเบอร์นี แซนเดอร์ส วุฒิสมาชิก หรือสมาชิกสภาซีเนตแห่งรัฐเวอร์มอนต์ นางเอลิซาเบธ วอร์เรน สมาชิกสภาซีเนตแห่งรัฐแมสซาชูเซตส์ และนายไมเคิล บลูมเบิร์ก อดีตนายกเทศมนตรีแห่งมหานครนิวยอร์ก รัฐนิวยอร์ก เป็นอาทิ กล่าวถึงคะแนนนิยมของแต่ละคน สำหรับ การชิงชัยในศึกคอคัสที่จะมีขึ้นในรัฐไอโอวา วันจันทร์นี้ ปรากฏว่า ทั้ง 6 สำนักโพลล์ ที่สำรวจความคิดเห็นประชาชนชาวรัฐไอโอวา ล้วนต่างชี้ว่า อดีตรองประธานาธิบดีโจ ไบเดน ดูจะได้เปรียบเหนือใคร จากการที่มีคะแนนนิยมนำหน้าเหนือผู้สมัครฯ คนอื่นๆ ยกตัวอย่างเช่น “ฟอกซ์นิวส์โพลล์” ให้อดีตรองประธานาธิบดีโจ ไบเดน มีคะแนนนิยมอยู่ที่ร้อยละ 26 เหนือกว่าวุฒิสมาชิกแซนเดอร์ส ที่ตามมาในลำดับที่ 2 ที่มีคะแนนนิยมร้อยละ 23 เช่นเดียวกับ “สำนักข่าวเอบีซีนิวส์” ที่จับมือกับหนังสือพิมพ์ “วอชิงตันโพสต์” จัดทำโพลล์ ก็ระบุว่า อดีตผู้นำสหรัฐฯ โจ ไบเดน มีคะแนนนิยมเหนือกว่า ส.ว.แซนเดอร์ส อยู่ราว 4 จุด คือ ร้อยละ 28 ต่อร้อยละ 24 ส่งผลให้ค่อนข้างจะแน่นอนว่า อดีตรองประธานาธิบดีโจ ไบเดน น่าจะได้รับชัยชนะในศึกคอคัสที่รัฐไอโอวา แต่ทว่า อย่าเพิ่งย่ามใจไป เพราะบรรดานักวิเคราะห์ ต่างออกมาแสดงทรรศนะ ส่งเสียงติงเตือนมาว่า เป็นเพียงเริ่ม “โหมโรง” เท่านั้น ยังต้องสู้ศึกในอีก 49 รัฐ และถึงแม้ว่าจะชนะในรัฐนี้แต่ก็ยังไม่แน่ว่า จะคว้าชัยในสนามเลือกตั้งใหญ่ พร้อมกับชี้ให้ดูกรณีของนายโดนัลด์ ทรัมป์ เป็นตัวอย่าง ที่เคยพ่ายแพ้ในเวทีคอคัส ที่รัฐไอโอวาแห่งนี้เมื่อปี 2559 ให้แก่นายเท็ด ครูซ วุฒิสมาชิกแห่งรัฐเทกซัส แต่ก็พลิกกลับมาคว้าเก้าอี้ประธานาธิบดีสหรัฐฯมาครองในท้ายสุด