“มนัญญา” ตรวจเยี่ยมกลุ่มเกษตรกรปลูกผักปลอดสารด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ จ.บุรีรัมย์ ชู 4 ต้นแบบซุปเปอร์มาร์เก็ตสหกรณ์จำหน่ายสินค้าเกษตร เมื่อวันที่ 1 ก.พ. นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และตรวจเยี่ยมกลุ่มเกษตรกรปลูกผักปลอดสารพลังงานแสงอาทิตย์ โดยมีนายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ผู้บริหารกรมวิชาการเกษตร กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ร่วมคณะ ณ บ้านห้วยเสลา อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ นางสาวมนัญญา กล่าวว่า จากภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน รัฐบาลถือเป็นภารกิจสำคัญอย่างยิ่งที่จะต้องนำประเทศไทย ให้รอดพ้นจากวิกฤตเศรษฐกิจที่กำลังเกิดขึ้น และพัฒนาเศรษฐกิจให้เจริญเติบโตอย่างยั่งยืน ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งกระทรวงฯ มุ่งหวังให้เกษตรกร ใช้ระบบการปลูกพืชผักปลอดภัย และเกษตรอินทรีย์ เป็นการลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มคุณภาพการผลิตพัฒนาสินค้าเกษตรให้ได้มาตรฐานเป็นที่ต้องการของตลาดและด้านการตลาดต้องนำการผลิตเป็นการเพิ่มช่องทางในการขายให้กับผู้ผลิตสินค้ารวมถึงการแปรรูปสินค้าเกษตรเพื่อเพิ่มมูลค่า และสร้างความหลากหลายของสินค้าให้ได้มาตรฐานตรงตามความต้องการของตลาด สหกรณ์กลุ่มเกษตรกรอื่นๆ สามารถนำไปเป็นแบบอย่างในการพัฒนาระบบการผลิตพืชผักปลอดภัยให้เป็นไปตามความต้องการของตลาดที่ส่งผลให้สมาชิกจำหน่ายผลผลิตได้สูงขึ้นและมีรายได้เพิ่มขึ้น "นอกจากการส่งเสริมการปลูกพืชผักอินทรีย์แล้ว ขอฝากโครงการนำลูกหลานเกษตรกรกลับบ้าน สานต่ออาชีพเกษตร ซึ่งเป็นโครงการที่รองรับคนรุ่นใหม่ที่มีใจรักการทำเกษตรกรรม และต้องการกลับไปทำงานและดูแลคนที่บ้าน มุ่งเน้นการสร้างเกษตรกรผู้ผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัยจะสามารถสร้างคุณภาพชีวิต และรายได้ที่ดีให้กับเกษตรกร ซึ่งปัจจุบันได้บูรณาการร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นช่องทางในการจัดจำหน่ายสินค้าเกษตรปลอดภัย ผักอินทรีย์ โดยขณะนี้ในจังหวัดบุรีรัมย์ ได้มี 4 ซุปเปอร์มาร์เก็ต ที่จัดจำหน่ายสินค้าสหกรณ์ ได้แก่ สหกรณ์แคนดง สหกรณ์โนนสุวรรณ สหกรณ์คูเมือง และสหกรณ์หนองหงส์ และทั่วประเทศมีสหกรณ์ในลักษณะดังกล่าว 44 จังหวัด จำนวน 89 แห่งทั่วประเทศ มั่นใจว่าในอนาคตจะมีการขยายช่องทางการจัดจำหน่ายต่อไป"รมช.เกษตรและสหกรณ์ กล่าว ทั้งนี้ ผลงานเด่นของกลุ่มเกษตรกรปลูกผักปลอดสารพลังงานแสงอาทิตย์บ้านห้วยเสลา ได้ดำเนินการปลูกผักปลอดสาร เช่น ถั่วฝักยาว หน่อไม้ฝรั่ง ผักชีต้นหอม ข้าวโพด และอื่นๆ ตามฤดูกาล ซึ่งสามารถจัดจำหน่ายได้ทุกวัน ทั้งนี้สมาชิกได้รับจัดสรรแปลงปลูกผักพร้อมระบบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์เนื้อที่รายละหนึ่งงานซึ่งสมาชิกสามารถปลูกผักได้ทั้งปีตามความต้องการของตลาดเป็นการเชื่อมโยงเครือข่ายกับชุมชนพื้นที่ใกล้เคียง โดยมีการส่งเสริมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของรัฐ ซึ่งได้รับการสนับสนุน ปัจจัยการผลิตเป็นโรงเรือนเพาะชำกล้าไม้จากกรมวิชาการเกษตรตามโครงการเสริมสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรรมรายย่อย และคำแนะนำในด้านการทำบัญชี รายรับ-รายจ่าย จากสำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์ ด้านนายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวว่า กรมส่งเสริมสหกรณ์ สนับสนุนสินเชื่อตามโครงการสร้างความเข้มแข็งให้กลุ่มเกษตรกร จำนวน 300,000 บาท เพื่อให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในการผลิตและการตลาด รวมทั้งสำนักงานสหกรณ์จังหวัดบุรีรัมย์ ได้มีแนวทางส่งเสริมให้สมาชิกกลุ่มฯ ผลิตผักปลอดภัยได้มาตรฐาน GAP โดยมีสหกรณ์เป็นศูนย์กลางในการดูแลการผลิต สามารถผลิตสินค้าได้ตามความต้องการของตลาด มีตลาดที่มั่นคงแก่สมาชิก ซึ่งจะทำให้สมาชิกมีรายได้ที่มั่นคง รวมทั้งพัฒนาสู่คลัสเตอร์ผักปลอดภัยเกษตรอินทรีย์ โดยสำนักงานสหกรณ์จังหวัดบุรีรัมย์ หอการค้าจังหวัดบุรีรัมย์ ผลักดันให้มีการลงนามความร่วมมือ (MOU) การซื้อขายผักปลอดภัย GAP ระหว่าง บริษัท โกว ฟอร์ม เดอะกราวด์ จำกัด และสหกรณ์การเกษตรและกลุ่มเกษตรกร รวม 7 แห่ง ได้แก่ สหกรณ์การเกษตรคูเมือง จำกัด สหกรณ์การเกษตรหนองหงส์ จำกัด สหกรณ์การเกษตรโนนสุวรรณ จำกัด กลุ่มเกษตรกรทำนาปะเคียบ กลุ่มปลูกผักปลอดสารด้วยพลังงานแสงอาทิตย์บ้านห้วยเสลา สหกรณ์นิคมแคนดง จำกัด และนิคมสหกรณ์สตึก มีสมาชิกผู้ปลูกผักปลอดภัยทั้งหมด 203 ราย มีพื้นที่ 211 ไร่ ปลูกผักปลอดภัยกว่า 24 ชนิด ปัจจุบันสหกรณ์การเกษตรและกลุ่มเกษตรกร ทั้ง 7 แห่ง มีการผลิตผักปลอดภัยส่งจำหน่ายผ่านเครือข่ายการตลาดหอการค้าจังหวัดบุรีรัมย์ ได้แก่ ห้างสรรพสินค้าในจังหวัดบุรีรัมย์ เช่น บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ ผู้ประกอบการร้านอาหาร รวมทั้ง ศูนย์กระจายสินค้าสหกรณ์ (CDC) บ.คุ้มครองผู้บริโภค และร้านค้าส่งผักในพื้นที่ ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง สำนักงานสหกรณ์จังหวัดบุรีรัมย์ และหอการค้าจังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อสนับสนุนนโยบายการเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวอารยธรรมขอมและกีฬามาตรฐานโลก และการพัฒนาเศรษฐกิจภายในพื้นฐานของการผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัย ทั้งนี้ ในปี 2563 กลุ่มฯ มีแนวทางการพัฒนาการพัฒนาธุรกิจและจัดหาตลาดเพื่อรองรับผลผลิตทั้งการจัดตลาดนัดในพื้นที่ชุมชน ตลาดแบบออนไลน์ และเพิ่มช่องทางการประชาสัมพันธ์อื่นๆ เพื่อให้เป็นที่รู้จักของผู้บริโภคและตลาดรับซื้อทั่วไปเพิ่มมากขึ้นด้วย