วันที่ 1 ก.พ.63 นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เปิดเผยว่า จากการที่ประเทศไทยมีพื้นที่ป่าไม้ลดลง มีภาวะฝนทิ้งช่วงและปริมาณฝนลดลง ทำให้ปริมาณน้ำที่กักเก็บในเขื่อนและแหล่งน้ำธรรมชาติมีปริมาณลดลงด้วย เกิดภาวะภัยแล้งเกือบทุกภูมิภาคของประเทศ ประกอบกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ทำให้น้ำบาดาล ซึ่งเป็นแหล่งน้ำต้นทุนที่สำคัญในการอุปโภคบริโภคและกระบวนการผลิตของภาคเกษตรและอุตสาหกรรม ได้ถูกสูบขึ้นมาใช้เพิ่มมากขึ้นในหลายพื้นที่ ส่งผลให้ระดับน้ำบาดาลลดลงอย่างต่อเนื่องและชั้นน้ำบาดาลมีโอกาสเสียสมดุลตามธรรมชาติ ดังนั้น แนวทางแก้ไขโดยการเติมน้ำลงสู่ชั้นน้ำบาดาล (Managed Aquifer Recharge: MAR) เป็นแนวทางหนึ่งในการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำบาดาล หมายถึง การนำน้ำที่เหลือใช้ในช่วงน้ำท่วมหลาก หรือจากน้ำฝนที่ตกลงมาเติมลงสู่ชั้นน้ำบาดาลด้วยวิธีการที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่และนำกลับมาใช้ใหม่ในช่วงเวลาที่ต้องการ ประโยชน์ของการเติมน้ำใต้ดินโดยสังเขป มีดังนี้ 1) ช่วยธรรมชาติในการฟื้นฟูชั้นน้ำบาดาลโดยการเพิ่มเติมปริมาณน้ำบาดาล แก้ไขปัญหาการลดระดับลงของชั้นน้ำบาดาลให้กลับคืนสู่สภาพเดิม 2) ช่วยระบายน้ำและลดปริมาณน้ำ แก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังหรือน้ำเจิ่งนองในชุมชน 3) รูปแบบและวิธีการเติมน้ำใต้ดินที่เหมาะสม เพิ่มความคุ้มค่าและประหยัดงบประมาณ 4) ช่วยลดความสูญเสียต่อเศรษฐกิจชุมชนและสุขภาวะของประชาชนได้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำบาดาลของประเทศ มีความเห็นว่าการเติมน้ำใต้ดินเป็นงานที่ต้องบูรณาการกับหลายหน่วยงาน จึงได้จัดทำ”แนวทางการเติมน้ำใต้ดินสำหรับประเทศไทย” โดยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และนักวิชาการ ทำงานในรูปแบบคณะอนุกรรมการเติมน้ำใต้ดินและการระดมความคิดเห็นผ่านเวทีประชุมสัมมนาหลายครั้ง เพื่อการจัดทำและ ปรับปรุงแก้ไขให้เป็นคู่มือสำหรับทุกภาคส่วนใช้ดำเนินการเติมน้ำใต้ดินที่เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ ทั้งนี้เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องตรงกันในหลักเกณฑ์และแนวทางการเติมน้ำใต้ดิน ก่อให้เกิดความร่วมมืออย่างจริงจัง จึงได้จัดการประชุมเสวนาการเติมน้ำใต้ดินของประเทศไทย ระหว่างวันที่ 6 – 7 กุมภาพันธ์ ที่ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนแวนชั่น กรุงเทพมหานคร มีผู้เข้าร่วมงานจากส่วนราชการ สถาบันการศึกษา จังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวน 1,000 คน โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายวราวุธ ศิลปอาชา เป็นประธานในพิธีเปิดและส่งมอบ “แนวทางเติมน้ำใต้ดินของประเทศไทย” ให้กับผู้แทนของส่วนราชการ โดยภายในงานมีนิทรรศการแสดงเกี่ยวกับการเติมน้ำใต้ดินและองค์ความรู้ด้านน้ำบาดาล เทคโนโลยีและเครื่องมืออุปกรณ์ที่ใช้ในการสำรวจและเจาะบ่อน้ำบาดาล การตรวจวิเคราะห์คุณภาพน้ำบาดาล การบรรยายและเวทีเสวนาในหัวข้อ “การขับเคลื่อนแนวทางมาตรฐานเติมน้ำใต้ดินของประเทศไทยไปสู่การปฏิบัติ”