นอกจากแผนที่แสดงอาณาเขตที่ดิน แผนที่แสดงทิศทางอากาศ ฯลฯ ทราบหรือไม่ว่าขณะนี้กรมฝนหลวงและการบินเกษตร อยู่ระหว่างการทำแผนที่ความต้องการน้ำฝน สำหรับเป็นข้อมูลประกอบการวิเคราะห์สภาพอากาศเพื่อสั่งการปฏิบัติการบิน เป้าหมายของแผนที่ชุดนี้ คือการเป็นแผนที่ที่ใช้อ้างอิงในวงประชุมเรื่องน้ำในระดับชาติอีกด้วย ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนผลวงและการบินเกษตร กล่าวว่า ประเทศไทยมีพื้นที่นอกเขตชลประทาน 110 ล้านไร่ ซึ่งพึ่งพาน้ำฝนธรรมชาติและฝนหลวงกรณีฝนน้อย ดังนั้นเมื่อกรมเป็นหน่วยปฏิบัติการทำฝน ความเดือดร้อนของประชาชนที่รอไม่ได้ การทำฝนหลวงนอกจากแผนปฏิบัติการรายปี และจากคำร้องขอของเกษตรกรเข้ามา อาจจะไม่เพียงพอหรือเท่าทันกับสถานการณ์แล้ง บางครั้งหากล่าช้าเพียง 1-2 วันอาจทำให้พืชเกษตรเสียหาย จึงให้โจทย์นักวิชาการศึกษาดูว่าน่าจะลองทำแผนที่ความต้องการฝน เป็นชุดข้อมูลมาใช้ในการปฏิบัติการเพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์สูงสุดตามพระราชประสงค์ของพระบิดาแห่งฝนหลวง “เป้าหมายของการทำฝนหลวงคือ ถูกที่ ถูกเวลาและทันต่อความเดือนร้อนของประชาชน เพราะบางครั้งในสถานการณ์แล้ง การมีแผนที่ความต้องการน้ำ ทำให้เรามองภาพรวมได้ออก ซึ่งแผนที่จะแสดงให้เห็นว่า พื้นที่ไหนต้องการน้ำและพื้นที่ไหนที่มีน้ำเพียงพอแล้ว และแก้ปัญหาความเดือดร้อนได้ทันท่วงที เบื้องต้นแผนที่ได้ลองใช้ภายในกรมฯ ผลความแม่นยำเริ่มเป็นที่น่าพอใจ ขณะนี้จะเริ่มศึกษาเพิ่มขึ้นเพื่อให้ได้มาตรฐานการวิจัยทางวิชาการและสามารถที่จะใช้เป็นแผนที่อ้างอิงในการประชุมด้านบริหารจัดการน้ำในระดับประเทศ เหมือนแผนที่ทางราชการอื่น” นายมารุต ราชมณี ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ กองวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีฝนหลวง ในฐานะผู้วิจัย เปิดเผยว่า ดร.สุรสีห์ ได้ให้นโยบายว่า กรมเป็นหน่วยงานที่ปฏิบัติแก้ไขปัญหาให้ประชาชน ควรจะมีชุดข้อมูลสำหรับสนับสนุนการปฏิบัติการฝนหลวงของกรมเอง ไม่ควรที่จะรอให้เกษตรกรร้องขอ หรือรอการประกาศเขตภัยแล้งของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(ปภ.) และอนาคตจะต้องพัฒนาเป็นชุดข้อมูลที่หน่วยงานอื่นต้องนำไปใช้ประกอบการทำงาน “ผมจึงเริ่มศึกษาวิจัยปี 2560 ในเขตลุ่มเจ้าพระยาเนื่องจากเป็นพื้นที่ปลูกข้าวมาก โดยใช้ข้อมูลการปลูกพืชของ Gistda ที่จะมีทำข้อมูลเป็นปัจจุบันทุก 15 วัน มาเปรียบเทียบกับภาพถ่ายทางดาวเทียม แล้วลองวิเคราะห์ความต้องการน้ำของข้าวในแต่ละช่วงอายุ จากนั้นส่งข้อมูลให้ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงในพื้นที่ ให้ไปดูพื้นที่จริงเพื่อสอบทานข้อมูล ก็พบว่าผลการวิเคราะห์ตรงกับความต้องการจริงและสภาพพื้นที่จริงแม่นยำถึง 80% ทั้งนี้ในการวิเคราะห์ จะใช้ข้อมูลปริมาณฝนตกสะสมในพื้นที่ 7 วันมาประกอบ เพื่อดูปริมาณความชื้นในดิน หากฝนสะสมมาก ความชื้นในดินเยอะ จุดนั้นก็ไม่ต้องการน้ำ จุดไหนฝนสะสมน้อยก็คือพื้นที่ต้องการน้ำ ก็จะนำมากำหนดในแผนที่ความต้องการน้ำฝนของวันนั้นๆ ทั้งนี้ แต่ละจุดมีการแทนค่าด้วยสีความต้องการน้ำ เช่นสีฟ้าคือพื้นที่ที่มีน้ำเพียงพอแล้ว และสีแดงคือพื้นที่ต้องการน้ำเป็นต้น แต่ในรายละเอียดจะมีการจำแนกแทนค่าด้วยระดับสีต่างกัน” ในปี 2561-2562 ได้เริ่มทดลองใช้แผนที่ความต้องการน้ำวางแผนในพื้นที่นาข้าวที่อ.แม่จัน จ.เชียงราย ซึ่งในการวิเคราะห์ กรมพบว่าอยู่ในโซนสีแดงที่ต้องการน้ำมาก และเสี่ยงที่ข้าวจะเสียหาย แต่เกษตรกรยังไม่ร้องเข้ามาให้ทางศูนย์พื้นที่ไปตรวจสอบก็พบว่า พื้นที่นาข้าวเสี่ยงจะเสียหายแล้ว ทางกรมจึงกำหนดเป็นพื้นที่ปฏิบัติการ ซึ่งผลจากการที่กรมฝนหลวงฯ ได้ตรวจพบและดำเนินการทำให้พื้นที่นาข้าวแม่จันเมื่อปลายปี 2562 ที่ผ่านมาไม่เสียหายและสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ “ในปี 2563 ผมได้ของบวิจัยจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร(องค์การมหาชน)หรือสวก. เพื่อต่อยอดการวิจัย โครงการศึกษา 1 ปี เป้าหมายต้องการให้แผนที่นี้สามารถที่จะพยากรณ์ได้ล่วงหน้าเหมือนของกรมอุตุนิยมวิทยาที่จะคาดการณ์สภาพอากาศล่วงหน้าได้ 3 วัน 7 วัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์แม่ข่ายเชิงพื้นที่ ในการศึกษาครั้งนี้จะนำเอาปริมาณทุกมิติมาศึกษาทั้งใต้ดิน ปริมาณฝนสะสม สภาพอากาศ ความต้องการน้ำของพืช มาประกอบทั้งหมด เพื่อให้แผนที่ชุดนี้ได้รับการยอมรับถึงความแม่นยำให้มากที่สุด” การศึกษาวิจัย เพื่อพัฒนาและสืบสานต่อยอดศาสตร์พระราชาฝนหลวง จึงเป็นพันธกิจสำคัญที่กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้เดินหน้าส่งเสริมบุคลากรในองค์กร รวมถึงแสวงหาพันธมิตรในวงวิชาการอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ศาสตร์พระราชาฝนหลวง กลั่นเป็นฝน ได้ถูกที่ ถูกเวลา ตรงความต้องการของประชาชน สมกับเป็น Smart rain making service