ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล ย่าจันทร์คือผู้หญิงที่มีจิตใจบริสุทธิ์งดงาม แม้จะเป็นเวลาสั้นๆ เพียง 3 ปีเศษที่ผมได้อยู่กับย่าจันทร์ ผมก็รู้สึกได้ลึกซึ้งว่า “ย่าจันทร์ไม่เหมือนใคร” แม้กระทั่งในเวลานี้ และคงจะรู้สึกเช่นนี้ไปตลอดชีวิตของผม ย่าจันทร์เป็นคนพูดเพราะ เสียงเบาๆ ไม่เคยตวาด ไม่เคยโมโห ไม่เคยหงุดหงิดแสดงอาการรำคาญ จะมีบ้างก็แต่อาการเสียใจ แต่ก็ไม่มากถึงขั้นตีโพยตีพาย เพียงแค่ดูซึมไปบ้าง แล้วก็สดชื่นคืนมาในเวลาไม่นาน ที่เป็นพิเศษสุดในความรู้สึกของผมก็คือ ย่าจันทร์มี “ความเมตตา” มากเป็นพิเศษ ไม่เพียงแค่กับคนและสัตว์ แต่รวมถึงต้นไม้และธรรมชาติรอบตัวนั้นด้วย เช้าวันแรกที่ผมตื่นขึ้นมา ในสายตาของคนแถวนี้ก็เป็นเวลาสายพอควร ย่าจันทร์เพิ่งใส่บาตรเสร็จ มีพระ 5 รูปเดินมารับบิณฑบาตทุกวัน เว้นแต่ในช่วงเข้าพรรษาที่ญาติโยมต้องไปใส่บาตรที่วัด ย่า(ที่ต่อไปนี้ผมจะเรียกว่า “ย่า” เฉยๆ เพราะมีความหมายรวมถึงความเป็น “ย่าจันทร์” ทุกอย่างนั้นแล้ว)ถามผมว่าหิวหรือยัง ผมบอกว่าต้องแปรงฟันอาบน้ำก่อน ย่าเลยพาไปเพิงที่ปลูกอยู่ข้างค้างพลูใกล้ๆ บ้านลุงพา ฝาเพิงเป็นไม้กระดานสามด้าน ด้านทางเข้าเป็นสังกะสี หลังคาก็เป็นสังกะสี ดูยังใหม่ๆ อยู่มาก ข้างในมีขนาดแค่เพียงพอดีตัวคนผู้ใหญ่ให้นั่งยองๆลงไป มันคือ “สุขา” หรือห้องปล่อยทุกข์แบบบ้านๆ ที่ยังใช้ไม้กระดานพาดหลุม แล้วทำความสะอาดด้วยกิ่งไม้แห้งหรือกาบมะพร้าว ความรู้สึกของผมจึงอิหลักอิเหลื่อมาก แต่ก็สัมผัสได้ถึง “ความใส่ใจ” ที่อยากจะให้เด็กกรุงเทพฯคนนี้ได้รับความสะดวกสบายอย่างดีที่สุด ย่าเก็บพลูและล้างด้วยน้ำในตุ่มที่เก็บไว้จากรางน้ำสังกะสีที่ต่อมาจากหลังคาบ้านลุงพา ตุ่มมีขนาดใหญ่ขนาดสักสองคนโอบ สูงราวอกผู้ใหญ่ มีอยู่ 4 ใบ และมีใบย่อมๆ สูงขนาดเอวอีก 2 ใบ เอาไว้ตักอาบ เพราะหน้าค้างพลูต่อเป็นพื้นไม้กว้างยาวสัก 1 วา ไว้ยืนอาบน้ำ รายรอบพื้นนี้ปลูกตะไคร้กับสะระแหน่ กับผักพื้นบ้านอีก 2-3 ชนิด เวลาที่ใครๆ อาบน้ำ ความชุ่มชื้นก็โปรยปรายไปสู่ต้นไม้เหล่านี้ด้วย พ่อไม่ได้ซื้อแปรงสีฟันและยาสีฟันให้ผม ย่าบอกให้ใช้เกลือกับนิ้วมือนี่แหละถูๆ บ้วนๆ ก็สะอาดใช้ได้เหมือนกัน พอผมจะอาบน้ำย่าบอกว่าถ้าไม่ได้ไปโรงเรียนไม่ต้องอาบน้ำก็ได้ คนที่นี้เขาอาบน้ำตอนเย็นครั้งเดียว ตอนเช้าก็แค่สีฟันแล้วเอาน้ำลูบหน้าลูบแขนพอให้สดชื่น แล้วก็ออกนาหรือไปทำธุระต่างๆ ได้ กลางวันถ้ามีเหงื่อหรือเหนียวตัว ก็ “ลูบหน้าลูบตัว” ได้ตลอดเวลา แต่ถ้าวันไหนมีงานบุญงานวัดก็จะอาบน้ำตอนเช้าในวันพิเศษนั้นด้วย รวมถึงเสื้อผ้าก็ไม่ได้เปลี่ยนใช้กันฟุ่มเฟือย แต่ละคนจะมีเสื้อผ้าอยู่สัก 3-4 ชุด ใส่สลับแล้วซักไปในแต่ละวัน ส่วน “ชุดเก่ง” ที่จะใส่ไปทำบุญหรือไปวัดนั้นก็มีอยู่เพียง 1-2 ชุดเท่านั้น ดีที่คนแถวนี้ใส่ผ้าสีพื้นๆ เป็นส่วนใหญ่ คือผู้ชายถ้าอยู่บ้านก็ใส่ผ้าขาวม้าสีทึมๆ ไม่ใส่เสื้อ ถ้าออกนาก็มีกางเกงผ้าฝ้ายย้อมสีดำๆ ขาสามส่วน คล้ายๆ กางเกง “ขาก๊วย” เอวพันด้วยผ้าขาวม้าผืนเก่ง ถ้าแดดจัดก็มีเสื้อผ้าฝ้ายย้อมสีมืดๆ สวมเข้าไป แล้วเอาผ้าขาวม้าพันม้วนเป็นหมวก ถ้าเป็นงานบุญหรือไปวัดก็ใส่โสร่งฝ้ายหรือไหมสายตารางเล็กๆ ตามฐานะ กับเสื้ออะไรก็ได้ที่ดูสะอาดๆ สีสว่างๆ ให้ดูสดใสมากกว่าวันทั่วๆ ไป สำหรับผู้หญิงถ้าเป็นสาวๆ ที่ยังไม่แต่งงานก็อาจจะแต่งตัวให้มิดชิดสักหน่อย สีสันก็ดูสดสวยมีลวดลายบ้าง รวมถึงผ้าซิ่นก็จะรวบขึ้นมาที่เอวให้ชายซิ่นดูสั้นสักใต้หัวหัวเข่าพองาม แต่ถ้าแต่งงานแล้วก็ไม่พิถีพิถันนัก บางคนอาจจะเปลือยท่อนบนถ้าอยู่ในบ้าน เวลามีใครมาเยี่ยมก็เอาผ้าขาวม้าหรือผ้าผืนมาพันปิดไว้ให้ดูเรียบร้อย แต่เวลามีงานบุญหรือไปวัดก็ “เต็มที่” เหมือนกัน คือแม้จะสวยแข่งสาวๆ ไม่ได้ แต่ก็ต้องให้ “ดูดี” ที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ดีที่ว่าคนแถวนี้ “จนเสมอกัน” จึงไม่ค่อยมีใครใส่เครื่องประดับประกวดประชันอะไรให้อิจฉากัน แม้แต่รองเท้าก็ไม่นิยมใส่กัน ย่ามี “ชุดเก่ง” กับเขาเหมือนกัน แต่ย่าจะใส่ตลอดวัน และเวลาไปวัดหรือมีงานบุญก็ใส่ชุดเหมือนๆ กันนั้น คือซิ่นผ้าฝ้ายสีออกน้ำเงินหม่นๆ เสื้อสีขาวออกจะตุ่นๆ แต่ดูสะอาดเรียบ บางตัวมีลายเพราะเส้นด้ายทอให้มีลายตามแบบที่เครื่องจักรยุคนั้นจะทอได้ ย่าจะมีเสื้อ “พิเศษ” อยู่ 2-3 ตัว ซึ่งย่าก็จะเย็บขึ้นเองจากผ้าไม่มีลวดลาย สีอ่อนๆ เป็นเสื้อทรงกระบอกแขนสั้น คอปกปลายมนเล็กๆ กระดุม 4 เม็ด ส่วนผ้าซิ่นก็มีอยู่ 4-5 ชิ้น พวกที่ใส่ไปวัดนี้จะมีเชิงทอลายสวยงาม บางตัวเป็นผ้าไหม ซึ่งถ้าในหน้าแล้งชาวบ้านแถวนี้จะเลี้ยงไหมและทอผ้าไหมอยู่หลายบ้าน ส่วนมากจะทอไว้ใช้เอง ซึ่งย่าจันทร์ก็เป็นคนหนึ่งในจำนวนนั้น ทั้งยังได้ถ่ายทอดให้กับอาสุวรรณและอาแดงอีกด้วย ปู่กับลุงพาและอาแสวงสามีอาสุวรรณออกนาไปตั้งแต่เช้ามืด ป้าฝนภรรยาลุงพา อาสุวรรณกับอาแดงตามออกไปภายหลังเพราะต้องเตรียมอาหารไปส่ง ทั้งมื้อเช้าและมื้อกลางวัน ซึ่งมื้อเช้าก็จะเป็นน้ำพริกปลาร้าอย่างที่คนอีสานเรียกว่าป่นปลากับผักต้มเป็นหลัก ทานกับข้าวเหนียวมากๆ ก็อิ่มท้องทำงานได้นาน นาของปู่มีอยู่ราว 50 ไร่ยังไม่ได้แยกแบ่งให้ลูกคนใด ทุกคนจึงช่วยกันทำอย่างเต็มที่ ในปีนั้นน้ำท่าดีพอควร ดินที่ไถกลบฟางกลบหญ้าหลังเก็บเกี่ยวเมื่อต้นปีเจิ่งนองไปด้วยน้ำ พร้อมที่จะให้ไถคลุกฟางและหญ้าที่คงเน่าเปื่อยแล้วนั้นให้เป็นปุ๋ยอันอุดม เตรียมดินไว้ทำเป็นแปลงปลูกต้นกล้าข้าวบางส่วน และอีกส่วนหนึ่งรอดำนาภายหลังที่ต้นกล้านั้นได้ขนาดพอที่จะลงปักในดินต่อไป ชีวิตชาวนาเป็นชีวิตที่มีความสุข แม้จะต้องขึ้นอยู่กับฟ้ากับฝน แต่ทุกๆ คนที่บ้านหนองม่วงนี้ก็ “มุ่งมั่น” ในการทำนา เหมือนชีวิตทั้งชีวิตเกิดมาเพื่อผืนนานี้เท่านั้น