“วิษณุ” แจง ทางออก พ.ร.บ.งบประมาณฯ คือ คำวินิจฉัยศาลรธน. ชี้ รู้สึกได้ว่าเร็ว หลังศาลให้ชี้แจงภายใน 4 ก.พ. บอกเตรียมการในแง่ร้ายไว้แล้ว ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องวินิจฉัยร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 ว่า เมื่อศาลรับคำร้องไปแล้วก็ว่าไปตามกระบวนการ รอให้ผู้เกี่ยวข้องชี้แจงภายในวันที่ 4 ก.พ. โดยไม่มีกำหนดกรอบเวลา แต่การที่ศาลให้ชี้แจงในวันที่ 4 ก.พ.ทำให้รู้สึกได้ว่าเร็ว และเป็นเรื่องดีที่เร็ว ส่วนผลกระทบต่อร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ อาจมีบ้างเป็นธรรมดา แต่ไม่ถือว่าเป็นอุปสรรคใหญ่โตหรือเสียหายไม่ว่าคำวินิจฉัยจะออกมาในแนวทางไหน เพราะรัฐบาลเตรียมการในส่วนนี้เอาไว้แล้วทุกทาง นายวิษณุ กล่าวว่า ในวันที่ 4 ก.พ. กระทรวงการคลังจะเสนอมาตรการรองรับการใช้งบประจำและงบทั่วไปเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งมีการหารือกับส่วนที่เกี่ยวข้องแล้ว ดังนั้น งบประจำและงบลงทุนที่ผูกพันงบประมาณจะไม่ได้รับผลกระทบ ส่วนโครงการใหม่ที่ยังไม่เคยผูกพันงบประมาณ สำนักงบประมาณได้เสนอไว้ก่อนแล้วให้เดินหน้าเจรจาเตรียมการไว้ก่อน อย่าเพิ่งลงนาม เมื่อร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯประกาศใช้ได้จะลงนามได้ทันที ทำให้การดำเนินการเร็วขึ้น ยืนยันจะไม่เกิดความเสียหายต่อผู้รับเหมาก่อสร้าง คนงาน ผู้ใช้แรงงาน หรืออะไรที่หวั่นเกรงกัน เรื่องบประมาณล่าช้าเป็นเรื่องที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว ครั้งนี้ช้ามาแล้ว 4 เดือน หากจะช้าอีก 1-2 เดือนก็เป็นไปได้ ถือว่าครั้งนี้ช้ากว่าทุกครั้งที่ผ่านมา ผู้สื่อข่าวถามว่า มีการเตรียมการในแง่ร้ายไว้แล้วหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า แง่ร้ายต่องบประมาณตนนึกไม่ออก แต่แง่ร้ายต่อร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯนึกได้ แต่ได้เตรียมการในส่วนนี้ไว้แล้ว สามารถทำให้รวดเร็วได้ เมื่อถามถึงเรื่องที่ฝ่ายค้านตั้งข้อสังเกตกรณีไม่มีชื่อนางนาที รัชกิจปราการ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย อยู่ในคำร้องที่ยื่นศาลรัฐธรรมนูญ นายวิษณุ กล่าวว่า ตนไม่ทราบ แต่ตามกระบวนการของศาล หากมีคำร้องเพิ่มเติมก็สามารถยื่นไปอีกคำร้องเพิ่มได้ ไม่ได้แปลกประหลาดอะไร เพียงแต่เข้าชื่อกันให้ถูกต้อง ซึ่งขึ้นอยู่กับศาลว่าจะรวมเป็นคำร้องเดียวกันหรือไม่ ปกติศาลจะรวม แต่อย่าไปทำให้ประเด็นมันแตกต่างกันออกไป หากประเด็นแตกต่างศาลจะแยกเรื่อง เมื่อถามว่า หากคำวินิจฉัยออกมาในช่วงปิดสมัยประชุมสภาฯ นายวิษณุ กล่าวว่า การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ หากอยู่ในช่วงปิดสมัยประชุมสภาฯ ครม.สามารถออกเป็นพระราชกฤษฎีกาขอเปิดประชุมสมัยวิสามัญได้ในกรณีหากจำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยสภาฯ และใช้วิธีนี้ในการดำเนินการ แต่ไม่คิดถึงวิธีที่ไม่ต้องขอเปิดสภาฯกันบ้างหรือ ส่วนมาตรา 143 ของรัฐธรรมนูญก็เป็นหนึ่งในหลายช่องทาง รวมถึงการออกเป็นพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ซึ่งคำร้องของ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลได้ยื่นทุกเรื่องทุกประเด็น ถามไปแม้กระทั่งว่าถ้าไม่ได้แล้วจะให้ทำอย่างไร ตนก็นึกไม่ออกว่าถามแบบนี้จะให้ศาลตอบอย่างไร และหากไม่ออกมาในทางมาตรา 143 ก็ยังมีอีกหลายช่องทาง เมื่อถามว่า ในฐานะรัฐบาลทางออกที่ดีที่สุดที่จะใช้ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯคืออะไร นายวิษณุ กล่าวว่า หากตอบคือการชี้นำ แต่มีคิดไว้ในใจแล้วทุกเรื่อง มันไม่ใช่เรื่องการหาช่องว่างหรือช่องลอดอะไร แต่ทางออกที่ดีที่สุดคือ ทางที่ศาลเป็นคนบอกแล้วรัฐบาลจะเดินไปทางนั้นอย่างรวดเร็ว มันจะจบได้ด้วยคำวินิจฉัยของศาล แล้วจะรู้ว่าต้องทำอย่างไร