มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ (มทร.สุวรรณภูมิ) คว้ารางวัล Silver Prize จาก Korea Invention Promotion Association และรางวัล Special Award for Innovation จาก King Abdulaziz University จากการประกวดสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมระดับนานาชาติ ในงาน Seoul International Invention Fair 2019 (SIIF 2019) ณ กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลีใต้ อาจารย์ชนะรบ วิชาลัย อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์และสถาปัตยกรรมศาสตร์ มทร.สุวรรณภูมิ เจ้าของผลงาน “นวัตกรรมเครื่องมือทดสอบการรับน้ำหนักของดินแบบอัตโนมัติ" ที่ได้รับรางวัลเปิดเผยว่า สิ่งประดิษฐ์ที่สร้างขึ้น เป็นเครื่องมือทดสอบการรับน้ำหนักบรรทุกของดิน สามารถเพิ่มน้ำหนักบรรทุกและอ่านค่าการทรุดตัวจากภายนอกหลุมทดสอบ เพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นต่อผู้ปฏิบัติงาน อีกทั้งเครื่องมือนี้ยังสามารถบันทึกค่าการทรุดตัว-น้ำหนักบรรทุกในตัวตามระยะเวลาที่ทำการทดสอบได้ ลดภาระการทำงานของผู้ปฏิบัติงานทดสอบ และยังสามารถเชื่อมต่อกับโทรศัพท์มือถือหรือแท็บเล็ทแบบไร้สายผ่านระบบบลูทูธได้ เครื่องมือนี้มีส่วนประกอบเป็นชุดแผ่นเหล็กรองรับน้ำหนักที่รับน้ำหนักบรรทุกที่ใช้ทดสอบ ซึ่งอาจเป็นน้ำหนักของเครื่องจักรกลหรือแคร่บรรทุกน้ำหนัก ที่ถ่ายน้ำหนักด้วยแม่แรงที่มีการป้องกันการเยื้องศูนย์ของน้ำหนัก โดยน้ำหนักที่ส่งผ่านจะถูกตรวจวัดด้วยอุปกรณ์ตรวจวัดน้ำหนัก หรือโหลดเซลล์ (Load Cell) เมื่อเกิดการทรุดตัวเกิดขึ้นระหว่างการทดสอบ ค่าการทรุดตัวที่เกิดขึ้นสามารถตรวจวัดได้จากชุดอุปกรณ์วัดการทรุดตัวที่ถูกติดตั้งอยู่โดยรอบของแม่แรง โดยด้านหนึ่งของอุปกรณ์วัดการทรุดตัวถูกติดตั้งเข้ากับคานระดับอ้างอิง ข้อมูลการทรุดตัวและน้ำหนักบรรทุกที่ตรวจวัดได้จะถูกส่งต่อเพื่อแสดงผลในหน่วยแสดงผลระยะใกล้ ซึ่งติดตั้งไว้ภายนอกหลุมทดสอบ ซึ่งหน่วยแสดงผลระยะใกล้นี้สามารถสื่อสารแบบไร้สายเพื่อแสดงผลในชุดควบคุมระยะไกลที่สามารถควบคุมการทำงานของปั๊มไฮดรอลิกส์ในการทดสอบแบบอัตโนมัติ ตลอดจนการบันทึกผลการทดสอบและส่งผลการทดสอบขึ้นบนคลาวด์ หรือแสดงผลบนอุปกรณ์สื่อสารอื่นๆ ได้ นอกจากนี้ ยังสามารถนำไปใช้ในการทดสอบการรับน้ำหนักของดินในการก่อสร้างฐานรากตื้นบนพื้นดินแข็ง (Plate Load Test) หรือใช้ในการทดสอบการทรุดตัวของเสาเข็มแบบสถิต (Pile Static Load Test) หรือการทดสอบซีบีอาร์ (California Bearing Ratio; CBR) ในงานก่อสร้างถนนได้ ตลอดจนสามารถลดอันตรายแก่ผู้ปฏิบัติการทดสอบการรับน้ำหนักบรรทุกของดินตามมาตรฐานของกรมโยธาธิการและผังเมืองได้ สามารถผลิตและจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ด้วยราคาที่ไม่แตกต่างจากชุดเครื่องมือทดสอบแบบปกติที่มีจำหน่ายในท้องตลาดปัจจุบัน สำหรับผู้สนใจ “เครื่องมือทดสอบการรับน้ำหนักของดินแบบอัตโนมัติ” สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คณะวิศวกรรมศาสตร์และสถาปัตยกรรม มทร.สุวรรณภูมิ ศูนย์สุพรรณบุรี โทรศัพท์ 089-183-1984