เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2563 ที่หอประชุมเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.2 ) เป็นประธานการประชุมตรวจติดตามการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) และการป้องกันแก้ไขปัญหาภัยแล้งในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยนายนิพนธ์ กล่าวตอนหนึ่งว่า ต้องขอขอบคุณสำหรับจนท.ทุกส่วนฝ่ายสำหรับการดูแลในช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมา ทำให้สถิติการเกิดอุบัติเหตุและการเสียชีวิตลดลงกว่าร้อยละ 20 และในปี 2563 เราจะใช้มาตรการที่เข้มข้น และต่อเนื่องตลอดทั้งปี วันนี้จึงขอให้ไปสำรวจถึงการทำงานที่ที่ผ่านมาว่ามีอะไรที่ต้องแก้ไขปรับปรุงเพิ่มเติมหรือไม่ เพื่อนำมาออกมาตรการต่าง ๆ มาใช้ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ต่อไป “สถานการณ์การติดตามการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน(PM 2.5) ว่า ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะผู้บัญชาการการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาตามกฎหมายและแนวทางกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ที่ได้วางมาตรการต่าง ๆ ให้กับทางจังหวัดตามแผนการปฏิบัติ ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดขับเคลื่อนแผนปฎิบัติการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองของกรมควบคุมมลพิษใน 3 มาตรา คือ 1.เน้นการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ 2.การป้องกันและลดการเกิดมลพิษที่ต้นทาง หรือแหล่งกำเนิด 3.การเพิ่มประสิทธิภาพ ระบบเครื่องมือ และกลไกการบริหารจัดการทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้อง โดยให้กำหนดมาตรการการแก้ไขปัญหาให้เหมาะสมกับภาคพื้นที่และสถานการณ์ เน้นมาตรการป้องกันและลดการเกิดมลพิษที่ต้นทาง เช่น ต้นกำเนิดจากยานพาหนะ มีการตรวจสอบควบคุมรถควันดำ กำหนดพื้นที่จำกัดเวลารถบรรทุกเข้ามาในพื้นที่มีปริมาณฝุ่นละอองเกินระดับมาตรฐาน จำกัดการเผา ห้ามเผาในที่โล่งแจ้งทุกชนิด และควบคุมดูแลโรงงานอุตสาหกรรมและการก่อสร้างในพื้นที่อย่างเข้มงวด ควบคุมให้เป็นไปตามกฎระเบียบต่าง ๆ ตลอดจนให้นายอำเภอเป็นผู้กำกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยเฉพาะ อปท.ในพื้นที่ที่ออกใบอนุญาตต้องส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจตรา ทั้งนี้ขอให้ใช้มาตรการทางกฎหมายควบคู่ไปกับการขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วน สร้างความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชนถึงสาเหตุของการเกิด ผลกระทบที่เกิดขึ้น และการป้องกันตนเอง” รมช. มหาดไทยกล่าว นายนิพนธ์ กล่าวต่อว่า ส่วนการแก้ปัญหาภัยแล้ง การขาดแคลนน้ำใช้ในการอุปโภค-บริโภคว่า ปัญหาภัยแล้งในปี 2563 รัฐบาลถือว่าเป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันในการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง โดยได้กำชับในเรื่องน้ำในการอุปโภค-บริโภคจะต้องไม่ขาดแคลนตลอดจนหาแหล่งหาน้ำสำรอง ร่วมถึงการเตรียมความพร้อมหาที่กักเก็บน้ำให้พี่น้องประชาชนไว้ใช้อุปโภค บริโภคอย่างเพียงพอ จากนี้ต่อไปอีก 4 เดือน (กุมภาพันธ์ - พฤษภาคม 63) เบื้องต้นให้จังหวัดสำรวจสถานการณ์น้ำในพื้นที่ ทั้งพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ พื้นที่ขาดแคลนน้ำ ตลอดจนแนวทางการแก้ไขปัญหา สำรวจแหล่งกักเก็บน้ำ บูรณาการแก้ไขปัญหาร่วมกันของทุกภาคส่วนเพื่อให้เกิดผลกระทบกับพี่น้องประชาชนน้อยที่สุด