กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ระบุแผนควบคุมน้ำเค็มสำเร็จตามเป้ามั่นใจคุณภาพน้ำไม่กระทบประชาชน พร้อมเร่งติดตามความพร้อมหากได้รับการจัดสรรงบกลาง 2 พันกว่าโครงการเสริมป้องพื้นที่ขาดน้ำ และพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กระดับหมู่บ้าน หวังเพิ่มแหล่งน้ำก่อนเข้าฝนไม่น้อยกว่า 130 ล้าน ลบ.ม.เสริมการจ้างงานทดแทนรายได้กระตุ้นเศรษฐกิจ เมื่อวันที่ 30 ม.ค. ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะทำงานภายใต้กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ว่า ที่ประชุมได้มีการติดตามความความก้าวหน้าการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากภาวะแล้งในปัจจุบัน และการเตรียมการสนับสนุนน้ำจากแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภคให้ครอบคลุมจนถึงวันที่ 30 มิ.ย.นี้ เนื่องจากการคาดการณ์ฝนขณะนี้ในทุกภาคของประเทศยังไม่มีแนวโน้มฝนมีเพียงบางพื้นที่ทางภาคใต้ที่มีฝนตกในระยะนี้ ขณะเดียวกัน ที่ประชุมได้รับทราบผลการแก้ไขปัญหาน้ำเค็มลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง ซึ่งพบว่าแผนการผันน้ำจากแม่กลองมาเจือจางน้ำเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี ค่าความเค็มไม่เกินเกณฑ์ควบคุมจึงไม่กระทบกับการผลิตน้ำประปา รวมถึงพื้นที่เกษตรด้วย จึงจะมีการพิจารณาแนวทางที่จะเพิ่มการระบายน้ำจากฝั่งตะวันตกมาเพิ่มเติมโดยไม่กระทบกับลุ่มน้ำแม่กลอง ก่อนจะปรับลดการระบายน้ำจากเขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิต์ จากปัจจุบันระบายน้ำจาก 2 เขื่อนรวมประมาณ 16 ล้าน ลบ.ม. อย่างไรก็ตาม เพื่อสงวนน้ำต้นทุนของทั้งสองเขื่อนไว้ให้มากที่สุดจนสิ้นสุดฤดูแล้ง โดยในวันพรุ่งนี้ (31 ม.ค.63) รองนายกรัฐมนตรี (พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ) มีกำหนดการลงพื้นที่ติดตามการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำ เพื่อแก้ไขปัญหาความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง พร้อมตรวจเยี่ยมปฏิบัติการผลักดันน้ำ และขุดลอกในคลองพระยาบรรลือ จ.พระนครศรีอยุธยาด้วย ขณะเดียวกัน ที่ประชุมได้รับทราบความก้าวหน้าจาก 5 หน่วยงาน ในการเสนอขอรับการจัดสรรงบกลางเพื่อปฏิบัติงานเพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ปี 2563 ช่วยเหลือพี่น้องประชาชนด้านน้ำอุปโภคบริโภค โดยล่าสุดมี 3 หน่วยงานเสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณจากสำนักงบประมาณแล้ว 3 หน่วยงาน ได้แก่ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมทรัพยากรน้ำบาดาล และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งแล้วเสร็จประมาณ 40% ขณะที่กองทัพบกที่อยู่ระหว่างดำเนินการขอรับการจัดสรรงบประมาณ แต่ก็ได้ดำเนินการขับเคลื่อนการขุดเจาะบ่อบาดาลในหลายพื้นที่แล้วเช่นกัน ทั้งนี้ หน่วยงานต่างๆ ได้มีการชี้แจงถึงแผนการแก้ไขปัญหาพื้นที่คาดการณ์เสี่ยงภัยแล้ง (เดิม) น้ำเพื่ออุปโภคบริโภค 54 จังหวัด ทั้งในและนอกเขตการประปาภูมิภาคที่มีแผนรองรับชัดเจนและไม่มีพื้นที่เสี่ยงเพิ่มเติม สำหรับพื้นที่การเกษตรที่มีการปลูกข้าวเกินแผนนั้น กระทรวงเกษตรฯ ได้เตรียมแผนสนับสนุนน้ำจากแหล่งน้ำใกล้เคียง เนื่องจากไม่สามารถจัดสรรน้ำจาก 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยามาสนับสนุนได้ รวมถึงสร้างความรู้ความเข้าใจกับเกษตรกรไม่ให้มีการปลูกเพิ่ม นอกจากนี้ ที่ประชุมมีการหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องซักซ้อมความพร้อมวางแผนดำเนินโครงการในปีงบประมาณ 2563 และ 2564 เบื้องต้นพบว่ามีโครงการที่มีความพร้อมและเริ่มดำเนินการได้ทันทีในพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำใน 57 จังหวัด ครอบคลุมทั้งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และน้ำเพื่อการเกษตร เช่น โครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลาง ขนาดเล็ก ประตูระบายน้ำ เป็นต้น ในปี 2563 จำนวน 1,434 โครงการ ประชาชนได้รับประโยชน์ 72,187 ครัวเรือน คิดเป็นพื้นที่ 166,316 ไร่ ปริมาณน้ำเก็บกักเพิ่มขึ้น 134 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งดำเนินการโดย 4 หน่วยงาน ได้แก่ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล การประปาส่วนภูมิภาค กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ รวมถึงเพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาน้ำแล้งเร่งด่วนได้อย่างตรงจุด สทนช. ยังได้ประสาน 3 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงทรัพยากรน้ำ ให้หน่วยงานต่าง ๆ เช่น กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล โดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สำรวจเสนอแผนงานโครงการที่มีความพร้อมเพิ่มเติมในระดับหมู่บ้านและตำบล ที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำและต้องการแก้ไขสร้างแหล่งเก็บกักน้ำ เช่น การปรับปรุงขุดลอกลำน้ำ ฟื้นฟูแหล่งน้ำธรรมชาติ ทำฝาย หรืออาคารควบคุม ที่สามารถเร่งรัดดำเนินการแล้วเสร็จภายใน มิ.ย. 2563 เพื่อเตรียมรองรับน้ำฝนนี้ และยังเป็นการสร้างงานในชุมชน ในการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากอีกมาตรการหนึ่งด้วยเช่นกัน