กสิกรไทยลุยธุรกิจในยุคความท้าทายรอบด้าน เดินหน้ายุทธศาสตร์ใหม่ จัดการความเสี่ยงเชิงรุก ผนึกพลังพันธมิตร เพิ่มศักยภาพระดับภูมิภาค ด้วยเทคโนโลยีระดับโลก เพื่อดูแลลูกค้าให้ดีที่สุดเสมอ ⦁พลิกโฉมยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนองค์กร ตั้งเป้าหมายเพิ่มอำนาจแก่ลูกค้าใช้ชีวิตและทำธุรกิจให้ดีที่สุด พร้อมรับมือยุคดิสรัปชั่น ด้วยบุคคลากรที่มีความสามารถควบคู่กับรูปแบบการทำงานที่คล่องตัวสูง ⦁ตอกย้ำจุดแข็งบริการธนาคารที่มั่นคง ไว้ใจได้ ด้วยวัฒนธรรมการจัดการความเสี่ยงเชิงรุก ดำรงความแข็งแกร่งทางการเงินของธนาคาร ระบบความปลอดภัย และป้องกันการทุจริตได้มาตรฐานสากล เตรียมใช้ AI เสริมประสิทธิภาพตรวจจับภัยไซเบอร์ พร้อมจัดการความเสี่ยงงานด้านเครดิตในมิติสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง ⦁ไปอยู่ทุกที่ที่ลูกค้าต้องการ ด้วยการผนึกพลังพันธมิตรเชิงลึก ให้ลูกค้าใช้บริการอย่างไม่มีสะดุดบนแพลตฟอร์มที่เชื่อมโยงระหว่าง K PLUS กับแพลตฟอร์มของพันธมิตร ทั้งแลกคะแนนสะสมบัตรเครดิต ซื้อสินค้าบน K PLUS เพิ่มบัตรสมาชิกแบรนด์ดัง ปล่อยสินเชื่อ ดันสินเชื่อบุคคลเพิ่ม 1.78 แสนล้านบาท ⦁ดูแลลูกค้าในโลกไร้พรมแดน CCLMVI ด้วย Digital Technology พร้อมแสวงหาพันธมิตรเพื่อเชื่อมต่อธุรกิจและตอบโจทย์ชีวิตชนชั้นกลางยุคใหม่ในภูมิภาคเอเชีย เผยอยู่ระหว่างเตรียมการยื่นขออนุญาตเพื่อการจัดตั้งบริษัทเทคโนโลยี KAITAI TECH ที่เซินเจิ้น สร้างนวัตกรรมบริการข้ามประเทศที่แข็งแกร่ง ⦁KBTG มุ่งสร้างความแข็งแกร่งของโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีและบุคลากร เพื่อให้บริการลูกค้าในทุกมิติของไลฟ์สไตล์ ตั้ง “KASIKORN X” สร้างรายได้ใหม่ให้แบงก์และสร้างฟินเทค ยูนิคอร์น บริษัทแรกของไทย พร้อมเป้าหมายเป็นบริษัทเทคโนโลยีอันดับหนึ่งของอาเซียน ในปี 2565 เตรียมงบลงทุนด้านนวัตกรรม เทคโนโลยี และด้านบุคลากรใน 3 ปีนี้ กว่า 17,000 ล้านบาท ประกาศยุทธศาสตร์ใหม่ เพิ่มอำนาจแก่ลูกค้าในการใช้ชีวิตและทำธุรกิจให้ดีที่สุด นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ภายใต้ปัจจัยทางเศรษฐกิจที่มีโจทย์ท้าทาย ควบคู่กับบทบาทของเทคโนโลยีที่ทำให้เกิดดิสรัปชั่นในหลายอุตสาหกรรมทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้การใช้ชีวิตของลูกค้าเปลี่ยนไปอย่างมาก ดังนั้นธุรกิจจำเป็นต้องปรับตัวอย่างรวดเร็วเพื่อความอยู่รอด รวมถึงการสร้างศักยภาพพร้อมที่จะแสวงหาโอกาสใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นในเวลาเดียวกัน ธนาคารกสิกรไทยจะส่งมอบพลังการขับเคลื่อนลงไปยังบุคลากรทุกภาคส่วนของธนาคาร เพิ่มทักษะจำเป็นในยุคสมัยใหม่ ส่งเสริมให้พนักงานมีความสามารถ และมีอำนาจในการทำงานที่ลื่นไหล คล่องตัว พร้อมมุ่งสู่เป้าหมายเดียวกันคือการเพิ่มอำนาจให้แก่ลูกค้าในการใช้ชีวิตและทำธุรกิจ ด้วยบริการที่เชื่อถือได้ สะดวก และเข้าถึงการใช้ชีวิตอย่างไร้รอยต่อ พร้อมรองรับการใช้งานข้ามประเทศและขยายโอกาสของผู้ประกอบการสู่ตลาดที่มีศักยภาพในระดับภูมิภาค เพื่อขับเคลื่อนสังคมและเศรษฐกิจของประเทศไทยให้เข้มแข็งและเดินหน้าได้อย่างมั่นคงเสมอ จัดการความเสี่ยงเชิงรุก ดูแลทุกมิติ เตรียมใช้ AI ตรวจจับภัยไซเบอร์ มองไกลความเสี่ยงต่อสังคม สิ่งแวดล้อม ให้สินเชื่อ และลงทุนภายใต้ ESG นายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย  เปิดเผยว่า ในขณะที่ความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีทำให้ผู้คนเข้าถึงบริการได้สะดวกและง่ายขึ้นทำให้ธุรกิจขับเคลื่อนไปอย่างรวดเร็วตลอดเวลา ความเสี่ยงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นควบคู่กับธุรกิจและไม่เคยหยุดนิ่งเช่นกัน (Risks never sleep) สร้างความกังวลให้แก่ลูกค้าธนาคาร 3 เรื่องหลัก คือ กังวลเรื่องความปลอดภัย (Secure) กังวลเรื่องความถูกต้อง (Correct) กังวลเรื่องความน่าเชื่อถือ (Trustworthy) ในการขับเคลื่อนธนาคารไปสู่เป้าหมายการเพิ่มอำนาจให้ทุกชีวิตและธุรกิจของลูกค้า สิ่งที่เป็นหัวใจสำคัญ คือ การจัดการความเสี่ยง สร้างความแข็งแกร่งของธนาคาร ลดความกังวลให้แก่ลูกค้า เพื่อที่จะพร้อมก้าวไปข้างหน้ากับธนาคารอย่างมั่นใจ ธนาคารกสิกรไทยเดินหน้า บริหารจัดการความเสี่ยงเชิงรุก (Proactive Risk Management) ควบคู่กับการปรับกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับบริบทที่เปลี่ยนไป จึงครอบคลุมทุกมิติการจัดการความเสี่ยงของธุรกิจ โดยธนาคารมีมุมมองในการจัดกลุ่มความเสี่ยง และแนวทางการบริหารจัดการที่เป็นมาตรฐาน แบ่งเป็น 3 แกนหลัก ดังนี้ 1) การจัดการความเสี่ยงพื้นฐานจากการให้บริการทางการเงิน (Banking Services) 2) การจัดการความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากบริการที่เป็นดิจิทัล (Digital Transformation) 3) การจัดการความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG Integration) ผนึกพันธมิตรสร้างบริการไปอยู่ทุกที่ที่ลูกค้าอยู่ ดันสินเชื่อบุคคลเพิ่ม 1.78 แสนล้านบาท นายพัชร สมะลาภา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ถึงแม้พฤติกรรมผู้บริโภคมีแนวโน้มใช้ดิจิทัลแบงกิ้งเพิ่มขึ้น โดยปริมาณธุรกรรมผ่าน K PLUS เพิ่มขึ้นกว่า 200% ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา แต่จำนวนการทำธุรกรรมผ่านช่องทางสาขายังมีปริมาณมากเช่นกัน โดยมีปริมาณเกินกว่า 100 ล้านรายการ และเป็นรายการที่เกี่ยวข้องกับเงินสดและการยืนยันตัวตนเพื่อเปิดใช้บริการธุรกรรมการเงินต่าง ๆ ที่สาขา (Authentication) ธนาคารจึงยังคงให้ความสำคัญกับความหลากหลายของช่องทางหรือแพลตฟอร์มต่าง ๆ ที่ลูกค้าใช้บริการ เพื่อให้ลูกค้าของธนาคารได้รับประสบการณ์ที่ดีที่สุด ตั้งเป้าทำให้บริการของธนาคารไปอยู่ในทุกที่ที่ลูกค้าต้องการใช้บริการทางการเงินต่าง ๆ จากความร่วมมือกับพันธมิตรในธุรกิจต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ทำให้ปัจจุบันนี้ ธนาคารและพันธมิตรสามารถให้บริการกับลูกค้าอย่างเต็มรูปแบบ ลูกค้าสามารถใช้บริการต่าง ๆ ได้อย่างไม่มีสะดุดบนแพลตฟอร์มที่เชื่อมโยงระหว่าง K PLUS ของธนาคารกสิกรไทยกับบนแพลตฟอร์มของพันธมิตร ได้แก่ 1) เชื่อมโยงการให้บริการระหว่างธนาคารกับลูกค้าของกลุ่มพันธมิตรด้วยโครงสร้างเทคโนโลยี ‘Powered by KBank’ เชื่อมต่อทุกอย่างให้ใช้งานได้อัตโนมัติจบในแอปพลิเคชันเดียว 2) เพิ่มศักยภาพการให้บริการบนแพลตฟอร์ม K PLUS 3) บริการสินเชื่อส่วนบุคคลแบบไม่มีหลักประกันบน K PLUS ทั้งนี้ ในปี 2563 ธนาคารตั้งเป้าหมายปล่อยสินเชื่อบุคคล (Consumer Lending) เพิ่ม 178,000 ล้านบาท เติบโต 30% จากปี 2562 คว้าโอกาสยุคแห่งเอเชีย ขออนุญาตจัดตั้งบริษัทเทคโนโลยี KAITAI TECH ที่เซินเจิ้น ออกแบบและสร้างนวัตกรรมควบคู่กับขยายช่องทางใน CCLMVI นายพิพิธ เอนกนิธิ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกที่มีปัจจัยท้าทายรอบด้าน ธนาคารเชื่อมั่นในศักยภาพของภูมิภาคเอเชียที่กำลังก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำขับเคลื่อนเศรษฐกิจของโลกโดยเฉพาะ CCLMVI ในปี 2562 เอเชียมีจำนวนชนชั้นกลางคิดเป็น 57% ของชนชั้นกลางทั้งโลก และคาดว่าในปี 2573 จะเพิ่มเป็น 67% ทั้งนี้ชนชั้นกลางกลุ่มนี้จะเป็นคนกลุ่มที่ใช้เทคโนโลยีมาตอบโจทย์การดำเนินชีวิต (New Middle Class) ประกอบกับเอเชียยังเป็นขุมกำลังสำคัญทางเทคโนโลยีของโลก พบว่า ในปี 2560 มีการยื่นขอสิทธิบัตรจากฝั่งเอเชียคิดเป็น 65% ของทั้งโลก มีสตาร์ทอัพยูนิคอร์นเกิดขึ้นในเอเชีย 33% ของทั้งโลก ทำให้เชื่อว่าเวลานี้เป็นโอกาสสำคัญที่นักธุรกิจไทยจะขยายตลาด นำสินค้าและบริการไปสู่ภูมิภาคอาเซียน +3 จัดโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยียุคใหม่ หนุนแบงก์เชื่อมต่อระบบกับพันธมิตรและตั้ง KASIKORN X สร้างฟินเทค ยูนิคอร์น บริษัทแรกของไทย นายเรืองโรจน์ พูนผล ประธาน กสิกร บิซิเนส – เทคโนโลยี กรุ๊ป หรือ (KBTG) เปิดเผยว่า โลกกำลังเข้าสู่คลื่นดิสรัปชั่นรอบใหม่อีกครั้ง ที่ผู้เล่นขนาดใหญ่อย่างธนาคารกำลังจะกลายเป็นฟินเทคได้ด้วยโมเดลการพัฒนาบริการแบบ Open Banking ที่เปิดรับการนำไอเดียและเทคโนโลยีแบบฟินเทคที่ประสบความสำเร็จสูงเข้ามาเชื่อมต่อ ภายใต้ข้อได้เปรียบด้านความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานของเทคโนโลยี หัวใจหลักในการทรานสฟอร์มของธนาคารกสิกรไทยในยุคนี้ คือ การผสานความแข็งแกร่งของธนาคารเข้ากับความสามารถทางด้านเทคโนโลยีได้อย่างลงตัว KBTG จึงเดินหน้าขับเคลื่อนแกนกลางความสามารถทางเทคโนโลยีของธนาคารกสิกรไทย (KBank’s New Digital Core, Powered by KBTG) ในแกนสำคัญ 3 ด้าน ดังนี้ วางรากฐานสถาปัตยกรรมและโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยียุคใหม่ (Modern Architecture and Infrastructure) ประกอบด้วย 1) ระบบคลาวด์ที่ผสมผสานการทำงานระหว่าง Private Cloud และ Public Cloud ได้อย่างรวดเร็ว (Hyper and Hybrid Multi Cloud) 2) การวางรากฐานสถาปัตยกรรมใหม่โดยยึดระบบการจัดเก็บข้อมูลที่มีความปลอดภัยขั้นสูงสุด (Security and Data Privacy Uncompromised) 3) การทำโครงสร้างด้วยโค้ดเพื่อการปรับเปลี่ยนอย่างคล่องตัว (Infrastructure-as-Code) การวางรากฐานและโครงสร้างใหม่นี้จะรองรับได้ถึง 3 เท่าของธุรกรรมสูงสุด รับมือกับการขยายตัวของการให้บริการแก่ลูกค้าของธนาคาร 20 ล้านคน ซึ่งในปี 2563 คาดว่าจะมีปริมาณธุรกรรมผ่านระบบจำนวนรวม 12,000 ล้านรายการ โดยเป็นธุรกรรมทางการเงินมากกว่า 3,000 ล้านรายการ เสริมบทบาทธนาคารในการเป็นเครื่องจักรขับเคลื่อนนวัตกรรมและเทคโนโลยี AI (Enable KBank to become AI and Innovation Factory) KBTG สร้างขีดความสามารถใหม่เทียบเคียงบริษัทฟินเทคยักษ์ใหญ่ระดับโลกโดยผสานแพลตฟอร์มของข้อมูลและเทคโนโลยีเข้าด้วยกัน (Data and AI Pipeline) และกระบวนการจัดการนวัตกรรม (Innovation) เพื่อเร่งสปีดการผลิตสิ่งใหม่ ๆ ให้ธนาคารกสิกรไทย สนับสนุนการพัฒนาบริการของพันธมิตรด้วยการเปิด API รับการเชื่อมต่อเข้ากับระบบบริการของธนาคาร (Open Banking API) ปัจจุบันมีการเปิดรับการเชื่อมต่อสำหรับบริการหลากหลาย อาทิ การเชื่อมต่อเข้าสู่บริการชำระเงิน Pay with K PLUS (Pay with K PLUS API) เชื่อมต่อเข้าสู่บริการชำระเงินด้วยคิวอาร์ โค้ด (QR API), เชื่อมต่อเพื่อยืนยันตัวตน (Authentication API), เชื่อมต่อบริการอี-วอลเล็ต (E-Wallet API) เป็นต้น ซึ่งในปัจจุบันมีพันธมิตรเชื่อมต่อ API กับระบบธนาคารกว่า 50 บริษัท นอกจากนี้ KBTG มีวิสัยทัศน์ที่จะเสริมความแข็งแกร่งทางเทคโนโลยีให้ล้ำไปอีกขั้นด้วยแนวทางการทำงาน ดังนี้ สร้างศักยภาพให้เป็นมากกว่าธนาคาร (Beyond Banking) คือการเป็นธนาคารอัจฉริยะที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลและตอบโจทย์ของลูกค้าในทุกมิติของไลฟ์สไตล์ทั่วประเทศ (Data-Driven Cognitive Bank) โดยมีเทคโนโลยีที่พร้อมรองรับการพัฒนาแบบเต็มรูปแบบ จากเทคโนโลยี AI สู่เทคโนโลยีขั้นสูง (Beyond AI Deep Tech Capability) ด้วยการสนับสนุนงานวิจัย และเปิดการเชื่อมต่อกับพันธมิตร (Open Tech Capabilities) เพื่อนำเทคโนโลยีที่มีความซับซ้อนไปผลิตนวัตกรรมและบริการที่เป็นประโยชน์ เช่น การร่วมมือกับ NECTEC และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในการวิจัยเรื่อง Thai NLP เป็นต้น มุ่งสู่การเป็นองค์กรเทคโนโลยีระดับภูมิภาค (Beyond Thailand – Towards Regional Tech Organization) ตามที่ธนาคารกำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการเพื่อเตรียมยื่นขออนุญาตในการจัดตั้ง ไคไต้ เทค ที่เมืองเซินเจิ้น ซึ่งเป็นที่ตั้งของสตาร์ทอัพจีนที่มีศักยภาพทางด้านนวัตกรรมที่ล้ำหน้าจำนวนมาก แหล่งรวมบริษัทพัฒนาซอฟท์แวร์และเทคโนโลยีกว่า 300 บริษัท และโอกาสในการเข้าสู่อีโคซิสเต็มซึ่งเป็นหัวใจหลักทางเทคโนโลยีของประเทศจีน ยกระดับการเติบโตแบบใหม่ ด้วยการตั้ง KASIKORN X หรือเรียกอีกชื่อว่า KX เพื่อทำหน้าที่เป็น New S-Curve Factory พันธกิจของ KX คือการสร้าง ฟินเทค ยูนิคอร์น บริษัทแรกของประเทศไทยด้วยโมเดลธุรกิจแบบสุดโต่ง ด้วยเป้าหมายในการสร้างแหล่งรายได้ใหม่ ๆ ให้กับกลุ่มธุรกิจทางการเงินของธนาคารกสิกรไทย บริษัทจะดำเนินธุรกิจอย่างเป็นอิสระจากธนาคารกสิกรไทย และ KBTG โดยมีวัฒนธรรมองค์กร รูปแบบการทำงาน สภาพแวดล้อม และผลประโยชน์ต่าง ๆ เช่น ผลตอบแทนแบบก้าวกระโดดที่เชื่อมโยงกับประสิทธิภาพการทำงาน เหมือนกับบริษัทสตาร์ทอัพ นายเรืองโรจน์ กล่าวตอนท้ายว่า การขับเคลื่อนทางเทคโนโลยีของธนาคารกสิกรไทยไปสู่อนาคตยุคดิสรัปชั่นรอบนี้ จะมี KBTG เป็นกำลังสำคัญ ด้วยเทคโนโลยีและบุคลากรที่มีความพร้อม เพื่อสร้างบริการที่ลูกค้าประทับใจและตอบโจทย์ให้ลูกค้าในทุกมิติของไลฟ์สไตล์ทั่วประเทศ พร้อมขยายศักยภาพสู่ภูมิภาค ไปจนถึงการจัดตั้ง KASIKORN X เพื่อเปิดรับโมเดลธุรกิจแบบฟินเทคอย่างเต็มรูปแบบ ตั้งเป้าหมายการเป็นบริษัทเทคโนโลยีอันดับหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภายในปี 2565 นี้ สำหรับเป้าหมายทางการเงินของธนาคารในปี 2563 ธนาคารตั้งเป้าสินเชื่อรวมเพิ่มขึ้น 4-6% ส่วนใหญ่มาจากสินเชื่อลูกค้ารายย่อย (Retail) ที่คาดว่าจะเติบโต 9-11% จากการนำข้อมูลมาใช้วิเคราะห์ในการปล่อยสินเชื่อ ส่วนสินเชื่อเอสเอ็มอี (SME) คาดว่าจะเติบโต 1-3% และสินเชื่อลูกค้าธุรกิจรายใหญ่ (Corporate) คาดว่าจะเติบโต 2-4% NIM จะลดลงเล็กน้อยเป็น 3.1-3.3% สอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ยในช่วงขาลง รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยจะลดลงที่ -5% ถึง -17% เป็นผลมาจากการบังคับใช้มาตรฐานบัญชีใหม่ TFRS 9 การเปรียบเทียบกับฐานที่สูงของรายได้จากการจำหน่ายหลักทรัพย์ และธุรกิจประกันที่ยังชะลอตัว ส่วน NPL Ratio เพิ่มขึ้นเป็น 3.6-4.0% เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ยังชะลอตัว และธนาคารปรับกลยุทธ์ในการจัดการ NPL โดยเก็บ NPL บางส่วนไว้บริหารจัดการเองหากคาดว่าจะได้รับการชำระคืนสูงกว่าในระยะยาว