พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กชื่อพันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง ระบุว่า... ‘ไวรัสโคโรน่า’ อู่ฮั่นประเทศจีนกับ ‘ท่าทีและการกระทำของรัฐบาล’ ที่เห็นคุณค่าชีวิตคนไทยสำคัญน้อยเกินไป!!! พล.อ.ประยุทธ์ ตอบคำถามนักข่าวว่า จะสามารถไปรับคนไทยที่ตกค้างในอู่ฮั่นและในประเทศจีนได้เมื่อไหร่-อย่างไร? พล.อ.ประยุทธ์ ตอบว่า “ไม่เห็นมีใครอยากกลับ ไม่เห็นมีใครติดต่อสถานทูตมา” ทั้งที่ปรากฏจากสื่อว่า คนไทยที่ติดอยู่ที่อู่ฮั่นจำนวนไม่น้อย พยายามดิ้นรนหาทางจะกลับบ้านให้ได้ มีคลิปของคนที่ติดต่อไปสถานกงสุลก็มี เมื่อมีเสียงไม่พอใจ ต่อมาได้ให้โฆษกออกมาสัมภาษณ์ว่า พร้อมไปรับคนที่อยากกลับบ้าน รอแค่ทางการจีนอนุมัติ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้แสดงให้เห็นว่าการช่วยเหลือและความปลอดภัยของคนไทยมีความสำคัญที่สุด แต่ยังแสดงความเก่ง ความฉลาดว่า เรื่องดังกล่าวได้ “เตรียมการมาตั้งเดือน” เป็นคำพูดที่ท่านรู้ทุกเรื่องทุกอย่างที่เกิดขึ้นในโลก แต่สำหรับคนไทยที่ตกชะตากรรมในเมืองอู่ฮั่นประเทศจีน ญาติพี่น้องของคนเหล่านั้น และประชาชนส่วนใหญ่ ของประเทศ จะรู้สึกที่แตกต่างจากคำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ ดังกล่าว เหตุการณ์ที่คนไทยไม่ปลอดภัยของคนไทยในต่างประเทศไม่ใช่เกิดขึ้นครั้งแรกที่อู่ฮันประเทศจีน เคยเกิดขึ้นหลายครั้ง แต่รัฐบาลในอดีตได้ให้ความสำคัญและช่วยเหลือที่แตกต่างกับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ คือในอดีตได้แสดงท่าทีและการกระทำที่ห่วงใยและความพยายามในการช่วยเหลือคนไทยที่เห็นว่ารัฐบาลได้ “คำนึงถึงการให้การดูแลความปลอดภัยของคนไทยทุกคนเป็นสำคัญที่สุด” ขอยกตัวอย่างที่ส่วนตัวเคยรับทราบและกรณีหลังอยู่ในฐานะผู้ปฏิบัติการ ซึ่งกรณีศึกษา 2 กรณี คือ กรณีที่ 1 เหตุการณ์เผาสถานทูตไทยในกรุงพนมเปญ เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2546 หรือเมื่อ 16 ปีที่แล้ว ได้ทราบว่า เหตุจลาจลในพนมเปญ พ.ศ. 2546 เริ่มต้นขึ้นเมื่อบทความในหนังสือพิมพ์กัมพูชาฉบับหนึ่งกล่าวหาอย่างผิด ๆ ว่านักแสดงหญิงไทยคนหนึ่งอ้างว่านครวัดเป็นของประเทศไทยใน เดือน มกราคม พ.ศ. 2546 สื่อสิ่งพิมพ์และสื่อวิทยุกัมพูชาอื่น ๆ ได้หยิบยกเอารายงานดังกล่าวและปลุกความรู้สึกชาตินิยมเพิ่มขึ้นถึงขนาดนายกรัฐมนตรีกัมพูชา ฮุน เซน ได้ย้ำกล่าวถึงนักแสดงหญิงไทยคนดังกล่าวว่า "ไม่มีค่าเทียบได้กับใบหญ้าใกล้กับเทวสถาน" และต่อมาในวันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2546 รัฐบาลกัมพูชาสั่งห้ามรายการโทรทัศน์ไทยทั้งหมดในประเทศ จนทำให้เกิดการจลาจลในพนมเปญเมื่อวันพุธที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2546 ซึ่งสถานทูตไทยถูกเผาและมีการปล้นสะดมทรัพย์สินของธุรกิจไทยในกัมพูชา นายกทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้คำนึงถึงการให้การดูแลความปลอดภัยของคนไทยทุกคนเป็นสำคัญยิ่งได้สั่งการกับ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ตำแหน่งในขณะนั้น) ซึ่งได้รับคำสั่งจากนายกรัฐมนตรีให้ เป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ในการคลี่คลายสถานการณ์นี้ โดยเฉพาะการรับคนไทย จากกัมพูชากลับประเทศ ใช้ชื่อแผนปฏิบัติการที่เรียกว่า “โปเชนตง 1 และ 2” ที่มีการวางแผนทางยุทธศาสตร์และยุทธวิธีอย่างดี โดยมี พล.อ.วิชิต ยาทิพย์ ผู้ที่สนิทกับผู้นำทหารของกัมพูชาเป็นผู้ประสานงานติดต่ออำนวยการเดินทางด้วยตนเองเพื่อรับคนไทยกลับบ้าน ในทันทีทันใด แม้ทางการกัมพูชาจะรับรองว่าจะควบคุมสถานการณ์ แต่ นรม. ทักษิณฯ คำนึงถึงความปลอดภัยของคนไทยต้องมาก่อน ตัดสินใจใช้ 3 เหล่าทัพ เข้าปฏิบัติการในดินแดนกัมพูชา โดยรุ่งขึ้นวันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2546 เวลาประมาณ 05.15 น เศษ เครื่องบิน C-130 จำนวน 5 ลำ ที่มีคอมมานโดและหน่วยรบพิเศษ กระจายกันอยู่ทุกลำมุ่งสู่สนามบินโปเชนตง พนมเปญ นำคนไทยที่วางแผนไว้อย่างดีขึ้นเครื่องบินกลับไทย และต่อมา เวลา และวันที่ 30 มกราคม เวลาประมาณ 09.30 น.เศษ เครื่องบิน C-130 ได้บินกลับมาครบ 5 ลำ และเครื่อง G 222 ได้ลำเลียงคนไทยกลับประเทศลงจอดที่สนามบินกองทัพอากาศดอนเมือง พร้อมคนไทยจำนวน 511 คน เป็นชุดแรก โดยไม่มีผู้ใดเสียเลือดเนื้อ และบ่ายวันเดียวกัน เครื่องบิน C-130 อีก 2 ลำ นำโดยทีมปฏิบัติการเดิม บินไปรับคนไทยที่ตกค้างอีก 192 คน รวมทั้งเอกอัครราชทูตไทย ผู้ช่วยทูตทหารไทย และเจ้าหน้าที่สถานทูตไทยทั้งหมดจากกรุงพนมเปญด้วยความปลอดภัย เหตุการณ์ในเวลานั้น ผู้ช่วยทูตทหารไทยประจำพนมเปญคือ พันเอก วัลลภ รักเสนาะ ซึ่งต่อมา ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ.. เมื่อเหตุการณ์คลี่คลาย นายกทักษิณฯ กดดันให้กัมพูชาชดใช้ค่าเสียหายแบบไม่มีข้อแม้ เป็นเงิน 6 ล้านเหรียญสหรัฐ กรณีที่ 2 เหตุการณ์จลาจลในประเทศอียิปต์ เมื่อ พ.ศ.2556 หรือเมื่อ 6 ปีที่แล้ว เหตุการณ์ชุมนุมและเกิดความรุนแรงทางเมืองมีประชาชนอียิปต์เสียชีวิตมากกว่า 700 คน ซึ่งมีประชาชนและนักศึกษาไทยอาจจะรับผลกระทบและไม่ปลอดภัยขึ้น กล่าวคือ ในสมัย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นายสุรพงษ์ โตวิจักษ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และพลตำรวจเอกประชา พรหมนอก เป็นรองนายกรัฐมนตรี กำกับดูแลศูนย์อำนายการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ได้เกิดเหตุสถานการณ์ทางการความรุนแรงทางเมืองในประเทศอียิปต์ เริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2556 ซึ่งตรงกับวันครบรอบหนึ่งปีพิธีเข้ารับตำแหน่งของนายมุฮัมมัด มุรซี อดีตประธานาธิบดีอียิปต์ มีผู้ประท้วงหลายล้านคนทั่วประเทศออกมาตามท้องถนน สถานการณ์รุนแรงขึ้นเมื่อเกิดการเดินขบวนและการปะทะระหว่างผู้สนับสนุนและผู้คัดค้านรัฐประหารทั่วประเทศอียิปต์ สถานการณ์บานปลายเป็นวิกฤตการณ์การเมืองและรัฐธรรมนูญระดับชาติประชาชนล้มตายจำนวนมากทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยในชีวิตของประชาชน เหตุการณ์จลาจลในกรุงไคโร ประเทศอียิปต์ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีผู้ชุมนุมเสียชีวิตแล้วกว่า 700 คนนั้น มีคนไทยแจ้งความจำนงกับสถานทูตอียิปต์ เพื่อขอกลับประเทศไทย รัฐบาลในขณะนั้นห่วงใยความปลอดภัยของคนไทยแม้ยังไม่มีผู้ใดได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต แต่เนื่องจากมีผู้ชุมนุมชาวอียิปต์เสียชีวิตกว่า 700 ศพ รัฐบาลจึงได้สั่งการให้สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงไคโร เช่าเหมาลำเครื่องบินของสายการบินอียิปต์แอร์ ในวันที่ 18 สิงหาคม 2556 นำคนไทยกลุ่มแรกออกจากกรุงไคโร ไปยังนครดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โดยจะถึงนครดูไบและส่งต่อให้การบินไทย จำนวน 3 ลำ นำคนไทยชุดแรกกลับมาถึงไทยประมาณ 500 คน และวันที่ 19 สิงหาคม 2556 เครื่องบินลำเลียงแบบ ซี-130 ของกองทัพอากาศ จะนำคนที่เหลือชุดสุดท้าย ประมาณ 66 คน อย่างปลอดภัย ต่อมาเมื่อสถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติเหตุการณ์ในประเทศอียิปต์สงบ และพบว่ามีนักศึกษาจำนวนมากศึกษาที่มหาวิทยาลัยอัลอัซฮัซต้องกลับไปสอบในเดือนตุลาคม 2556 รัฐบาลจึงอนุมัติให้เช่าเครื่องบินเหมาลำของการบินไทยไปส่งยังประเทศอียิปต์ พร้อมกับส่งข้าราชการทุกส่วนที่เกี่ยวข้องเดินทางไปอียิปต์เพื่อประสานอำนวยการดูแลความปลอดภัยของคนไทยที่พำนักและศึกษาที่ประเทศอียิปต์ด้วย เหตุการณ์ความไม่ปลอดภัยของคนไทยในต่างประเทศทั้ง 3 กรณี ที่กล่าวมานั้น มีความแตกต่างกันซึ่งการแก้ปัญหาก็ตาม แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดเหมือนกัน คือ ภาวะผู้นำของผู้เป็นนายกรัฐมนตรี หรือผู้นำรัฐบาล ว่ามี “ความคิด” กับประชาชนอย่างไร ถ้าผู้นำรัฐบาลมีความคิด ว่า “การอยู่รอดของประชาชนมีความสำคัญที่สุดแล้ว” การแก้ปัญหามักใช้ “ความอยู่รอดของมนุษย์และความเป็นธรรมอยู่เหนือสิ่งใด ๆ” แต่ถ้าผู้นำรัฐบาลที่ไม่ไว้วางใจประชาชนเช่นรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ การแก้ปัญหาก็จะยึด “ความมั่นคงของรัฐบาลอยู่เหนือชีวิตมนุษย์และความเป็นธรรม” จึงกล่าวได้ว่าสิ่งที่ต้องระวังมากที่สุด คือ “ความคิด” ของผู้นำประเทศ เพราะ ความคิดนำไปสู่คำพูด คำพูดนำไปสู่การกระทำ การกระทำเมื่อทำซ้ำ ๆ จะนำไปสู่นิสัย นิสัยก็จะเป็นบุคลิกและพฤติกรรม หากเป็นความคิดของผู้นำประเทศ นอกจากส่งผลกระทบต่อชีวิตตัวท่านผู้นำเอง ยังจะส่งผลกระทบต่อสังคมและประชาชนทั้งหมดด้วย