วันนี้ (28 ม.ค.63) ที่ห้องประชุม การยางแห่งประเทศไทยสาขาเมืองนราธิวาส ตำบลบางนาค อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส นายอภัย สุทธิสังข์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่จังหวัดนราธิวาส เพื่อติดตามหารือด้านปศุสัตว์และติดตามสถานการณ์โรคใบร่วงยางพารา โดยมี นายชาตรี จันทรโรจน์วงศ์ ปศุสัตว์จังหวัดนราธิวาส นายพนัสพล โกสิยาภรณ์ ผู้อำนวยการการยางแห่งประเทศไทยจังหวัดนราธิวาส โดยมีหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องให้การต้อนรับ เพื่อติดตามสถานการณ์โรคใบร่วงยางพารา หลังจากการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครม .สัญจร เมื่อวันที่ 20 ม.ค. ที่ผ่านมา พร้อมทั้งติดตามโครงการและส่งเสริมอาชีพด้านการเกษตรจังหวัดชายแดนภาคใต้ นายอภัย สุทธิสังข์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า จากการพบโรคใบร่วงยางพารา ซึ่งเกิดจากเชื้อรา Pestalotiopsis sp. ที่ จ.นราธิวาส เมื่อเดือนกันยายน 2562 ที่ผ่านมานั้น การแพร่กระจายของโรคนี้เป็นไปอย่างรวดเร็วมาก เนื่องจากสภาพแวดล้อมด้านภูมิอากาศในพื้นที่นี้อยู่ในเขตร้อนชื้น และในช่วงนี้เป็นช่วงฤดูฝน มีความชื้นสูง เหมาะแก่การเจริญเติบโตของเชื้อราสาเหตุโรค จึงทำให้การแพร่ระบาดของโรคเป็นไปอย่างรวดเร็ว สำหรับพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากโรคชนิดนี้แล้วคือ จ.นราธิวาส (ทุกอำเภอ) เนื้อที่ 432,347 ไร่ นายอภัย ยังกล่าวอีกว่า สำหรับการป้องกันกำจัดโรค ใส่ปุ๋ยบำรุงสม่ำเสมอเพื่อสร้างความสมบูรณ์ให้แก่ต้นยาง เมื่อเกิดการระบาดของโรคจะทำให้ต้นยางสามารถสร้างใบใหม่ออกมาทดแทนใบยางที่ร่วงได้อย่างรวดเร็ว หากสังเกตเห็นต้นยางมีทรงพุ่มไม่สดชื่น ใบออกเหลือง ให้รีบตรวจสอบอาการของโรคบนใบ และใบยางที่ร่วง หากพบมีอาการของโรคให้รีบใช้สารเคมี เช่น เบโนมิล, แมนโคเซป, สารกลุ่มไตรอะโซล, ไทโอฟาเนต-เมธิล ฉีดพ่นทรงพุ่มให้ทั่วทั้งแปลง โดยใช้เครื่องฉีดพ่นสารเคมีแรงดันสูง หรืออาจใช้เชื้อจุลินทรีย์ เช่น ไตรโคเดอร์มา (ยังไม่มีรายงานการใช้) แต่มีข้อจำกัด คือต้องใช้ซ้ำบ่อยๆ หลายครั้ง สำหรับอาการโรคปากเท้าเปื่อย สัตว์จะมีอาการซึม ไข้สูง น้ำลายไหล มีเม็ดตุ่มใส พุพอง เกิดขึ้นภายในปาก ลิ้น เหงือก เพดานปาก ข้างแก้ม ซอกกีบต่อมาเม็ดตุ่มจะแตกเป็นแผล สัตว์แสดงอาการขาเจ็บ เดินกะเผลก น้ำลายไหลมากขึ้น มีแผลในปาก ลิ้น เท้า และหัวนม โดยทางปศุสัตว์มีการฉีดวัคซีนให้ฟรี งดการนำสัตว์เข้ามาเลี้ยงใหม่จากโคที่ไม่ทราบแหล่งที่มา หรือจากพื้นที่ที่มีโรคระบาด หลีกเลี่ยง ให้บุคคลภายนอกที่ไม่เกี่ยวข้องเข้าฟาร์ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งคอกเลี้ยงโคและโรงรีดนม เลือกซื้ออาหารจากแหล่งที่เชื่อถือได้ว่าไม่มีโรคปากและเท้าเปื่อยระบาด ที่สำคัญทำความสะอาดและทำลายเชื้อโรคที่โรงเรือน ถังนมและอุปกรณ์ต่างๆ