“ทีเอ็มบี” ผนึก “ธนชาต”รวมเป็นหนึ่งเดียวภายในเดือนก.ค.64 เตรียมเปิดชื่อแบงก์ใหม่มุ่งสู่ ONE DREAM,ONE TEAM,ONE GOAL ตั้งเป้าหมายเป็นธนาคารที่ลูกค้าชื่นชอบและบอกต่อมากที่สุด ย้ำลูกค้าไม่ได้รับผลกระทบ พร้อมให้ความสำคัญดูแลพนักงานอย่างเท่าเทียม จ่อควบ 90 สาขาบริการลูกค้าในปีนี้ นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทีเอ็มบี เปิดเผยว่า การรวมกิจการระหว่างทีเอ็มบีกับธนาคารธนชาตจะต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง คาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ภายในเดือนก.ค.64 ซึ่งจะมีการเปิดเผยชื่อธนาคารใหม่ ส่วนปีนี้จะเน้นไปที่ลูกค้าเป็นหลัก เพื่อตอบโจทย์ให้ลูกค้าของทั้ง 2 ธนาคารที่มีจำนวน 10 ล้านคนให้ได้มากที่สุด “ธนาคารทั้ง 2 มุ่งหน้าไปในจุดหมายเดียวกัน มุ่งสู่ ONE DREAM ภายใต้ ONE TEAM ที่แข็งแกร่งเป็นหนึ่งเดียว ตั้งเป้าหมาย ONE GOAL เป็นธนาคารที่คนชื่นชอบและบอกต่อมากที่สุด แม้ว่าปัจจุบันทีเอ็มบี เมื่อรวมกับธนาคารธนชาตจะอยู่ในอันดับ 6” นายประพันธ์ อนุพงษ์องอาจ ผู้จัดการใหญ่ธนาคารทีเอ็มบี กล่าวว่า เป้าหมายหลักของธนาคารตอนนี้คือ การรวมเป็นหนึ่งเดียวภายในเดือนก.ค.64 โดยลูกค้าต้องไม่ได้รับผลกระทบใดๆ ซึ่งธนาคารมีแผนที่จะเริ่มทยอยนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่เป็นจุดเด่นของแต่ละธนาคารให้ลูกค้าของอีกธนาคารได้รู้จักและทดลองใช้ และกลางเดือนก.พ.นี้จะเริ่มเปิดให้บริการ Co-Location/Co-Brand Branch ที่เป็นสาขาร่วมระหว่าง 2 ธนาคาร ซึ่งปีนี้วางแผนจะเปิดทั้งหมด 90 สาขาครอบคลุมจังหวัดหลักๆทั่วประเทศ เพื่อให้ลูกค้ามีความสะดวกมากขึ้นในการทดลองใช้ผลิตภัณฑ์ หรือบริการของทั้ง 2 ธนาคาร ขณะที่เดือนมี.ค.63 ลูกค้าทั้ง 2 ธนาคารจะได้รับความสะดวกจากการใช้บริการ ATM / ADM จำนวนกว่า 4,700 เครื่อง ฟรีค่าธรรมเนียมฝาก ถอน โอน ลูกค้าทีเอ็มบี ทัช สามารถทำรายการกดเงินไม่ใช้บัตรจากเครื่องของธนชาตได้ และบิลสินเชื่อบ้าน สินเชื่อรถยนต์ บัตรเครดิตของธนชาต ก็สามารถชำระได้ที่เครื่องของทีเอ็มบี สำหรับการโอนย้ายพนักงานจะมีการทยอยโอนย้ายเป็นระยะ โดยเริ่มที่กลุ่มผู้บริหารระดับสูง (C-Suite Level) ได้มีการรวมเป็นทีมเดียว เพื่อช่วยกันขับเคลื่อนการรวมกิจการให้เป็นไปอย่างราบรื่น รวมทั้งพนักงานธนาคาร ซึ่งทุกคนจะได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน ส่วนเรื่องสวัสดิการจะมีสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลที่ให้น้ำหนักกับเงินก้อนช่วยเหลือฉุกเฉินยามเจ็บป่วยด้วยโรคร้ายแรงที่ให้เงินสมทบเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund) ในอัตราที่สูงกว่าตลาด ให้พนักงานสามารถเก็บออมได้เพียงพอไว้ใช้ยามเกษียณ และพัฒนาทักษะของพนักงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถที่สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากดิจิทัลเทคโนโลยี