เมื่อวันที่ 27 ม.ค. ที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังเข้าประชุมถึงแนวทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วย 5G ว่า ที่ผ่านมารัฐบาลได้รับความร่วมมือจากกสทช.เป็นอย่างดีในการผลักดันให้ประเทศก้าวไปสู่ยุคดิจิทัลอย่างแท้จริง โดยวันนี้ตั้งใจมารับฟังความคืบหน้าการจัดการประมูลคลื่นความถี่เพื่อรับรอง 5G ใน 4 ย่านความถี่ คือ คลื่นย่าน 700, 1800, 2600 เมกะเฮิร์ตซ และ 26 กิกะเฮิร์ตซ วันที่ 16 ก.พ.2563 เพื่อที่ประเทศไทยจะต้องมี 5G ช่วยพลิกประสิทธิภาพ ทำให้เกิดประสิทธิผลในวงการธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม การบริการในอนาคตอย่างมาก ทังนี้ หากประเทศไทยล่าช้าจะทำให้นักลงทุนหันไปลงทุนในประเทศอื่นที่มีความพร้อมมากกว่า จึงจำเป็นในการปักหลักว่า ไทยมีความพร้อมด้านเทคโนโลยีเหล่านี้ ซึ่งควบคู่ไปกับการจัดตั้งโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เพื่อระดมนักลงทุน ดังนั้น จึงไม่ควรปล่อยโอกาสนี้ผ่านไป ซึ่งการประชุมในครั้งนี้ยังหารือถึงการต่อยอดการใช้งานให้เกิดประโยชน์ ในเชิงเศรษฐกิจ และสังคมภายหลังการประมูลคลื่นความถี่แล้ว กสทช.ต้องร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) และหน่วยงานอื่นๆ โดยเฉพาะภาคเอกชน เพราะเชื่อว่า หากภาครัฐขับเคลื่อนฝ่ายเดียวจะทำอะไรได้ไม่มากนัก จึงอยากขอให้ร่วมมือกัน ส่วนคลื่นความถี่ 4G ก็อยากให้เร่งรัดว่า อะไรที่สามารถต่อยอดอยากให้เร่งดำเนินการ โดยเรื่องนี้ได้กำชับไปยัง บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เป็นพิเศษ ทั้งนี้ กสทช. ระบุว่า ได้เสนอให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อน 5G ระดับชาติในทุกภาคส่วน เพื่อขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์จาก 5G อย่างเต็มที่ ดังนั้น การประมูลครั้งนี้ ไม่ได้เน้นที่มูลค่าจากการประมูล แต่เน้นที่การใช้ประโยชน์จาก 5G ในอนาคต ซึ่งหวังว่า การประมูลที่จะเกิดขึ้นภาคเอกชนจะให้ความร่วมมือ รวมถึงรัฐวิสาหกิจทั้ง 2 แห่ง ได้แก่ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือแคท และบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) จะให้ความร่วมมือในครั้งนี้ด้วย ยอมรับว่ารู้สึกหนักใจ เพราะในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจประเทศไทยดี แต่ปัจจุบันมีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้สะดุด ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ฟิลิปปินส์ เวียดนาม มาเลเซีย ต่างมีการลงทุนด้านดิจิทัล ซึ่งสัญญาณเศรษฐกิจไม่มีอะไรเลยที่จะไม่ผูกติดกับเทคโนโลยี นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการสำนักงานกสทช. กล่าวว่า การประมูลคลื่น5G ดังกล่าวกสทช.ได้ประเมินในเบื้องตันว่าจะทำให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจในปี 2563 ราว 177,039 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน1.02% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ (จีดีพี) และในปี 2564 ภาคเอกชนจะเพิ่มขนาดการลงทุนในคลื่น 5จี ทำให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจราว 332,000 ล้านบาท ในปี 2565 ผลของการประมูลคลื่น 5G จะเกิดมูลค่าเพิ่มอีก 476,000 ล้านบาท สำหรับโอเปอเรเตอร์ที่เข้าร่วมการประชุม 5 ราย ได้แก่ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (เอดับบลิวเอ็น) ในเครือบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส นำโดยนายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร, บริษัท ทรู มูฟเอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (ทียูซี) ในเครือ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) นำโดยนายอาณัติ เมฆไพบูลย์วัฒนากรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) ,บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด (ดีทีเอ็น) ในเครือบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค นำโดยนางอเล็กซานดรา ไรซ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร, บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือแคท นำโดยนายวิโรจน์ โตเจริญวาณิช รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานสื่อสารไร้สาย และบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) นำโดยนายพิพัฒน์ ขันทอง รองประธานกรรมการ รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่