เขตห้ามล่าฯเกาะลิบง ตรัง พร้อม ผู้นำชุมชน และชาวบ้านในพื้นที่ร่วมกันวางทุ่นกำหนดพื้นที่คุ้มครองหญ้าทะเล คุ้มครองพะยูน เร่งยกระดับคุ้มครองพื้นที่หญ้าทะเลทั้ง 18,000 ไร่ แหล่งอาหารพะยูนอย่างยั่งยืน ลดอัตราการตาย  วันที่ 27 มกราคม  2563 นายชัยพฤกษ์ วีระวงศ์  หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง นำเจ้าหน้าที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง, ตัวแทนประมงพื้นบ้าน และนายณัฐวัฒน์ ทะเลลึก ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 3 บ้านมดตะนอย ต.เกาะลิบง จ.ตรัง ร่วมกันนำทุ่นจำนวน 14 ลูก ออกไปวางบริเวณแนวเขตหญ้าทะเลพื้นที่บ้านมดตะนอย ซึ่งมีแหล่งหญ้าทะเลผืนใหญ่ และถิ่นหากินและอาศัยสำคัญของพะยูนในทะเลตรัง เพื่อกำหนดพื้นที่คุ้มครองแหล่งหญ้าทะเล คุ้มครองพะยูน ไม่ให้ได้รับผลกระทบจากการทำประมง  การท่องเที่ยว และการขนส่งสินค้าทางทะเล ท เดินหน้าบริหารจัดการคุ้มครองพื้นที่ให้เข้มข้นอย่างเป็นระบบและครอบคลุม เพื่อความยั่งยืนของทรัพยากรชายฝั่ง และสัตว์ทะเลหายากประเภท เต่าทะเล โลมา และพะยูน ซึ่งพะยูนฝูงใหญ่ที่สุดกว่า 180 ตัว อาศัยอยู่ในทะเลตรัง  ในบริเวณเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง  และเขตอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม  นายชัยพฤกษ์  วีระวงศ์  หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง   กล่าวว่า  การวางทุ่นในบริเวณพื้นที่บ้านมดตะนอย เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง จำนวน 14 ทุ่น ได้พื้นที่ประมาณ 500 ไร่  เป็นไปตามแผนบริการจัดการพื้นที่ให้หมดครอบคลุมหญ้าทะเล 18,000 ไร่  โดยขณะนี้เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบงดำเนินการไปได้แล้วรวมประมาณ  4,000 ไร่ แต่ได้กำหนดแผนการจัดการจะให้ครอบคลุมแหล่งหญ้าทะเลทั้งหมดในปี 2564  โดยสิ่งที่ได้คือ  จะได้เห็นแนวเขตหญ้าทะเลอย่างชัดเจน ผู้มีส่วนได้เสียในพื้นที่ ทั้งพี่น้องชาวประมง  เรือท่องเที่ยว หรือเรือขนส่งสินค้าทางทะเล จะได้สังเกตเห็นพื้นที่อย่างชัดเจน หากพบเห็นทุ่นจะได้รู้พื้นที่ขอบเขตหญ้าทะเล แหล่งอาศัยหากินของพะยูน เต่า โลมา สัตว์ทะเลหายาก   จะได้ระมัดระวังการใช้เครื่องมือประมงในพื้นที่ ซึ่งเขตห้ามล่าฯ นายชัยพฤกษ์ กล่าวอีกว่าืชาวบ้านได้ร่วมกันวางกติการ่วมกันแล้วจำนวน 10 ข้อ เช่น การห้ามใช้เครื่องมือประมงที่เป็นอันตรายต่อพะยูนหรือผิดกฎหมายบริเวณที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าทุกชนิด ห้ามขับเรือไล่ตามพะยูน ห้ามถ่ายภาพนิ่ง ภาพใต้น้ำ หรือถ่ายวีดีโอใต้น้ำที่เป็นการรบกวนพะยูนและสัตว์ป่าอื่นๆ ,การดูพะยูนจากกล้องส่องทางไกล  เป็นต้น   ทั้งนี้ เมื่อวางทุ่นชัดเจน  จะทำได้เห็นแนวทุ่นชัดเจนนับจากแนวทุ่นเข้าไปถึงฝั่งจะเป็นถิ่นพะยูน ลดอัตราการตายของพะยูน  คงความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรชายฝั่งทะเลตรัง และสร้างความมีส่วนร่วมของประชาชนในการอนุรักษ์พะยูนให้อยู่คู่กับทะเลตรังตลอดไป รองรับการผลักดันแผนพะยูนแห่งชาติของรัฐบาลต่อไป   "ทั้งนี้ หากพะยูนตายปีละไม่เกิน 5 ตัวต่อปี ปริมาณการเกิดไม่ต่ำกว่า 10 ตัวต่อปี จะทำให้พะยูนในทะเลตรังเพิ่มปริมาณขึ้นเรื่อยๆ   โดยในเขตห้ามล่าฯเองนั้น ทางเจ้าหน้าที่จะพยายามดูแลป้องกันร่วมกับพี่น้องชาวประมงพื้นบ้าน ในการคุ้มครองดูแล หากมีพะยูนตายเกิดขึ้นจะดูแล คุ้มกันไม่ให้ตายเกิน 3 ตัวต่อปี"นายชัยพฤกษ์ กล่าว   นายวิชญุตร์  ลิมังกูร นักสื่อความหมายธรรมชาติทางทะเล  กล่าวว่า เป็นความร่วมมือกันระหว่างกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ในการดูแลทรัพยากรทางทะเล กลุ่มสัตว์ทะเลหายาก มาเก็บข้อมูลการวางทุ่นว่าสามารถป้องกันภัยคุกคามที่จะเกิดกับพะยูนได้อย่างไรบ้าง ทั้งนี้ พบว่าเป็นข้อตกลงร่วมกันในทะเลว่า หากพบทุ่นนี้คือ พื้นที่อาศัย หากินของพะยูน เรือทุกชนิด รวมทั้งพี่น้องชาวประมงจะได้ระมัดระวังทั้งเรื่องเรือ ใบพัดเรือ   นอกจากนั้นจะมีการสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง  ชาวบ้านที่มีส่วนร่วมในการดูแลอนุบาลมาเรียมในช่วงที่ผ่านมา  เพื่อนำข้อมูลที่ได้ไปถอดบทเรียนมาเรียมโปรเจ็ค กำหนดทิศทางการดูแลพะยูนทั้งในขณะเกยตื้น แผนงานโครงการระยะยาวในการดูแลสัตว์ทะเลหายาก การบริหารจัดการพื้นที่โดยองค์รวมทั่วประเทศที่มีพะยูนอาศัย เสนอทั้ง 2 กรม เพื่อนำไปผลักดันตามแผนพะยูนแห่งชาติของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต่อไป