วันที่ 26 มกราคม 2563 ที่บริเวณบริเวณหน้าโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาห้วยโมง เจ้าหน้าที่ได้ได้เร่งขุดลอกบริเวณปากห้วยโมงเพื่อสูบแม่น้ำโขงเข้าสู่ห้วยโมง โดยปริมาตรน้ำในลำห้วยโมงอยู่ที่ 2.122 ล้าน ลบ.ม. ทั้งนี้ลำห้วยโมง (แม่น้ำโมง) ในขณะนี้มีปริมาณน้ำแห้งขอดจนบางช่วงสามารถเดินข้ามลำห้วยได้ ส่งผลให้เกษตรกรที่ต้องอาศัยน้ำจากห้วยโมงได้รับผลกระทบเป็นวงกว้างในหลายอำเภอของจังหวัดหนองคาย ซึ่งโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาห้วยโมง จะได้เร่งสูบน้ำจากแม่น้ำโขงเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและกลุ่มผู้ใช้น้ำในพื้นที่อำเภอท่าบ่อ, อำเภอโพธิ์ตาก และอำเภอศรีเชียงใหม่ โดยชาวบ้านที่อาศัยอยู่ริมห้วยโมงบอกตรงกันว่า ในปีนี้ลำห้วยโมงแห้งและตื้นเขินที่สุด ไม่เคยพบเห็นห้วยโมงมีสภาพแห้งขนาดนี้มาก่อนทั้งๆที่ยังไม่ถึงฤดูแล้ง ซึ่งชาวบ้านบอกตรงกันว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นเกิดจากการก่อสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขง อีกทั้งปลาหลายชนิดที่เคยจับได้ก็ไม่พบและหาปลาได้ยากกว่าที่ผ่านมา สำหรับผลกระทบตั้งแต่มีการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขง ได้ส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อผู้คนที่อาศัยแม่น้ำสายนี้ในการดำรงชีวิต ทุกคนที่ต้องอาศัยแม่น้ำโขง ทั้งคนเมือง ชนบท เริ่มได้รับผลกระทบหมด เมื่อน้ำโขงแห้ง จะทำให้แม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขงในทุกสายน้ำ ก็จะได้รับผลกระทบและแห้งลงอย่างรวดเร็ว เพราะน้ำในแม่น้ำสาขาเหล่านี้จะต้องไหลลงสู่แม่น้ำโขงอย่างรวดเร็ว และจะเป็นตัวเร่งทำให้เกิดภัยแล้งทั้งในภาคอีสานและทั่วอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง การแก้ปัญหาไม่ใช่การสร้างเขื่อนหรือฝายกั้นน้ำสาขา เพราะจะยิ่งซ้ำเติมสถานการณ์ให้เลวร้ายลงไปอีก ทางที่ดีคือรัฐบาลไทยต้องเจรจากับรัฐบาล สปป.ลาว ให้เขื่อนไซยะบุรีปล่อยน้ำลงมารักษาระบบนิเวศแม่น้ำโขงและแก้ปัญหาภัยแล้งให้กับพื้นที่ท้ายเขื่อนไม่เพียงแต่จะแก้ปัญหาภัยแล้งในภาคอีสาน แต่จะเป็นการแก้ไขปัญหาทั้งอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง. ภัทรวินทร์ ลีปาน หนองคาย