“ปิยบุตร” ชี้คนหนุ่มสาวคือคนที่มีพลังที่สุดในการเริ่มต่อต้านอำนาจที่ไม่ชอบ ชวนมองอำนาจในชีวิตประจำวัน ร่วมปฏิเสธอำนาจสู่การปลดปล่อย-เปลี่ยนแปลงสังคมไทย เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2563 ที่งานฟิวเจอร์เฟส 2020 จัดขึ้นโดยพรรคอนาคตใหม่ นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ขึ้นกล่าวในช่วง Leader Talk ในหัวข้อ “อำนาจและการเชื่อฟัง” นายปิยบุตรกล่าวว่าเรื่องที่ตนจะมาพูดไม่ได้เกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมโดยตรง แต่เกี่ยวกับเรื่องกลไกการทำงานของอำนาจและการเชื่อฟังอำนาจนั้น ซึ่งท่านจะเห็นได้เองว่ามันเกี่ยวข้องกับศิลปวัฒนธรรมอย่างไร ตนขอเริ่มต้นจากสามกรณีตัวอย่าง กรณีที่หนึ่ง สมมุติว่ามีข้าราชการจากกรมสรรพากร ทำคำสั่งบอกให้คุณไปจ่ายภาษีเพิ่มคนหนึ่งมาบอกให้เราจ่ายภาษีเพิ่ม ในขณะเดียวกัน มีพระมีนักบวชประกาศเรี่ยไรช่วยกันทำบุญให้วัดหน่อย อีกแบบหนึ่ง คนกลุ่มหนึ่งตั้งกันขึ้นมาแล้วเดินไปรีดไถร้านหาบเร่แผงลอย ทั้งหมดเหมือนกันคือการเอาเงินของเราไปให้อีกคนหนึ่ง ต่างกันตรงที่กรมสรรพากรทำตามกฎหมายเพราะเขามีอำนาจตามกฎหมาย แต่อีกสองอันไม่ได้ตั้งอยู่บนฐานกฎหมาย แต่อยู่บนฐานของความเชื่อทางศาสนา กับการยอมจ่ายมาเฟียเพราะความกลัว ทั้งสามอันคือการจ่ายเงิน ยอมจ่ายหมดเหมือนกัน แต่ด้วยคำอธิบายที่แตกต่างกัน กรณีที่สอง ตอนปี 56 มีการชุมนุมใหญ่ของ กปปส. อยู่ดีๆคุณสุเทพก็ประกาศว่าตอนนี้ยึดอำนาจไว้หมดแล้วขอเรียกให้ข้าราชการมารายงานตัว มีข้าราชการจำนวนมากมานั่งฟัง แต่ไม่มีใครมารายงานตัวจริงๆ แต่ 22 พฤษภาคม 57 อยู่ดีๆคณะรัฐประหารยึดอำนาจ เรียกข้าราชการรายงานตัว คราวนี้ข้าราชการไปกันทุกคน กรณีที่สาม คนเก้าคนขึ้นมานั่งคุยกันตรงนี้ ปรึกษาหารือว่าเรายุบพรรคมันดีกว่า ทำแบบนี้ยุบไม่ได้ แต่คนเก้าคนเดียวกัน ถ้าใส่ชุดครุยขึ้นนั่งบนบัลลังก์ แปะป้ายว่าศาลรัฐธรรมนูญ สามารถอ่านคำวินิจฉัยยุบพรรคยุบได้ ทั้งสามกรณีที่ตนพูดไปทั้งหมด มันคือปรากฏการณ์เรื่องอำนาจ แต่อำนาจทำงานต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของอะไรบางอย่าง อำนาจจะทำงานได้ต้องมีการเชื่อฟังก่อน ปรากฏการณ์เรื่องการใช้อำนาจกับคนเชื่อฟังตั้งอยู่บนพื้นฐานอะไรนักปรัชญาชาวเยอรมันชื่อแมกส์ เวเบอร์เคยอธิบายว่าอำนาจทำงานบนสามพื้นฐานต่างกันคือ ในบางยุคบางสมัยตั้งอยู่บนจารีตประเพณี บางยุคบางสมัยตั้งอยู่บนบารมี มาถึงยุคสมัยใหม่ตั้งอยู่บนเหตุผล ต้องตั้งอยู่บนกฎหมาย นายปิยบุตรกล่าวต่อ ว่าพวกเราเคยสงสัยหรือไม่ว่ากฎหมายและกติกาเกิดขึ้นได้อย่างไร กฎกติกามีมากเท่าไหร่ยิ่งจำกัดเสรีภาพขึ้นมากเท่านั้น ทำไมมนุษย์เลือกที่จะออกแบบกฎกติกาในการอยู่ร่วมกันให้รู้สึกรำคาญใจ นั่นก็เพราะทุกคนต้องการหลักประกันว่าการใช้เสรีภาพของทุกคนไม่กระทบเสรีภาพของคนอื่น ทีนี้กฎหมายทำงานได้ด้วยอะไร ถ้าตนหยิบกระดาษขึ้นมาเขียนแล้วบอกว่านี่คือกฎหมายทุกคนก็จะไม่เชื่อตน แต่ถ้ากฎหมายมาจากรัฐสภาที่ผู้แทนประชาชนทุกคนยกมือโหวตพวกเราเชื่อฟัง แต่ถ้านายทหารคนหนึ่งอยู่ดีๆโผล่ขึ้นมายึดอำนาจแล้วก็เขียนประกาศคำสั่งขึ้นมาแล้วบอกว่านี่เป็นกฎหมาย ทำไมพวกเราฟัง เราฟังเพราะเรากลัวปืนเรากลัวอำนาจ กลัวติดคุกติดตาราง ถ้าเกิดเราจะอาศัยอยู่ในสังคมแบบนี้ไปเรื่อยๆ นั่นหมายความว่าต่อไปนี้ใครมีกำลังมากที่สุดชนะ ถ้าเป็นแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆเรากำลังสนับสนุนให้สังคมไทยย้อนกลับไปเป็นยุคมนุษย์หิน คืออยากได้อะไรเอาไม้ตีกบาลลากเข้าถ้ำ มันกำลังจะบอกว่าสุดท้ายกำลังทางกายภาพใครแข็งแกร่งที่สุดคนนั้นชนะ ถ้าเป็นแบบนี้เราก็เหมือนสัตว์ป่าดีๆนี่เอง เรายอมรับคนที่อำนาจเยอะที่สุด ทีนี้ตามที่เวเบอร์บอกว่าอำนาจตั้งบนกฎหมาย เราจะทำอย่างไรให้กฎหมายมีความชอบธรรมที่สุด อย่าง พล.อ.ประยุทธ์เขียนคำสั่งแผ่นหนึ่งบอกว่าเป็นกฎหมายเราฟังเพราะเรากลัวปืน แต่เราออกกฎหมายมาหนึ่งฉบับโดยผู้แทนประชาชนที่เราเลือกไป เราเชื่อว่าอย่างน้อยมันเป็นกฎหมายที่ผ่านจากประชาชนมา เพราะฉะนั้นกฎหมายจะเป็นความชอบธรรมได้ต้องอาศัยอำนาจที่อยู่เบื้องหลัง นายปิยบุตรกล่าวต่อ ว่าดังนั้น กฎหมายจะสร้างความชอบธรรมได้อย่างยั่งยืนที่สุด ต้องประกอบด้วยสองเรื่อง คือการยอมรับนับถือ เกิดจากการมีส่วนร่วมกันในการตัดสินใจ ทำให้ประโยชน์ส่วนรวมดีขึ้น อีกอันหนึ่งคือต้องมีความยืดหยุ่น เปลี่ยนตัวเองได้ตลอดเวลาตามยุคสมัย ปรับตัวได้ตามช่วงเวลาต่างๆ ดังนั้นกฎหมายจึงไม่ใช่เรื่องที่สถิตตายตัว มันเป็นเรื่องที่จะต้องปรับตัวได้ตลอดตามช่วงเวลาต่างๆ ทีนี้พอเรามีเรื่องของอำนาจตามกฎหมายเกิดขึ้นแล้ว เราลองคิดต่อดูว่าระบอบเผด็จการเกิดขึ้นมาเดินหน้าทำงานได้ต้องมีกลไกรัฐ อย่างที่เกิดขึ้นคือ พล.อ.ประยุทธ์ตั้งตนเป็นใหญ่เขียนประกาศขึ้นมาฉบับหนึ่งห้ามชุมนุม ถ้าไม่มีใครไปจับคนชุมนุมทุกคนก็จะชุมนุมอีก เจ้าหน้าที่ของรัฐก็ต้องเข้าไปช่วย จึงจำเป็นต้องมีเจ้าหน้าที่ไปจับ คำสั่งการห้ามชุมนุมถึงมีผล บางครั้งเจ้าหน้าที่เหล่านั้นใช้ชีวิตอยู่รอบตัวเราเป็นปกติ บางทีเวลาไม่สวมเครื่องแลลยังเชียร์เราเลย แต่พอใส่เครื่องแบบแล้วต้องมาตามจับเรา นั่นแสดงให้เห็นว่าเมื่อไหร่ที่คนที่เป็นคนเหมือนเรา เมื่อไหร่ที่ไปเป็นกลไกรัฐ เจ้าหน้าที่รัฐ คุณพร้อมปฏิบัติตามคำสั่ง ทีนี้มันมีคำสั่งที่บ้าบอหลายเรื่องเต็มไปหมด พอคุณเป็นมนุษย์ปุถุชนคนธรรมดาคุณบอกว่ามันบ้าหรือเปล่าคำสั่งแบบนี้ แต่พอคุณเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐคุณบอกว่าคุณต้องทำ คำถามคือทำไมมีคนจำนวนมากที่รู้ว่าอะไรถูกอะไรผิด แต่ยอมเข้าไปรับใช้อำนาจเผด็จการ แน่นอนผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและอำนาจวาสนาเป็นการประเมินที่ง่ายที่สุด แต่มีเหตุผลอีกประเภทหนึ่งที่อธิบายยาก คือการไปเป็นเครื่องมือรับใช้เผด็จการโดยไม่รู้ตัว เหมือนหุ่นยนต์ สั่งให้ทำอะไรทำหมด ทั้งๆที่ในชีวิตปกติเป็นคนดีมาก นี่คือการที่ความชั่วร้ายกลายเป็นเรื่องปกติที่คนทำโดยไม่รู้ตัว แบบนี้น่ากลัวกว่าการรับใช้เผด็จการเพราะหวังประโยชน์มาก คนแบบนี้ยิ่งมีมากขึ้นเท่าไหร่ นั่นคือระบอบเผด็จการจะเริ่มแปลงตัวเป็นระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จมากขึ้น เพราะฉะนั้นมันมีคนสองระดับ วิชาสังคมศาสตร์จำเป็นที่จะต้องศึกษาให้ได้ว่ามนุษย์คนหนึ่งกลายไปเป็นกลไกสังหารของรัฐ ถอดความเป็นมนุษย์ออกไปได้อย่างไร สิ่งที่ตนเจอมากับตัวในฐานะกรรมาธิการกฎหมายและสิทธิมนุษยชน เราก็เคยเชิญพลตรีบุรินทร์ ทองประไพ ที่เคยรับใช้ คสช. เรียกตัวคนจำนวนมากมาสอบมาแจ้งข้อหา มาถามว่าการเรียกตัวการแจ้งข้อหาเหล่านี้ทำไปทำไม เหตุใดจึงไม่ดูข้อกฎหมายว่ามันเข้าเงื่อนไขหรือไม่ พลตรีบุรินทร์ตอบไปว่าผมเป็นเพียงฟันเฟืองตัวเล็กๆ นั่นหมายความว่าถ้าเรามีเจ้าหน้าที่ถืออาวุธที่ไม่มีความรู้สึกเลยว่าตัวเองทำอะไรอยู่ รู้แต่ว่าเขาสั่งต้องทำ นั่นหมายความว่าระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จได้ซึมเข้าไปในสมองของเขามากขึ้นทุกวันๆ ที่ตนพูดมาถึงตรงนี้ ก็เพื่อจะมาสู่ข้อสรุป ว่าอำนาจการเชื่อฟังทั้งหลายทำงานได้เพราะมีคนเชื่อฟัง เวลาเราพูดถึงศิลปวัฒนธรรมต่างๆ หรือแม้แต่เรื่องของคนรุ่นใหม่กับธุรกิจสตาร์ทอัพ เทคโนโลยีใหม่ๆ สิ่งเหล่านี้ไม่มีวันเกิดขึ้นได้เลยถ้าหากเราไม่มีสองสิ่งนี้ คือ ๑.พื้นที่ปลอดภัยที่จะยอมรับให้คนใช้เสรีภาพในการแสดงออก แล้วอดทนอดกลั้นกับคนที่คิดไม่เหมือนตนเอง กับ ๒.การประกันสวัสดิภาพสวัสดิการในชีวิตของเขา สองสิ่งนี้สำคัญ เพราะเมื่อไรที่คุณต้องการออกแบบสิ่งใหม่ๆ มันคือไม่เหมือนเดิม มันคือความเสี่ยงที่คุณต้องยอมรับ เมื่อความเสี่ยงเกิดขึ้น มันก็ต้องมีการประกันสวัสดิภาพให้เขาว่าต่อให้ขายไม่ได้เขาก็ยังใช้ชีวิตในสังคมปกติได้ เพราะฉะนั้นความเปลี่ยนแปลง นวัตกรรม เทคโนโลยีใหม่ๆจะเกิดขึ้นได้ ต้องสร้างพื้นที่ๆประกันความเสี่ยงให้กับคนเหล่านี้ นั่นคือเสรีภาพในการแสดงออก กับความอดทนอดกลั้นกับคนที่คิดต่าง กับเรื่องสวัสดิการ ถ้าไม่มีสองอันนี้ ศิลปินก็จะทำงานแบบเดิมไปเรื่อยๆ บทสรุปก็คือว่า ณ วันนี้ ประเทศไทยสังคมไทย เราบอกกันว่าเป็นสังคมอำนาจนิยม สังคมแบบนี้จะหมดไปได้ต้องเริ่มจากการไม่เชื่อฟังอำนาจ ถ้าเราเชื่อฟังอำนาจเหมือนเดิมอำนาจก็ยังทำงานได้ แต่ถ้าเราลองเริ่มต้นทดลองไม่เชื่อฟังอำนาจ ท้าทายอำนาจที่เป็นอยู่ ออกแบบควมคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ เชื่อว่าสิ่งที่ดีกว่านี้เกิดได้ ไม่เชื่อว่าอำนาจที่เป็นอยู่ต้องเชื่อฟัง ถ้าเราเริ่มทดสอบตั้งคำถาม เราก็จะเริ่มหันไปให้เสรีภาพในการไม่เชื่อฟังอำนาจ นั่นคือการใช้เสรีภาพที่สมบูรณ์ที่สุด นี่คือการใช้เสรีภาพในการไม่เชื่อฟัง เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง เพื่อนำไปสู่สิ่งที่ดีกว่า “การใช้เสรีภาพแบบนี้เสี่ยงภัย แต่จะนำไปสู่การปลดปล่อยและเปลี่ยนแปลง ผมเชื่อว่าเยาวชนคนคนหนุ่มสาวเป็นวัยที่มีพลังกับเรื่องเหล่านี้มากที่สุด สำคัญที่สุดตรงนี้คือต้องเริ่มตั้งหลักทดลองทดสอบดู ว่าการทำงานของอำนาจทำกันอย่างไร สิ่งที่เป็นอยู่ถูกต้องจริงไหม ต้องเริ่มตั้งคำถาม สิ่งที่ดีกว่าเป็นอย่างไร แล้วคิดหาทางออกร่วมกัน เพื่อปลดปล่อยสังคมไทย เปลี่ยนแปลงสังคมไทยไปสู่สิ่งที่ดีกว่า” นายปิยบุตรกล่าว