วันที่ 25 ม.ค.2563 กรุงเทพโพลล์โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ สำรวจความคิดเห็นประชาชน จากทุกภูมิภาคทั่วประเทศจำนวน 1,180 คนเรื่อง “วิกฤตการณ์ฝุ่นเกินค่า…ต้องฝ่าไปด้วยกัน” เมื่อถามว่าจากสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 เกินค่ามาตรฐานในประเทศไทยขณะนี้ประชาชนร้อยละ 33.5 ระบุว่าได้รับผลกระทบต่อสุขภาพ โดยร้อยละ 33.3 ระบุว่ามีอาการไอจามมีน้ำมูก รองลงมาร้อยละ 32.4 ระบุว่ามีอาการหายใจไม่สะดวก/หายใจได้ไม่เต็มปอด และร้อยละ 18.2ระบุว่ามีอาการแสบตาตาอักเสบตาแดง ทั้งนี้ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 51.5 เลือกวิธีป้องกันตนเองโดยการสวมหน้ากากอนามัยที่สามารถป้องกันฝุ่น PM 2.5 ได้ รองลงมาร้อยละ 30.3 ระบุว่าเลี่ยงเดินทางที่มีจราจรคับคั่ง/ไม่ออกนอกบ้านถ้าไม่จำเป็น และร้อยละ 12.6 ระบุว่างดกิจกรรม/การออกกำลังกายในที่โล่งแจ้ง พร้อมกันนี้เมื่อถามถึงความเห็นที่มีต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าควรมีมาตรการบริหารจัดการวิกฤตการณ์ฝุ่น PM 2.5 ในช่วงเร่งด่วนนี้อย่างไร ส่วนใหญ่ร้อยละ 57.6 ระบุว่า ควรงดปล่อยควันจากโรงงาน/การเผา/รถควันดำในช่วงนี้อย่างจริงจัง รองลงมาร้อยละ 54.1 ระบุว่าควรแจกอุปกรณ์ป้องกันฝุ่นโดยไม่มีค่าใช้จ่ายกระจายทุกพื้นที่ และร้อยละ 53.6 ระบุว่าควรตั้งหน่วยเฉพาะกิจมาบริหารจัดการแก้ปัญหาฝุ่นอย่างเร่งด่วนและมีอำนาจสั่งการจริงจัง อย่างไรก็ตามเมื่อถามถึงความเชื่อมั่นต่อมาตรการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ของรัฐบาลว่าจะช่วยแก้ปัญหาฝุ่นในระยะ 2-3 เดือนนี้ได้พบว่ามาตรการที่ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 79.7 เชื่อมั่นว่าจะสามารถช่วยแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ในช่วงนี้ได้ คือ สร้างการรับรู้และเข้าใจแก่ประชาชนเกี่ยวกับสถานการณ์ปัญหาฝุ่นละออง รองลงมาร้อยละ 60.2 คือมาตรการสนับสนุนการจัดโครงการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องสำหรับรถยนต์ดีเซลที่มีอายุเกิน 5 ปีเพื่อช่วยลดฝุ่นละออง และร้อยละ 55.8 คือมาตรการตรวจสอบโรงงานที่ทำให้เกิดฝุ่นละอองหากเกินมาตรฐานให้สั่งปรับปรุงแก้ไขหรือสั่งหยุดกิจการ