กรมพัฒนาที่ดิน ชูแผนปี 60 พัฒนากลุ่มเกษตรกรสู่การรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ พร้อมหนุนปัจจัยการผลิต และการันตีการสมัครขอรับรองมาตรฐานพืชอินทรีย์ได้ นายสุรเดช เตียวตระกูล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน นายสุรเดช เตียวตระกูล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า จากที่พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ให้ความสำคัญกับเกษตรอินทรีย์เป็นอย่างมาก เนื่องจากปัจจุบันผู้บริโภคส่วนใหญ่มุ่งเน้นด้านสุขภาพ และการรักษาสิ่งแวดล้อม ประกอบกับเกษตรอินทรีย์เป็นการทำเกษตรกรรม เพาะปลูกพืชที่ไม่ใช้สารเคมีหรือปุ๋ยอินทรีย์ เน้นการใช้อินทรียวัตถุและปุ๋ยหมัก ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยพืชสด และน้ำหมักชีวภาพ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์นวัตกรรมสารเร่ง พด.ของกรมพัฒนาที่ดิน ใช้การผลิตที่มีการจัดการการตลาดร่วมกับเทคโนโลยีได้อย่างลงตัว ดังนั้นจึงจำเป็นต้องได้รับการส่งเสริมสนับสนุนจากทุกภาคส่วน เพื่อให้เกษตรกรไทยสามารถแข่งในตลาดโลกได้ อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่า ในปี 2560 กรมฯ มีแผนงานที่จะพัฒนากลุ่มเกษตรกร ให้เข้าสู่ระบบมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ดังนั้น กรมฯ จึงได้จัดทำโครงการพัฒนากลุ่มเกษตรกรสู่การรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ขึ้น ระหว่างเดือนมกราคม-กันยายน 2560 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้การสนับสนุนกลุ่มเกษตรกรทุกจังหวัดที่มีความพร้อมและสมัครใจเข้าสู่การรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ซึ่งเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับองค์ความรู้เรื่องระบบการผลิตเกษตรอินทรีย์ตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของประเทศไทย ได้รับการสนับสนุนปัจจัยการผลิตต่างๆ เพื่อช่วยในการลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มผลิต จากกรมพัฒนาที่ดิน รวมทั้งการปรับปรุงบำรุงดินให้มีความอุดมสมบูรณ์ เพื่อที่เกษตรกรมจะได้ไม่มีการใช้สารเคมีหรือปุ๋ยเคมีในการผลิต โดยมีเจ้าหน้าที่ของกรมฯ เป็นที่ปรึกษาให้กับกลุ่มเกษตรกร และการถ่ายทอดองค์ความรู้การผลิตเกษตรอินทรีย์ตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ การขับเคลื่อนกระบวนการรับรองแบบมีส่วนร่วม PGS ให้กับกลุ่มเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ นายสุรเดช กล่าวอีกว่า สำหรับโครงการดังกล่าว มีเป้าหมายเกษตรกรที่มีศักยภาพและสนใจเข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 200 กลุ่ม เกษตรกร 1,000 ราย พื้นที่ 10,000 ไร่ แบ่งเป็น กลุ่มเกษตรกรกลุ่มใหม่ที่มีความสมัครใจเข้าร่วมโครงการ เป้าหมาย 150 กลุ่มเกษตรกร 750 ราย พื้นที่ 7,500 ไร่ และเกษตรกรกลุ่มเดิมที่สมัครใจเข้ารว่มโครงการ เพื่อให้กรมฯ สนับสนุนต่อยอดการดำเนินงานให้เข้าสู่กระบวนการรับรองแบบมีส่วนร่วม (PGS) เป้าหมาย 50 กลุ่ม เกษตรกร 250 ราย พื้นที่ 2,500 ไร่ "อย่างไรก็ตาม หลังจากเกษตรกรเข้าร่วมโครงการดังกล่าวแล้ว จะสามารถดำเนินการยื่นสมัครขอรับรองมาตรฐานพืชอินทรีย์กับกรมวิชาการเกษตร และมาตรฐานข้าวอินทรีย์กับกรมการข้าวได้ รวมทั้งกรมฯจะให้การสนับสนุนปัจจัยการผลิตทางการเกษตรที่จำเป็นสำหรับการผลิตในระบบเกษตรอินทรีย์ด้วย"นายสุรเดช กล่าว