"ณฐพร" ยื่นเพิ่มเติม จี้ "กกต." เร่งพิจารณา เสนอยุบ "อนาคตใหม่" ตามมาตรา 92 อ้างคำวินิจฉัยศาลรธน. ระบุที่ศาลยกคำร้องก่อนหน้านี้เป็นการพิจารณาตามมาตรา 49 เรื่องข้อบังคับพรรค ไม่ใช่เรื่องปฏิปักษ์ วันที่ 24 ม.ค.63 ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายณฐพร โตรประยูร อดีตที่ปรึกษาผู้ตรวจการแผ่นดิน และเป็นผู้ร้องคดีล้มล้างการปกครองตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 ที่ยื่นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ได้มายื่นหนังสือเพิ่มเติมต่อกกต.หลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยยกคำร้องในมาตรา 49 แต่ในมาตรา92 (2) ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.)ว่าด้วยพรรคการเมือง โดยณฐพร กล่าวว่า คำวินิจฉัยของศาลตอนหนึ่งระบุว่า หากมีการกระทำอันเป็นความผิดในกฎหมายอื่นก็ให้เป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆที่ต้องไปพิจารณาดำเนินการ ซึ่งความผิดตามพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองมาตรา 92 (2)ตนไม่มีอำนาจยื่นร้อง เพราะเป็นอำนาจหน้าที่ของกกต. ตนจึงจำเป็นต้องมายื่นร้องพร้อมหลักฐานมาส่งมอบให้กกต.ได้พิจารณาดำเนินการในความผิดฐานเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพื่อส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคอนาคตใหม่ ทั้งนี้ในคดีดังกล่าวเคยมีแนวคำวินิจฉัยของศาลไว้แล้วในคดียุบพรรคไทยรักษาชาติ ในมาตรา 92 (2) “แค่มีแนวคิดก็ถือว่าเป็นปฏิปักษ์แล้ว ซึ่งข้อความและถ้อยคำทั้งหมดที่ผมนำมายื่นร้อง ไม่ได้เกิดจากการตกแต่งแต่เกิดจากการกระทำของคณะกรรมกรรมบริหารของพรรคอนาคตใหม่ ผมต้องพิสูจน์ให้เห็นว่าคำร้องของผมไม่ใช่เรื่องไร้สาระ ยกตัวอย่างกรณีข้อบังคับพรรคถ้าผมไม่ยื่นร้อง ทุกอย่างก็จะเงียบไปทำอะไรไม่ได้ กรณีร้องยุบพรรคก็เช่นเดียวกัน ผมจึงมีความจำเป็นต้องดำเนินการให้สิ้นสุด ยื่นยันว่ารัฐธรรมนูญ มาตรา 49 กับกฎหมายพรรคการเมืองมาตรา 92 (2)นั้นต่างกัน ซึ่งมาตรา 49 เป็นเรื่องของการล้มล้างการปกครอง แต่มาตรา 92 (2) เป็นเรื่องของการเป็น ซึ่งเป็นหน้าที่ที่กกต.จะต้องดำเนินการ วันนี้ผมถือว่าทำหน้าที่สมบูรณ์ในฐานะพลเมืองแล้ว“ นายณฐพร กล่าว นายณฐพร ยังกล่าวอีกว่า เบื้องต้นจากที่ตนมายื่นร้องในเรื่องดังกล่าวไว้ กกต.ได้ตั้งอนุกรรมการขึ้นมาพิจารณา และได้เรียกตนมาให้ข้อมูลแล้ว ในวันนี้เอกสารที่ได้มายื่นเพิ่มเติมเป็นการบรรยายถึงพยานหลักฐานทั้งหมดที่เชื่อมโยงกับข้อกฎหมาย ว่าผู้ถูกร้องมีพฤติการณ์เป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองอย่างไร ถ้าได้อ่านก็จะเข้าใจ เช่น คำว่า 2475 มีที่มาที่ไปอย่างไร การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่รูปแบบเป็นอย่างไร การจะสถาปนารัฐธรรมนูญฉบับประชาชนมีความหมายอย่างไร ซึ่งข้อความทั้งหมดตนไม่ได้ตกแต่งขึ้นแต่เกิดจากการกระทำของผู้ถูกร้องทั้ง 4 เมื่อถามว่าการยื่นร้องที่ไม่สิ้นสุด อาจถูกมองว่าเป็นความพยายามที่จะยุบพรรคอนาคตใหม่ให้ได้หรือไม่ นายณฐพร กล่าวว่า ที่ผ่านมาการยื่นร้องเรื่องล้มล้างการปกครองถ้ามีคามผิดศาลก็แค่สั่งยุติการกระทำ แต่ความผิดฐานเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองโทษถึงถูกยุบพรรค โดยที่ผ่านมาศาลยังไม่ได้วินิจฉัยความผิดตามพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง และคำวินิจัยตอนหนึ่งของศาลรัฐธรรมนูญยังระบุด้วยว่า หากมีการกระทำความผิดอื่นใด ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการต่อไป ตนยังยื่นยันว่าไม่ได้โกรธเคืองหรือคิดล้มล้างเขา ในทางตรงกันข้ามตนก็ถูกโจมตีว่า มายื่นร้องเพื่อฟอกขาวให้พรรคอนาคตใหม่ ตนจึงต้องมาทำหน้าที่ครบถ้วน หลังจากวันนี้ก็ถือว่าจบหน้าที่แล้ว แค่ศาลวินิจฉัยให้แก้ข้อบังคับพรรคเพื่อไม่ให้เกิดความแตกแยกตนก็พอใจแล้ว สำหรับมาตรา92 (2) ของพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ระบุว่าคณะกรรมการมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า พรรคการเมืองใดกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ให้ยืนศาลรัฐธรรมนูญเพื่อยุบพรรคการเมืองนั้น การกระทำอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข