จนบัดนี้ยังไม่มีความชัดเจนอย่างใด อย่างหนึ่งปรากฎออกมาว่า “7พรรคฝ่ายค้าน” จะจับรัฐมนตรี คนใดขึ้นเขียง ซักฟอกกลางที่ประชุมสภาฯ ในญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจกันบ้าง เฉลยออกมาเพียง วัน เวลา ว่าดีเดย์จะยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายฯกับ “ประธานสภาฯ” ในวันที่ 29 ม.ค.63 นี้ แต่ดูเหมือนว่าสถานการณ์ทางการเมืองที่วนกลับมาสู่โหมดของความร้อนแรง วุ่นวาย ฉับพลัน กลับกลายเป็นการเปิดศึกระหว่าง “คนกันเอง” ของพรรคร่วมรัฐบาล แทน ! “นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ” รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ออกมาเปิดเผยข้อเท็จจริงต่อสาธารณชน ว่ามีส.ส.ของพรรคภูมิใจไทย ด้วยกัน2คนที่มีพฤติการณ์เสียบบัตรแทนกัน ในการโหวตลงมติผ่านร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 เมื่อวันที่ 10 ม.ค.ที่ผ่านมา และส.ส.2รายที่นิพิฏฐ์ ออกมาเปิดเผยได้แก่ ฉลอง เทอดวีระพงศ์ ส.ส.พัทลุง และ นาที รัชกิจประการ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ เพราะในเมื่อทั้ง 2 รายต่างไม่อยู่ในห้องประชุมฯแต่กลับมีการเสียบบัตรลงคะแนนแทนกัน ปัญหายังไม่ยุติลงเพียงเท่านั้น เมื่อประเด็นการเสียบบัตรแทนกัน ไม่ได้มีแค่คนของพรรคภูมิใจไทย แต่ยังมีส.ส.จากพรรคพลังประชารัฐอีก1ราย ได้แก่ “ภริม พูลเจริญ” ส.ส.สมุทรปราการ ที่ออกมายอมรับว่าได้เสียบบัตรแทน “ทวิรัฐ รัตนเศรษฐ” ส.ส.ของพรรค สิ่งที่เกิดขึ้นครั้งนี้ ดูท่าจะบานปลาย ลุกลามไปถึงร่างพ.ร.บ.งบประมาณ ฯ 2563 ว่าจะเป็นร่างกฎหมายการเงินที่ผ่านกระบวนการโดยมิชอบ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญด้วยหรือไม่ จนในที่สุด ได้มีการเข้าชื่อกันของส.ส.เพื่อยื่นเรื่องให้ “ชวน หลีกภัย” ประธานสภาฯ ส่งไปยัง “ศาลรัฐธรรมนูญ” เพื่อให้มีคำวินิจฉัยออกมา อย่างไรก็ดี ปัญหาภายในพรรคร่วมรัฐบาลที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้งหลายครา ก่อนหน้านี้ยังไม่น่าจะทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ เกิดอาการกลุ้มใจมากเท่ากับการที่ไปกระทบต่อการเดินหน้าใช้เงินงบประมาณ ประจำปี 2563 ที่จะล่าช้า และที่สำคัญยังส่อเค้าว่าจะกระทบต่องบการลงทุน ขยายผลไปยังการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ อันเป็นปัญหาใหญ่ ของรัฐบาลตั้งแต่เมื่อปี2562 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้หารือกับ “มือกฎหมายรัฐบาล”อย่าง “วิษณุ เครืองาม” รองนายกรัฐมนตรี เพื่อหาทางรับมือ เพราะเวลานี้ ทั้งฝ่ายค้านเองก็หันมา “เขย่า” รัฐบาลด้วยประเด็นที่ว่า เมื่อ “กระบวนการ” เกิดขึ้นโดยมิชอบ ร่างกฎหมาย ก็จะต้องเข้าข่าย “มิชอบ” ด้วยเช่นกัน โดยวิษณุ ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวว่า การเสียบัตรแทนกันถือเป็นความเสียหายร้ายแรง มีความผิด มีโทษ แต่ไม่ถึงขั้นเกิดผลกระทบน่ากลัวรุนแรง ไม่ถึง “ขั้นวิบัติ” “ที่ผมบอกว่าจะไม่เกิดผลกระทบน่ากลัวรุนแรง ที่ใช้คำว่าไม่ถึงขั้นวิบัตินั้น เป็นเรื่องของผลร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ ซึ่งเมื่อกระบวนการไม่ถูก การจะไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญมีสองอย่าง คือ 1. เนื้อหา และ 2. กระบวนการ ซึ่งในกรณีนี้เป็นเรื่องกระบวนการ ฉะนั้นการให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยจึงดีที่สุด” (23ม.ค.63 ) ในระหว่างที่ทุกฝ่าย ยังรอการพิจารณาและคำวินิจฉัยจากศาลรัฐธรรมนูญอยู่นั้น ใช่ว่าคลื่นลมภายในพรรคร่วมรัฐบาลจะนิ่งสงบไปด้วย ในทางตรงกันข้าม เมื่อ “ข้อเท็จจริง” กรณีส.ส.ในพรรคร่วมรัฐบาล ได้เสียบบัตรแทนกันปรากฎออกมาเป็นข่าวคราว และพรรคภูมิใจไทย พรรคพลังประชารัฐ ได้ “ออกแอคชั่น” จาก “แกนนำ”ในพรรคว่าไม่พอใจแล้วก็ตาม แต่ปัญหาและ รอยร้าวยังส่อเค้าว่าจะขยายบานปลายออกไป ถึง “บรรยากาศ” ในการอยู่ร่วมเป็นรัฐบาลว่า “คลื่นลม” ลูกเก่า ที่คนของพรรคประชาธิปัตย์ “ซัดเข้าใส่” รัฐบาล นั้น “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์” รองนายกฯและรมว.พาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคเอง ยัง “คุมไม่อยู่” ล่าสุดก็ยังเกิดความขัดแย้งขึ้นมารอบใหม่ มิหนำซ้ำครั้งนี้ยังบังเกิดผลต่อร่างกฎหมายการเงินฉบับสำคัญของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ เสียอีก จึงทำให้หลายคนเริ่มจับตา ว่าหากการปรับครม.รอบหน้า มีขึ้นหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ผ่านพ้น “สถานะ” ของพรรคประชาธิปัตย์ จะเป็นเช่นใด จะ “อยู่ยาก” หรือ “อยู่รอด” ได้ต่อวีซ่าในฐานะพรรคร่วมรัฐบาลกันต่อไป หรือไม่ !?