สดช. เปิดตัวแผนแม่บทด้านโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อเป็นกรอบการพัฒนาและยกระดับโครงสร้างพื้นฐานของประเทศในอีก 10 ปี ข้างหน้า เมื่อวันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2563 – สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) จัดงานแถลงข่าวประชาสัมพันธ์ (ร่าง) แผนแม่บทด้านโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีดิจิทัล ระยะ 5 ปี และระยะ 10 ปี ขึ้น ณ โรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นทารา ศูนย์ราชการ และคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้วัฒนะ เพื่อเผยแพร่และเปิดตัว (ร่าง) แผนแม่บทฯ ฉบับล่าสุดที่จัดทำขึ้น พร้อมเผยว่าสำนักงานฯ มุ่งหวังให้ แผนแม่บทฉบับนี้เป็นกรอบการดำเนินงานเพื่อยกระดับโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีดิจิทัลของประเทศ และนำพาประเทศสู่การมีโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่ทัดเทียมนานาประเทศ และประชาชนได้ใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานทุกครัวเรือน นางสาวพลอยระวี เกริกพันธ์กุล ผู้อำนวยการกองโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีดิจิทัล สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เปิดเผยถึงวัตถุประสงค์ของการจัดงานว่า “สดช. ได้ดำเนินการจัดทำ (ร่าง) แผนแม่บทด้านโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีดิจิทัล ระยะ 5 ปีและระยะ 10 ปี ขึ้น โดยเริ่มต้นการดำเนินการตั้งแต่เดือนเมษายน 2562 และได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีดิจิทัลของประเทศ ในการจัดทำแผนแม่บทฉบับนี้เป็นอย่างมาก” “โดยภาพรวม แผนแม่บทฉบับนี้เชื่อมโยงและสอดคล้องไปกับแนวทางตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 แผนปฏิรูปประเทศ ตลอดจนแผนและนโยบายระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และนโยบายและ แผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ (พ.ศ. 2562-2565) โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีดิจิทัลของประเทศใน 12 มิติ ซึ่งจะเป็นรากฐานสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลของประเทศ” ทั้งนี้ ภายในงาน มีการนำเสนอวิดีทัศน์เปิดตัว (ร่าง) แผนแม่บทฯ เป็นครั้งแรก อีกทั้งยังมีการบรรยายภาพรวมของ (ร่าง) แผนแม่บทด้านโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีดิจิทัล ระยะ 5 ปี และระยะ 10 ปี โดยทีมที่ปรึกษาของ สดช. โดยแผนแม่บทฉบับนี้ประกอบด้วย 5 ยุทธศาสตร์การพัฒนาที่สำคัญ ได้แก่ 1) ยุทธศาสตร์ที่ 1: การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีดิจิทัลด้านการติดต่อสื่อสาร แพร่เสียงและแพร่ภาพ มุ่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้เกิดการเข้าถึงและครอบคลุมทั่วทุกพื้นที่ของประเทศ ทั้งตัวเมือง พื้นที่ชนบท และพื้นที่ชายขอบที่ห่างไกล เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการประยุกต์ใช้และการใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐาน 2) ยุทธศาสตร์ที่ 2: การพัฒนาศูนย์ข้อมูลและการเชื่อมโยงไปยังต่างประเทศ เพื่อมุ่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านศูนย์ข้อมูล และการเชื่อมต่อระหว่างประเทศ เพื่อรองรับความต้องการใช้งานของภาคธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ และยกระดับประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการเชื่อมต่อในภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Digital Hub) 3) ยุทธศาสตร์ที่ 3: การพัฒนาบริการสำหรับโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อมุ่งพัฒนาบริการสำหรับโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการประยุกต์ใช้และการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ เช่น เทคโนโลยี 5G เทคโนโลยี IoT และเทคโนโลยี IIoT เป็นต้น 4) ยุทธศาสตร์ที่ 4: การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญทางสารสนเทศ เพื่อมุ่งพัฒนาและยกระดับ ความมั่นคงและความปลอดภัยทางไซเบอร์ให้แก่โครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีดิจิทัล รวมถึงสนับสนุนการดำเนินงานของหน่วยงานด้านโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญทางสารสนเทศ (CII) ให้มีความพร้อมต่อการป้องกัน ภัยคุกคามทางด้านไซเบอร์ 5) ยุทธศาสตร์ที่ 5: การพัฒนาระบบนิเวศเพื่อสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อมุ่งพัฒนาระบบนิเวศที่เหมาะสม ทั้งในด้านข้อมูล นวัตกรรม และทุนมนุษย์ เพื่อสนับสนุนการพัฒนา โครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีดิจิทัล นางสาวพลอยระวี กล่าวเพิ่มเติมว่า “สดช. ยังได้จัดทำ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีดิจิทัลขึ้นสำหรับการดำเนินการในระยะแรก ซึ่งประกอบด้วยแผนงานโครงการสำคัญ(Flagship Project) จำนวน 77 โครงการ โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อกำหนดแนวทางการดำเนินงานให้ชัดเจนสำหรับช่วง 5 ปีแรกของแผน โดยหลังจากนี้ สดช. จะนำเรียน (ร่าง) แผนแม่บทฯ และ (ร่าง) แผนปฏิบัติการฯ ให้แก่คณะอนุกรรมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล ก่อนนำเข้ารับการพิจารณาจากคณะกรรมการดิจิทัล เพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DE) และได้รับการประกาศอย่างเป็นทางการต่อไป”