เกษตรฯ เดินหน้าแก้ฝุ่นพิษ PM 2.5 หยุดเผาพื้นที่เกษตร ขยายเพิ่มจากกรุงเทพ-ปริมณฑล อีก 26 จว. สร้างเกษตรกรต้นแบบกว่า 1.5 หมื่นราย ชุมชนต้นแบบปลอดการเผาอีก 166 แห่ง ด้านรองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ระบุมวลเผาไหม้เศษซากพืช เป็น PM 10 ส่งผลกระทบสร้างมลภาวะให้เมืองหลวง 5 เปอร์เซนต์ เมื่อวันที่ 22 ม.ค. นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงมาตรการแก้ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM 2.5 กระทบสุขภาพประชาชนหลายจังหวัดของประเทศโดยเฉพาะในเขตกรุงเทพและปริมณฑล ที่บางส่วนมาจากการเผาเรือกสวนไร่นา ว่า นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ ได้เร่งรัดให้หน่วยงานรณรงค์สร้างกลุ่มเกษตรกร วิทยากร ในการลดละเลิก หยุดเผาเศษซากพืช วัชพืช ได้ขยายผลเพิ่มอีก 26 จังหวัด นอกเหนือจากรอยต่อพื้นที่กรุงเทพ และปริมณฑล ที่ผ่านมามีการสร้างชุมชนเกษตรปลอดการเผาต้นแบบ 210 แห่ง ใน 22 จังหวัด โดยกระทรวงเกษตรฯ ทำมาตั้งแต่ปี 2557 มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเมื่อไม่เผาแล้วสามารถนำเศษซากพืช วัชพืชไปทำเกษตรอินทรีย์ สร้างรายได้ให้กับชุมชน และเกษตรกร “มอบหมายให้กรมส่งเสริมการเกษตร เป็นหน่วยงานหลักร่วมกับหน่วยงานในสังกัดระดับพื้นที่ ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนเกษตรเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการเผาในพื้นที่เกษตร โดยสร้างการรับรู้ความเข้าใจแก่เกษตรกรจำนวน 15,720 ราย เพื่อสร้างเป็นวิทยากรด้านการทำเกษตรปลอดการเผารวมทั้งสร้างชุมชนปลอดการเผาต้นแบบ จำนวน 166 แห่ง ในพื้นที่ 26 จังหวัดเช่นภาคเหนือ จ.เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน น่าน แพร่ พะเยา ตาก และอุตรดิตถ์ และ 16 จังหวัด ที่มีการเผาในพื้นที่เกษตรที่สูง เช่น กาญจนบุรี กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ นครนายก นครพนม นครราชสีมา นครสวรรค์ บุรีรัมย์ ปราจีนบุรี พิจิตร เพชรบูรณ์ ร้อยเอ็ด ลพบุรี สกลนคร และอุดรธานี ตลอดจนประสานกับทุกภาคส่วน จัดงานรณรงค์ในท้องถิ่น เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ช่วงวิกฤติ หมอกควันภาคเหนือ รวมถึงทำแปลงนำร่องสาธิตเทคโนโลยีการจัดการเศษวัสดุทดแทนการเผา จึงมั่นใจว่าเกษตรกรจะมีความเข้าใจและคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการเผาในพื้นที่เกษตร”นายอลงกรณ์ กล่าว ด้านนายชาตรี บุญนาค รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯมาจากการเผาพื้นที่เกษตร 5 เปอร์เซ็นต์ เพราะลักษณะมลภาวะที่เกิดจากเผาเศษซากพืชวัชพืช เป็นฝุ่นPM 10 เป็นมวลขนาดใหญ่กว่า ซึ่งการรณรงค์ให้เกษตรกร ไม่เผาจะได้อินทรียวัตถุ มาเป็นปุ๋ยอินทรีย์ทำให้ลดต้นทุนได้ไร่ละ 700 บาท ที่ผ่านมามีการเผาลดลงถึง 80 เปอร์เซ็นต์ โดยรณรงค์มาต่อเนื่องจากปี 2557 แต่ในปีนี้อยู่ที่ 70 เปอร์เซ็นต์ เพราะมีการเผาเพิ่มขึ้นพบจากจุดฮอตสปอต 20-30 จุดในพื้นที่ทำนา จากเดิม 200 จุด เนื่องจากภัยแล้งมาเร็ว ดินแห้งมากไถไม่เข้า ไม่มีน้ำ ก็เผาทิ้ง “ปีนี้การเผาพื้นที่เกษตร เพิ่ม 5-10% ส่วนใหญ่พื้นที่ทำนา มีการเผาซัง เมื่อไปถามก็จะบอกไม่ได้เผา ไม่รู้ใครจุด จากนี้จะรณรงค์ให้เร็วขึ้นในเรื่องการไถกลบ เพราะรัฐบาล มีมาตรการช่วยเหลือในเรื่องค่าปัจจัยการผลิตให้กับชาวนา อยู่แล้ว ส่วนไร่อ้อย สถานการณ์การเผาดีขึ้นเรื่อยๆ โดยมีการรณรงค์จากทุกภาคส่วน ถ้าไร่ไหนเผาจะไม่รับซื้อราคาดี”นายชาตรี กล่าว