ชี้ปัญหาจราจร ทั้งรถบรรทุก รถโดยสารสาธารณะ รถกระบะเครื่องยนต์ดีเซลเก่าที่เผาไหม้ไม่สมบูรณ์ หรือรถดีเซลที่กลัวเครื่องไม่แรงพอ เร่งไม่ทันใจเลยอุดวาล์ว EGR แนะให้อาชีวะ สถาบันการศึกษาเป็นตัวกลางช่วยกันสร้างนวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ควบคุมการปล่อยควันดำจากโรงงานอุตสาหกรรม ชี้ปัญหานี้ระดับชาติ ต้องเร่งแก้ ยิ่งไม่ทำจะยิ่งทวีคูณ พร้อมส่งเสริมการใช้รถไฟฟ้า รศ.ดร.ธีร เจียศิริพงษ์กุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงที่มาของฝุ่นขนาดเล็ก หรือ PM 2.5 ที่ขณะนี้กำลังสร้างปัญหาให้กับคนกรุงเทพฯ ว่า ปัญหาฝุ่นพิษเกิดจากปัจจัยหลายสาเหตุ พื้นที่ กทม. ต้นเหตุมาจากปัญหาจราจร จากการเข้ามาของรถเครื่องยนต์ดีเซลที่ปล่อยควันดำออกมา ซึ่งควันดำหรือมลพิษเหล่านี้เกิดจากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์เพราะเครื่องยนต์ดีเซลใช้การอัดอากาศสำหรับการจุดระเบิด ในช่วงการระเบิดนั้นจึงเกิดการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ได้ง่าย แต่ในเครื่องยนต์เบนซินซึ่งมีการใช้หัวเทียนในการจุดระเบิด จึงทำให้สามารถเผาไหม้ได้สมบูรณ์มากกว่า อย่างไรก็ตาม ในรถเครื่องยนต์ดีเซลเองก็จะมีอุปกรณ์ที่ช่วยลดมลพิษ ที่เรียกว่า วาล์ว EGR ที่ทำหน้าที่นำไอเสียที่เหลือจากการเผาไหม้มาเผาไหม้ใหม่อีกครั้งเพื่อให้เกิดไอเสียที่มีมลพิษน้อยก่อนปล่อยสู่ท่อฟอกไอเสีย Catalytic Converter สำหรับรถบางรุ่น และส่งออกสู่อากาศภายนอกทางท่อไอเสีย อย่างไรก็ตาม ผู้ใช้รถดีเซลบางคนอุดวาล์ว EGR เพราะมีความเชื่อในเรื่องของกำลังเร่งของรถ ต้องการให้รถแรงขึ้น ซึ่งก็จะก่อให้เกิดปัญหาควันดำและมลพิษตามมาในที่สุด “จุดนี้หากเราต้องการให้เจ้าของรถมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาฝุ่นพิษอาจจะต้องมีมาตรการช่วยเหลือหรือสนันสนุนด้วย ระดมความรู้ในภาคการศึกษา อาชีวศึกษา อาจเป็นตัวกลางในการช่วยเหลือดูแลซ่อมบำรุงหรือสร้างนวัตกรรมให้กับรถเครื่องยนต์ดีเซลรุ่นเก่า โดยเอกชนหรือผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมรถยนต์ก็อาจจะมีส่วนร่วมหรือสนับสนุนอุปกรณ์ อย่างน้อยก็เป็นการลดปริมาณควันพิษให้ออกมาน้อยที่สุด จะโยนความรับผิดชอบทั้งหมดให้กับเจ้าของรถเพียงอย่างเดียวก็อาจจะหนักเกินไป เพราะปัญหาฝุ่นพิษที่เรากำลังเผชิญอยู่นั้นเป็นปัญหาระดับประเทศ ที่ทุกภาคส่วนต้องช่วยกัน” รศ.ดร.ธีร กล่าวอีกว่า นอกจากไอเสียจากรถเครื่องยนต์ดีเซลแล้ว ยังมีกลุ่มเผาหญ้าเผาขยะ และโรงงานอุตสาหกรรมที่อยู่ในพื้นที่ทั้งกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล สิ่งเหล่านี้ก็เป็นตัวการปล่อยควันดำ มลพิษซึ่งก็เกิดจากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ รัฐต้องเข้าไปตรวจสอบอย่างจริงจัง มาตรฐานโรงงานต้องเข้มข้น เพราะหากโรงงานสร้างปัญหาดังกล่าวก็ต้องปรับปรุงแก้ไขให้อยู่ในมาตรฐาน การแก้ปัญหาฝุ่นพิษนี้ในช่วงแรกคงต้องยอมรับแรงต้านบ้าง เพราะมันเกิดการเปลี่ยนแปลงซึ่งคงกระทบกับหลายฝ่าย แต่ถ้าไม่ลงมือทำอะไรเลยปัญหาก็จะยิ่งทวีคูณ ซึ่งตนเชื่อว่าประเทศไทยก็จะเจอกับวิกฤตฝุ่นพิษนี้ทุกปี ซึ่งเรารู้อยู่แล้วว่าปัญหาจะเกิดรุนแรงช่วงเวลาใดบ้างก็ต้องเตรียมการรับมือ บริหารเวลารถบรรทุกที่จะเข้าพื้นที่ กทม. รณรงค์ส่งเสริมการใช้รถไฟฟ้าอย่างจริงจังทั้ง รถจักรยานยนต์ รถยนต์ ไปจนถึงรถโดยสารสาธารณะ