ด้วยศิลปวัฒนธรรมทางด้านดนตรีและนาฏศิลป์เป็นศาสตร์อีกแขนงหนึ่งของการสื่อสาร การแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม และการศึกษาหาความรู้ให้เกิดความเข้าใจในเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของแต่ละชนชาติ ซึ่งความโดดเด่นของเพลงพื้นบ้านในจังหวัดสุพรรณบุรีที่ถูกถ่ายทอดโดยศิลปินคนท้องถิ่น ออกมาให้ได้ยินได้ฟังกันไม่ขาดสาย จนผลิตศิลปินด้านเสียงเพลงออกมามากมาย ทั้งเพลงพื้นบ้าน เพลงพ็อป เพลงร็อก เพลงเพื่อชีวิต จึงทำให้องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท.เห็นในอัตลักษณ์ที่โดดเด่น มีแนวคิดที่จะผลักดันจังหวัดสุพรรณบุรีให้เข้าร่วมเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์แห่งดนตรีขององค์การยูเนสโก ภายในปี 2564 โดยมีหัวเรือหลักคือจังหวัดสุพรรณบุรี องค์การบริหารส่วนจังหวัดสุพรรณบุรี (อบจ.) และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องทั้งหมดของจังหวัดสุพรรณบุรี ตลอดจนผู้คนและชุมชน ให้เข้ามามีส่วนร่วม และมาบูรณาการทำงานร่วมกัน สุพรรณบุรีเป็นซิตี้ออฟมิวสิค โดย นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. กล่าวว่า การประกาศความพร้อมที่จะเข้าสู่การเป็นเมืองสร้างสรรค์แห่งดนตรีในครั้งนี้ ทาง อพท. ได้เริ่มด้วยการจัดกิจกรรมสร้างการรับรู้ถึงการเดินทางเข้าสู่เป้าหมายการเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์แห่งดนตรีขององค์การยูเนสโก ด้วยการเชิญผู้รู้และผู้เชี่ยวชาญทางด้านดนตรีและนาฏศิลป์จากประเทศในอาเซียนมาจัดอบรมความรู้เชิงปฏิบัติการวัฒนธรรมดนตรี-นาฏศิลป์อาเซียนในภูมิภาค พ.ศ.2563 ซึ่งเวลานี้ประเทศไทยมีเมืองสร้างสรรค์อยู่ 4 เมือง คือ ภูเก็ต เป็นเมืองแห่งอาหาร เชียงใหม่ เป็นเมืองแห่งหัตถกรรม ศิลปะพื้นบ้าน สุโขทัย เป็นเมืองแห่งหัตถกรรม ศิลปะพื้นบ้าน และกกรุงเทพ เป็นเมืองแห่งดีไซน์ ส่วนเมืองที่ 5 เตรียมเมืองสุพรรณบุรี จัดทำเป็นเมืองแห่งดนตรี และจังหวัดน่าน เป็นเมืองแห่งหัตถกรรม ศิลปะพื้นบ้าน "เมื่อครูและบุคลากรด้านดนตรีและนาฏศิลป์ ได้เรียนรู้ ก็จะนำความรู้ที่ได้รับไปถ่ายทอดให้แก่เยาวชนรุ่นต่อๆ ไป เกิดเป็นความยั่งยืน โดยกิจกรรมครั้งนี้จะเป็นหนึ่งในอีกหลายๆกิจกรรมที่ อพท. มีแผนจะดำเนินการตอกย้ำในจุดแข็งทางดนตรีให้แก่จังหวัดสุพรรณบุรีนับจากนี้ไป เพื่อดึงศักยภาพจากฐานทุนทางวัฒนธรรมด้านดนตรีที่โดดเด่นของจังหวัดนี้ ให้เกิดเป็นการรับรู้ในระดับสากล" นายทวีพงษ์ กล่าว สำหรับ กิจกรรมนี้ จึงเป็นจุดเริ่มต้นการสร้างความรับรู้ให้แก่ภาคีเครือข่ายในกลุ่มประเทศอาเซียน เพื่อที่จะสนับสนุนเป้าหมายของประเทศไทยในการผลักดันยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนจังหวัดสุพรรณบุรีเพื่อเข้าร่วมเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์แห่งดนตรีขององค์การยูเนสโก เพราะเมื่อจังหวัดสุพรรณบุรีได้เข้าเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ด้านดนตรีก็จะเกิดการไหลเวียนของการเดินทางจากประเทศสมาชิกและภาคีเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์จากทั่วโลกกว่า 80 ประเทศ มาจัดกิจกรรม ประชุม สัมมนา ศึกษาดูงาน และทำกิจกรรมต่างๆ ของกลุ่มสมาชิก โดยประเทศไทยและจังหวัดสุพรรณบุรีจะถูกบรรจุในปฏิทินกิจกรรมขององค์การยูเนสโกต่อไป ปัจจุบันประเทศในภูมิภาคเอเชียและเอเชียแปซิฟิกที่เป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ขององค์การยูเนสโก้ด้านดนตรี เช่น อินโดนีเซีย อินเดีย จีน ญี่ปุ่น และเกาหลี เป็นต้น ขณะที่ความพร้อมของจังหวัดสุพรรณบุรี นอกจากฐานทุนทางวัฒนธรรมดนตรีและเพลง ยังมีความสะดวกเรื่องการเดินทาง ซึ่ง อพท. มีหน้าที่บูรณาการให้ทุกคนทุกภาคีในจังหวัดสุพรรณบุรี มีความเป็นหนึ่งเดียวและมีความพร้อมที่จะผลักดันการพัฒนาเมืองสุพรรณบุรีให้เป็นเมืองแห่งดนตรี สามารถยกระดับไปสู่เมืองการเข้าร่วมเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์แห่งดนตรีขององค์การยูเนสโกได้อย่างสมบูรณ์ หนึ่งในยุทธศาสตร์ของจังหวัด ด้านนายนิมิต วันไชยธนวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี ได้กำหนดเรื่องนี้เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ของจังหวัดอยู่แล้วคือ เรื่องของสิ่งเหล่านี้จะกระตุ้นในเรื่องของเศรษฐกิจ เพราะว่าตอนนี้ของจังหวัด จะขึ้นอยู่กับเกษตรทั้งหมด เพราะฉะนั้นจึงต้องดึง เรื่องของการท่องเที่ยวเข้ามา ทั้งนี้ในเรื่องของการท่องเที่ยว มองว่า ทางจังหวัดไม่มีทรัพยากรธรรมชาติ ดังนั้นจึงต้องสร้างขึ้น การสร้างขึ้นมาส่วนหนึ่งก็คือในเรื่องของการเป็นเมืองสร้างสรรค์ทางด้านดนตรีที่กำลังทำ ขณะที่การเป็นเมืองกีฬาที่ทำสำเร็จแล้ว ในเรื่องนี้ นายนิมิต กล่าวว่า ทางจังหวัดสุพรรณบุรี ทางองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. ได้มองจุดเดียวกัน เพราะฉะนั้นทั้งสามส่วนจึงร่วมกันทำงานในโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการวัฒนธรรมดนตรี-นาฏศิลป์อาเซียน พ.ศ.2563 เพื่อสร้างความรู้ให้แก่ครูและบุคลากรด้านดนตรีและนาฏศิลป์ของไทย เป็นเวทีของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านดนตรีของประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน เป็นกิจกรรมหนึ่งในการพัฒนาเมืองสุพรรณบุรีให้กลายเป็นเมืองสร้างสรรค์ทางด้านดนตรีให้ได้ โดยความพร้อมในการพัฒนาเมืองสุพรรณบุรีเข้าสู่เครือข่างเมืองสร้างสรรค์ ด้านดนตรีขององค์การยูเนสโก ซึ่งได้บรรจุเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์การพัฒนาเมืองของจังหวัด แล้วนั้น จะกลายเป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจภายในจังหวัด จากที่เคยพึ่งพาด้านการเกษตรแต่เพียงอย่างเดียว ก็จะหันมาดึงเอกลักษณ์ของท้องถิ่น สร้างความโดดเด่นด้านชาติพันธุ์ที่มีอยู่แล้ว เป็นกิจกรรมที่เกิดการรับรู้เป็นวงกว้างอย่างต่อเนื่อง ผลักดันให้เกิดการท่องเที่ยวในชุมชนอย่างสร้างสรรค์ ขณะที่ นางขวัญจิต ศรีประจันต์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง(เพลงพื้นบ้าน-อีแซว) ประจำปี พ.ศ. 2539 เป็นแม่เพลงที่เป็นสัญลักษณ์ของแม่เพลงพื้นบ้านแห่งจังหวัดสุพรรณบุรี กล่าวว่า การผลักดันเมืองสุพรรณบุรี เป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านดนตรีเป็นเรื่องที่ดี และถูกต้องแล้ว เนื่องจากเมืองแห่งนี้เต็มไปด้วยครูเพลงหลากหลายแขนง ไม่เพียงแต่ที่สุพรรณบุรีเท่านั้น ในจังหวัดอื่นๆ อย่าง อ่างทอง อยุธยา ก็มีเพลงพื้นเมืองที่หลากหลายมากมาย ซึ่งการเป็นแม่เพลงที่เป็นสัญลักษณ์ของแม่เพลงพื้นบ้านแห่งจังหวัดสุพรรณบุรีด้านเพลงอีแซว และเพลงฉ่อยนั้น นางขวัญจิต กล่าวว่า จะต้องมีปฏิภาณไหวพริบดี สิ่งที่สำคัญ คือ การตั้งเป้าในสิ่งที่จะทำ พร้อมกับลงมือเรียนรู้ทั้งการฟัง การอ่าน การพูด การเขียน เพื่อให้เกิดความชำนาญในศิลปะด้านนั้นๆ