"อนาคตใหม่" เฮ ! ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ข้อบังคับพรรคไม่เป็นการล้มล้างการปกครอง แนะกกต.สั่งผู้เกี่ยวข้องแก้ไขข้อบังคับพรรคไม่ให้สับสน-คลุมเครือ ส่วนพฤติการณ์ “ปฏิกษัตริย์” ยังไม่ปรากฏข้อเท็จจริงเพียงพอ แต่การกระทำจะผิดกฎหมายอื่นหรือไม่ ต้องว่ากันตามกระบวนการ เมื่อเวลา 12.00 น. วันที่ 21 ม.ค.63 องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัย กรณีนายณฐพร โตประยูร ยื่นคำร้องเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิฉัยตามมาตรา 49 ว่าการกระทำของพรรคอนาคตใหม่ผู้ถูกร้องที่ 1 นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ผู้ถูกร้องที่ 2 นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ผู้ถูกร้องที่ 3 และคณะกรรมการบริหารพรรค ผู้ถูกร้องที่ 4 เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่ โดยในวันนี้นายณฐพรผู้ร้องมาศาล ขณะที่ฝ่ายผู้ถูกร้องทั้ง 4 รับทราบนัดโดยชอบแล้วไม่มาศาล นายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ อ่านคำวินิจฉัยว่า ประเด็นที่ต้องวินิฉัยมีเพียงประเด็นเดียวว่า ผู้ถูกร้องใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขหรือไม่ เมื่อพิจารณาจากคำร้องพบว่าเป็นกรณีกล่าวอ้างว่าข้อบังคับ นโยบายพรรค และสัญลักษณ์ของพรรคอนาคตใหม่ มีลักษณะเป็นการใช้สิทธิเพื่อล้มล้างการปกครองและเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ​ (พ.ร.ป.)​ว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 14 (1) จากบทบัญญัติในพรป.ว่าด้วยพรรคการเมือง จะพบว่าเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และนายทะเบียนพรรคการเมือง ต้องตรวจสอบว่า คำขอจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองถูกต้องหรือไม่ เมื่อตรวจสอบถูกต้องครบถ้วนแล้ว นายทะเบียนจะรับจัดตั้งพรรคและประกาศในราชกิจจนุเบกษา ซึ่งกรณีดังกล่าวปรากฎข้อเท็จจริงว่า ในกระบวนการยื่นคำขอจดจัดตั้งพรรคการเมือง มีการยื่นเอกสารข้อบังคับพรรค พร้อมคำประกาศอุดมการณ์ และสัญลักษณ์พรรค ซึ่งไม่มีลักษณะที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครอง และไม่มีลักษณะเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ เมื่อพรรคอนาคตใหม่ยื่นจดทะเบียนจัดตั้งพรรค และนายทะเบียนได้ตรวจสอบและมีประกาศจัดตั้งพรรคในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ข้อบังคับพรรคอนาคตใหม่จึงไม่มีลักษณะเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองฯ เนื่องจากนายทะเบียนได้ตรวจสอบความถูกต้อง และผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการ กกต.แล้ว หากภายหลังพบว่าข้อบังคับพรรคไม่เป็นไปตามพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ก็เป็นอำนาจหน้าที่ของนายทะเบียนพรรคการเมืองต้องรายงานต่อคณะกรรมการ กกต.ให้มีมติเพิกถอนข้อบังคับพรรค ตามมาตรา 17 (3) กรณีจึงไม่มีข้อเท็จจริงเพียงพอว่า เป็นใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปครองฯ อย่างไรก็ดี การยื่นคำร้องเป็นเพียงข้อห่วงใยของพลเมืองที่มีต่อสถาบันและระบอบการปกครองของประเทศ โดยอุดมการณ์ทางการเมืองของพรรคการเมืองที่ใช้คำว่า หลักประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ และจะยึดมั่นในหลักประชาธิปไตยนั้น ศาลเห็นว่าอุดมการณ์ทางการเมืองจะต้องมีความชัดเจนไม่คลุมเครือ ประเทศต้องมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เพื่อไม่ก่อให้เกิดความแตกแยกของคนในชาติ ซึ่งกกต.มีอำนาจและหน้าที่ สั่งให้ผู้เกี่ยวข้องแก้ไขตามมาตรา 17 (3) เพื่อป้องกันความสับสน ส่วนกรณีที่ผู้ร้องอ้างว่า ผู้ถูกร้องมีแนวคิดคลั่งไคล้ปรัชญาตะวันตก และเป็นปฏิกษัตริย์นิยม มีการแสดงความเห็นทั้งก่อนและหลังการจัดตั้งพรรคการเมือง รวมถึงการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน และการแสดงความเห็นต่อสังคมในช่องทางต่างๆ โดยศาลเห็นว่า การใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครอง จะต้องปรากฏข้อเท็จจริงเพียงพอ ในระดับที่ทำให้เกิดผล และกระทบสิทธิและเสรีภาพ จนถึงขนาดที่วิญญูชนอาจคาดเห็นได้ว่า น่าจะเกิดผลเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครอง โดยการกระทำนั้นจะต้องดำเนินการอยู่ ไม่ห่างไกลเกินกว่าเหตุ แต่ข้อเท็จจริงที่ปรากกฎในคดีเป็นเพียงข้อมูลข่าวสารจากเว็ปไซต์ สื่อสิ่งพิมพ์และสื่ออินเตอร์เน็ต ยังไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ผู้ถูกร้องทั้ง 4 มีพฤติการณ์ล้มล้างการปกครอง กรณีจึงไม่เพียงพอรับฟังได้ว่า เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปครอง ตามมาตรา 49 วรรคหนึ่ง ส่วนการกระทำจะเป็นความผิดตามกฎหมายอื่นใดหรือไม่ ต้องว่ากันตามกระบวนการและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องต่อไป ศาลรัฐธรรมนูญจึงวินิจฉัยว่า การกระทำของพรรคอนาคตใหม่ ไม่เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข