พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ มีความห่วงใยประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้ง พร้อมสั่งการให้ทุกหน่วยงานเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาใพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภค รวมถึงการป้องกันควบคุมพื้นที่ประกาศภัยแล้งไม่ให้ขยายวงมากขึ้น ภายใต้การขับเคลื่อนของคณะทำงานกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ เพื่อลดผลกระทบให้กับประชาชนและชุมชนให้ทันต่อสถานการณ์ พร้อมทั้งติดตามการให้ความช่วยเหลือประชาชนอย่างใกล้ชิด ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่าจากข้อห่วงใยของรองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) ให้ความสำคัญกับการควบคุมพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภค และให้ความช่วยเหลือพื้นที่ประกาศแล้งที่ต้องป้องกันและแก้ไขเร่งด่วน โดย จ.อุดรธานี เป็นหนึ่งในจังหวัดเสี่ยงขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภค 43 จังหวัดที่ สทนช. ได้ประเมินจากปริมาณฝน และปริมาณน้ำในแหล่งน้ำต่างๆ ที่มีน้อย เช่น กรณีอ่างเก็บน้ำโสกรัง อ.โนนสะอาด จ.อุดรธานี เหลือปริมาณน้ำแค่ 10,000 ลูกบาศก์เมตร ส่งผลให้หลายฝ่ายมีข้อกังวลว่าปริมาณน้ำอาจไม่เพียงพอกับการผลิตน้ำประปาจ่ายในพื้นที่ อ.โนนสะอาด ตลอดฤดูแล้งนี้นั้น ล่าสุดคณะทำงานกองอำนวยการน้ำแห่งชาติได้วางแผนบริหารจัดการระบบประปาเพื่อส่งน้ำให้กับหน่วยบริการโนนสะอาด อ.โนนสะอาด จ.อุดรธานี ซึ่งรับผิดชอบโดย กปภ.สาขากุมภวาปี โดยมีหน่วยงานรับผิดชอบหลัก คือ การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) และกรมชลประทาน ที่ยืนยันว่ามีแหล่งน้ำสนับสนุนเพื่อผลิตประปาได้จนถึงสิ้นเดือนมิถุนายนนี้ โดยไม่ส่งผลระทบกับประชาชน นอกจากหน่วยบริการโนนสะอาด (กปภ.สาขากุมภวาปี) จะใช้น้ำอ่างเก็บน้ำโสกรัง อ.โนนสะอาด เป็นแหล่งน้ำหลักในการผลิตน้ำประปาแล้ว กรมชลประทาน และการประปาส่วนภูมิภาค ยังมีแผนสำรอง โดยผันน้ำประปาจากโรงกรองน้ำใกล้เคียง 2 แห่ง ได้แก่ 1.โรงกรองน้ำที่อ่างเก็บน้ำหนองปะโค ซึ่งมีปริมาณน้ำในอ่างฯ 2 ล้านลูกบาศก์เมตร และ2.โรงกรองน้ำที่สำนักงานกุมภวาปี ซึ่งใช้น้ำจากหนองหาน มีปริมาณน้ำในอ่างฯ 80 ล้านลูกบาศก์เมตร เมื่อรวมกันทั้งสองแหล่งจะมีปริมาณน้ำดิบสำหรับผลิตน้ำประปาได้เพียงพอตลอดฤดูแล้งถึงสิ้นเดือน มิ.ย.63 ในพื้นที่บริการของ กปภ.ในเขต อ.กุมภวาปี และ อ.โนนสะอาด โดยให้บริการแจกจ่ายน้ำให้แก่ประชาชนในพื้นที่ประมาณ 12,000 ครัวเรือน ขณะเดียวกัน กปภ. สาขากุมภวาปี ได้มีแผนงานรองรับกรณีที่อาจได้รับผลกระทบจากภัยแล้งไว้ล่วงหน้าด้วย “อ่างเก็บน้ำโสกรัง ปริมาณความจุประมาณ 400,000 ลูกบาศก์เมตร แต่ในฤดูฝนปี 2562 พบว่า ปริมาณฝนน้อยทำให้มีน้ำไหลเข้าอ่างฯน้อย เก็บกักได้เพียง 50 เปอร์เซ็นต์ของความจุ นอกจาก กรมชลประทานได้วางแผนการจัดสรรน้ำในฤดูแล้งเพื่อการอุปโภคบริโภคทั้งหมดแล้ว รวมถึงผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี การประปาส่วนภูมิภาค กรมชลประทาน และป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดอุดรธานี หารือส่วนเกี่ยวข้องในระดับพื้นที่รวมถึงประสานงานกับส่วนกลางเตรียมแผนสำรองกรณีน้ำไม่เพียงพอไว้ล่วงหน้า แต่อย่างไรก็ตาม ภาครัฐต้องขอความร่วมมือทุกภาคส่วนร่วมกันประหยัดน้ำ เพื่อให้มีน้ำกินน้ำใช้อย่างเพียงพอตลอดฤดูแล้งนี้ด้วยเช่นกัน”ดร.สมเกียรติ กล่าว