วันที่ 20 ม.ค. 63 ที่ บก.ปอท.(กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี) พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ รอง ผบก.ปอท./โฆษก บก.ปอท.ฝากประชาสัมพันธ์ ให้พี่น้องประชาชนทราบว่า ช่วงนี้มีมิจฉาชีพใช้วิธีการดักรับข้อมูลโดยการส่งเป็นภาพว่า ร้านสะดวกซื้อให้กิ๊ฟ ว้อยเชอร์ มูลค่า 3,400 บาทบ้าง หรือเป็นห้างร้านอื่นๆ มอบบัตรกำนัลให้เท่านั้นเท่านี้ แล้วให้ประชาชนกดเข้าไปเพื่อรับ แต่เมื่อกดเข้าไปแล้วยังไม่ทำอะไรต่อก็ยังไม่เกิดความเสียหาย แต่ถ้ากดเข้าไปแล้วจะมีหน้าหรือข้อความแจ้งต่อให้ใส่ข้อมูลส่วนตัว ทั้งยูสเซอร์เนม พลาสเวิร์ด ของ ไลน์บ้าง เฟซบุ๊กบ้าง ถ้าเราหลงกรอกเข้าไปมิจฉาชีพก็จะได้ข้อมูลส่วนตัวที่สามารถเข้าถึงบัญชีสื่อสังคมออนไลน์ของเราได้ แล้วถ้าบัญชีสังคมออนไลน์ของเราผูกกับสถาบันการเงินหรือมีการซื้อ-ขายของทางออนไลน์กันเขาก็จะสามารถไปต่อได้ทันที อาจจะเกิดความเสียหายตามมาได้มากมาย เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เคยมีการหลอกลวงเอาข้อมูลส่วนตัวแบบนี้มาแล้วตอนปี 2569-2561 จากนั้นก็เงียบไป แต่ล่าสุดก็พบว่าทีการระบาดกลับมาอีกแล้ว จึงอยากฝากเตือนพี่น้องประชาชนว่า ถ้าทีการหลอกลวงลักษณะดังกล่าวนี้มาถึงเราก็ขออย่าไปคลิ๊กหรือเปิดดู แต่เมื่อเปิดเข้าไปดูแล้วมีการขอให้ใส่ยูสเซอร์เนม -พลาสเวิร์ด ก็ขออย่าใส่เข้าไปเด็ดขาด ให้ติดตามข้อมูลข่าวสารต่างๆ ตลอด อย่างกรณีนี้ที่คนร้ายแอบอ้างเป็นร้านสะดวกซื้อ เซเว่น-อีเลฟเว่น ทาง บก.ปอท.ได้ประสานตรวจสอบไปยัง ซีพีออลล์ แล้วได้รับการยืนยันมาว่า เรื่องบัตรกำนัล 3,400 บาท นี้ไม่เป็นความจริง ขอเตือนให้ระวังอย่าหลงตกเป็นเหยื่อ รูปแบบการหลอกลวงของมิจฉาชีพ มีมากมาย พี่น้องประชาชนแจ้งเบาะแสมาให้ บก.ปอท.ตลอด เช่น ขอร้องให้กดโหวตลูกหลาน หรือ ส่งคิวอาร์โค้ตมาให้ชำระค่าสินค้าแทนเพื่อน เป็นต้น คนร้ายก็พยายามพัฒนาวิธีการหลอกลวงไปเรื่อยๆ อีกรูปแบบที่พบเจอก็คือ ส่งข้อความผ่านมาทางแมสเซนเจอร์เฟซบุ๊กมากล่าวหาว่าเราไปฉ้อโกงคนอื่น ถ้าอยากได้ข้อมูลก็ให้อินบล็อคไปสอบถามเขาได้ อันนี้คนร้ายจะใช้หลักจิตวิทยาเมื่อเราโดนกล่าวหา ด่าว่าไปโกงคนอื่น หรือเราไปเกี่ยวข้องกับสิ่งไม่ดี เราก็อยากที่จะชี้แจง อยากรู้รายละเอียด หรืออยากชี้แจง เป็นหลักจิตวิทยาที่มิจฉาชีพเอามาใช้ พอเรากดเข้าไปอ่านไปดูก็จะหลอกให้กรอกโน้นกรอกนี้ตลอดจนข้อมูลส่วนตัว ความเสียหายก็จะเกิดตามมาได้