ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ จ.สุราษฎร์ธานี รับฟังปัญหาและแนวทางแก้ไขการจัดการมูลช้างทั้งระบบ โดยมี นางสาวเบญจพร ชาครานนท์ อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน ให้การต้อนรับ และหัวหน้าส่วนราชการ เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ ให้ข้อมูล ณ ปางช้างซาฟารีหน้าเหมือง อ.เกาะสมุย อำเภอเกาะสมุย มีปางช้าง 9 แห่ง มีช้างทั้งสิ้น 88 เชือก มีปริมาณมูลช้างประมาณ 11 ตัน/วัน หรือราว ๆ 3,846 ตัน/ปี ตกค้างในพื้นที่ และเป็นแหล่งขยายพันธุ์ของด้วงแรด แมลงศัตรูพืช ที่เมื่อโตเต็มเต็มวัยจะเข้าทำลายมะพร้าวโดยกัดเจาะทำลายยอดอ่อนของมะพร้าวทำให้ใบแคระแกร็น และรอยแผลที่ถูกกัด ทำให้ด้วงมะพร้าวเข้ามาวางไข่ เกิดเป็นโรคยอดเน่าเสียหาย การแก้ไขปัญหาเรื่องมูลช้าง ได้นำมูลช้างไปเป็นใช้ประโยชน์ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมักใช้ในสวนผลไม้ แปรรูปทำเป็นกระดาษสา นอกจากนี้เพื่อลดการระบาดของแมลงจึงมีการปรับเปลี่ยนอาหารเลี้ยงช้างจากหัว-หางมะพร้าว เป็นหญ้าเนเปียร์ สับปะรด และนำตาข่ายมาคลุมเพื่อไม่ให้มีวางไข่เพิ่มขึ้นและลดการเจริญเติบโตของแมลง ขณะที่กรมพัฒนาที่ดิน ได้สนับสนุนการทำปุ๋ยหมักจากมูลช้าง ให้คำแนะนำการผลิตปุ๋ยโดย ซุปเปอร์ พด. 1 และสนับสนุนจุลินทรีย์ในการย่อยสลาย ทั้งนี้ ร.อ.ธรรมนัส ได้ ให้คำแนะนำเพิ่มเติมในการบริหารจัดการมูลช้าง เกี่ยวกับการผลิตปุ๋ยหมัก-ปุ๋ยคอก โดยให้ดำเนินการผลิตอย่างจริงจังได้มาตรฐาน เพื่อให้เกษตรกรสนใจนำปุ๋ยจากมูลช้างไปใช้และอาจจะต่อยอดเป็นปุ๋ยเพื่อการจำหน่ายต่อไปได้ เนื่องจากมูลช้างมี เส้นใยและธาตุอาหารปริมาณที่สามารถนำไปผลิตปุ๋ยที่มีคุณภาพได้ (จากกการวิเคราะห์ ปุ๋ยหมักมูลช้าง ดังนี้ pH 7.3 อินทรียวัตถุ 36.56% ปริมาณไนโตรเจน 1.2% ปริมาณฟอสฟอรัสที่เป็นประโยชน์ 3.75% และปริมาณโพแทสเซียมที่แลกเปลี่ยนได้ 1.35% )