เมื่อวันที่ 19 ม.ค. นายชำนาญ จันทร์เรือง รองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) กล่าวว่า หลายฝ่ายยังสงสัยว่า เมื่อพรรค อนค.มีมติขับออกจากพรรคแล้ว จะสิ้นสุดการเป็นสมาชิกพรรคลงเมื่อใด ประเด็นดังกล่าวจะต้องพิจารณาประกอบกันทั้งรัฐธรรมนูญมาตรา 101(9) พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 27 และข้อบังคับพรรค อนค.ข้อ 20 และ ข้อ 21 ซึ่งตนมีข้อสังเกต ดังนี้ การสิ้นสุดการเป็นสมาชิกพรรคของ ส.ส.นั้น ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 27 บัญญัติให้ไปบังคับตามข้อบังคับพรรค ซึ่งกรณีพรรคอนาคตใหม่กำหนดไว้ในข้อ 20(4) กำหนดไว้ว่า “สมาชิกภาพของสมาชิกสิ้นสุดลงเมื่อคณะกรรมการบริหารพรรคมีมติให้สมาชิกภาพสิ้นสุดลง ทั้งนี้ ไม่รวมถึงสมาชิกพรรคซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร”… ซึ่งโดยเงื่อนไขในข้อบังคับที่ระบุว่าไม่รวมถึงสมาชิกพรรคที่เป็น ส.ส. เนื่องจากมีรัฐธรรมนูญมาตรา 101(9) และ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 27 วรรคท้าย บัญญัติเกี่ยวกับมติไว้เป็นพิเศษว่า มติของพรรคการเมืองที่จะให้สมาชิกพรรคพ้นจากการเป็นสมาชิกพรรคนั้น ต้องเป็นคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ของที่ประชุมร่วมของคณะกรรมการบริหารของพรรคการเมืองและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่สังกัดพรรคการเมืองนั้น ปัญหาว่า ส.ส.ที่พรรค อนค.มีมติให้ ส.ส.พ้นจากการเป็นสมาชิกพรรค 4 คน จะมีผลให้พ้นจากสมาชิกภาพเมื่อใดนั้น ทั้งรัฐธรรมนูญและ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองก็มิได้ระบุไว้ แต่โดยความในมาตรา 27 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง กำหนดให้บังคับตามข้อบังคับของพรรค กรณีพรรคอนาคตใหม่ก็ต้องดูข้อ 21 ประกอบ ซึ่งกำหนดไว้ว่า “การสิ้นสมาชิกภาพตามข้อ 20 (1) (2) (3) (4) (6) และ (7) ให้นายทะเบียนสมาชิกพรรคจำหน่ายชื่อออกจากทะเบียนสมาชิก ให้ยกเลิกบัตรประจำตัวสมาชิก เรียกคืนเอกสาร และทรัพย์สินของพรรคซึ่งอยู่ในครอบครองของผู้นั้น นายชำนาญกล่าวอีกว่า จะเห็นได้ว่า กระบวนการจำหน่ายชื่อออกจากทะเบียนสมาชิก การยกเลิกบัตรประจำตัวสมาชิก ฯลฯ มิได้เป็นเงื่อนเวลาในการสิ้นสุดสมาชิกภาพ โดยข้อความในข้อ 21 ที่เริ่มต้นด้วยความว่า “การสิ้นสุดสมาชิกภาพตามข้อ 20 …” ซึ่งชัดเจนว่าสิ้นสุดไปก่อนแล้ว ส่วนการที่ให้นายทะเบียนจำหน่ายชื่อ ฯลฯ เป็นเพียงกำหนดหน้าที่ของนายทะเบียนที่จะต้องดำเนินการภายหลังจากที่สิ้นสุดสมาชิกภาพ ซึ่งก็ไม่ได้ระบุบังคับนายทะเบียนว่าจะต้องดำเนินการภายในกี่วัน ฉะนั้น ส.ส.4 รายที่พรรค อนค.ขับออกจากพรรค “มีผลทันทีตั้งแต่วันที่พรรคลงมติให้พ้น” โดยไม่ต้องรอให้จำหน่ายชื่อออกจากทะเบียนสมาชิก หรือรอการแจ้งมติ และไม่มีข้อบังคับข้อใดกำหนดให้ต้องออกหนังสือรับรองการพ้นสมาชิกด้วย ทั้งโดยข้อเท็จจริง ส.ส.ทั้ง 4 ก็ทราบมติพรรคดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 17 ธันวาคม 2562 อยู่แล้ว เมื่อนับระยะเวลาจึงพ้นจากการเป็นสมาชิกพรรค อนค.ครบ 30 วัน ในวันที่ 16 มกราคม 2563 จึงเป็นอันว่า ส.ส.จำนวน 2 ราย ที่ไปเป็นสมาชิกพรรคพลังท้องถิ่นไท จึงไม่พ้นจากความเป็น ส.ส.ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101(9) สำหรับ นางศรีนวล บุญลือ ส.ส.เชียงใหม่ และ พ.ต.ท.ฐนภัทร กิตติวงศา ส.ส.จันทบุรี ที่มีการเปิดตัวจะเข้าพรรคภูมิใจไทย และพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) แต่ยังไม่ได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกนั้น มีผลเท่ากับยังหาพรรคเข้าไปสังกัดไม่ได้ จะต้องพ้นจากความเป็น ส.ส.โดยบทบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตรา 101(9) เว้นเสียแต่ว่าจะไปทำใบสมัครลงวันที่ย้อนหลัง แต่ถ้าถูกจับได้ก็มีความผิดทั้ง ส.ส. ทั้งพรรคที่รับย้อนหลังด้วย