มูลนิธิราชประชาประสบความสำเร็จพัฒนาเครื่องบำบัดฝุ่นPM2.5ในอากาศ ราคาถูก เตรียมเผยแพร่แบบให้รัฐและประชาขนทั่วไปนำไปพัฒนาและผลิตให้กระจายทั่วประเทศ วันที่ 17 ม.ค.63 ที่บริเวณหน้าอาคารสำนักงาน มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์  นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ในฐานะนายกมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ฯ พร้อม พล.ร.อ.พงษ์เทพ หนูเทพ องคมนตรี ในฐานะประธานกรรมการบริหารมูลนิธิ ตรวจสอบการสาธิตการทดสอบเครื่องบำบัดอากาศที่มีมลพิษและฝุ่นขนาดเล็ก PM 2.5 ต้นแบบ จำนวน 4 เครื่อง  ในพื้นที่เปิดครั้งแรก เตรียมเผยแพร่ให้หน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน ตลอดจนประชาชนทั่วไป สามารถนำไปต่อยอดในการสร้างเครื่องบำบัดอากาศที่มีมลพิษและฝุ่นขนาดเล็ก PM 2.5 ได้เอง เพื่อรับมือกับสถานการณ์มลพิษต่อไป โดยมี นายธงชัย เมธนาวิน และพ.อ. ประเสริฐ โชติช่วง เป็นผู้ควบคุมการสาธิต และคณะกรมอู่ทหารเรือ กองทัพเรือ เป็นคณะร่วมปฏิบัติการครั้งนี้  หลังจากประสบความสำเร็จในทำการทดสอบเบื้องต้นในพื้นที่ปิดที่โรงงานห้างหุ้นส่วนจำกัด สแตนเลสดี อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 12พ.ย.ที่ผ่านมา นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี และนายกมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ฯ กล่าวว่า จากปัญหาภัยมลพิษทางอากาศจากฝุ่นละอองขนาดเล็กPM2.5 ที้เกิดขึ้นในประเทศไทยในช่วง 1-2ปี นี้  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีความเป็นห่วงใยในปัญหาสุขภาพของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติดังกล่าว จึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้มูลนิธิราชประชานุเคราะห์คิดหาแนวทางช่วยเหลือประชาขนควบคู่กับการแก้ปัญหาของรัฐบาล จึงเป็นที่มาในการดำเนินการจัดสร้างเครื่องบำบัดอากาศที่มีมลพิษและฝุ่นขนาดเล็ก โดยใช้อุปกรณ์ที่มีอยู่ในประเทศ และผลิตโดยช่างไทย โดยใช้งบประมาณไม่เกิน 3แสนบาทต่อเครื่อง และ หากเราสามารถกระจายเครื่องบำบัดอากาศนี้ไปทั่วประเทศ ก็จะสามารถช่วยเหลือประชาชนให้มีสุขภาพดีขึ้นได้ จึงหวังว่า จะมีหน่วยงานจากรัฐ และเอกชนช่วยกันนำเครื่องบำบัดนี้พัฒนาต่อยอดและผลิตแจกจ่ายให้ทั่วถึง ด้าน พล.ร.อ.พงษ์เทพ หนูเทพ องคมนตรี ในฐานะประธานกรรมการบริหารมูลนิธิฯ กล่าวว่า จากการที่ มูลนิธิราชประชาชานุเคราะห์ได้ร่วมกับคณะนักวิชาการ กรมอู่ทหารเรือ กรมควบคุมมลพิษ และบมจ. พีพีที โกลบอล เคมิคอล พัฒนาเครื่องบำบัดอากาศฯ พัฒนาเครื่องต้นแบบขึ้นมา 5เครื่อง และจากการทดลองในพื้นที่ปิดที่ จ.นนทบุรี พบว่า เครื่องบำบัดอากาศฯ สามารถบำบัดค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ในอากาศได้ต่ำกว่ามาตรฐานถึง 90% ถือว่า เป็นความสำเร็จที่สามารถนำไปช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่วิกฤติได้ก่อน โดยจะส่งมอบเครื่องต้นแบบ 4เครื่อง ให้กรมควบคุมมลพิษนำไปใช้ทันที และเครื่องต้นแบบอีก 1เครื่องที่เหลือ จะส่งให้กรมอู่ทหารเรือนำไปพัฒนาต่อยอดร่วมกับ บมจ. พีพีที โกลบอล เคมิคอล ในการสร้างเครื่องบำบัดอากาศที่มีประสิทธิภาพสูงแต่มีราคาถูกขึ้นมาอีก และหากหน่วยงานภาครัฐ หรือบริษัทเอกชนใด หรือประชาชนทั่วไป อยากได้แบบก่อสร้างเครื่องบำบัดอากาศนี้ ไปผลิตหรือพัฒนาต่อยอด สามารถติดต่อขอรับแบบได้ฟรีที่มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ด้าน นายธงชัย เมธนาวิน ในฐานะที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ โครงการสร้างเครื่องบำบัดฝุ่น PM 2.5 ของมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ กล่าวว่า เครื่องบำบัดอากาศที่มีมลพิษและฝุ่นขนาดเล็ก PM 2.5 ต้นแบบ เป็นระบบบำบัดอากาศแบบเปียก อากาศ จะถูกดูดเข้ามาในเครื่องบำบัดด้วยพัดลมดูตอากาศ ผ่านเข้ามาจะถูกทำให้เกิดการอัดตัวโดยผ่านอุปกรณ์ที่เรียกว่า "เวนทูรีสครับเบอร์" โดยใช้น้ำเป็นตัวกลางในการดักจับฝุ่นละอองขนาดเล็กที่ติดมากับมวลอากาศ อากาศที่ผ่านการบำบัดแล้วทั้งหมดจะไหลออกกลับคืนสู่ด้านนอกทางปล่องปล่อยออก โดยออกแบบเป็นรูปตัวทีที่มีฝาปิด-เปิดเพื่อให้สามารถเลือกรูปแบบการปล่อยออกแบบทิศทางเดียวหรือสองทิศทางได้ และฝาปิต-เปิดสามารถปรับระดับองศาการปิด-เปิดได้เพื่อให้สามารถกำหนดมุมองศาการปล่อยอากาศที่บำบัดแล้ว ออกไปยังจุดพื้นที่และระดับความสูงที่ต้องการได้