สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ, เครือข่ายโรงเรียนคำพ่อสอน, เครือข่ายครูดีไม่มีอบายมุข ได้คัดเลือกครูและบุคลากรด้านการศึกษา ที่ดำรงตนเป็นแบบอย่างที่ดีในการใช้ชีวิตห่างไกลอบายมุข เช่น ปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด บุหรี่ การพนัน ฯลฯ พร้อมทั้งทำหน้าที่สอนและช่วยเหลือนักเรียน รวมถึงครอบครัวและชุมชนให้มีสุขภาวะที่ดีในสภาพแวดล้อมที่ปลอดอบายมุข เข้ารับโล่รางวัล “ครูดีไม่มีอบายมุข” และ “โรงเรียนดีไม่มีอบายมุข” อย่างต่อเนื่อง โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้มอบหมายให้ นายอนุชา บูรพชัยศรี เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานมอบโล่ประกาศเกียรติคุณ “ครูดีไม่มีอบายมุข (รุ่นที่ 9)” และ “โรงเรียนดีไม่มีอบายมุข (รุ่นที่ 4)” ประจำปี 2562 นายอนุชา กล่าวว่า “โครงการครูดีไม่มีอบายมุข และโรงเรียนดีไม่มีอบายมุข เป็นโครงการที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เป็นรางวัลที่ไม่ต้องแข่งขันกับใคร แต่เป็นการแข่งกับใจตนเอง นับเป็นชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ พิธีมอบโล่ประกาศเกียรติคุณครั้งนี้ ทำให้เห็นว่าการดำรงตนอยู่ในศีลธรรม ปลอดอบายมุข เป็นสิ่งสำคัญที่สังคมปรารถนาให้มี โดยเฉพาะผู้เป็นครู ซึ่งทำหน้าที่อบรมบ่มเพาะศิษย์ให้เป็นคนดี กระทรวงศึกษาธิการยินดีร่วมขับเคลื่อนการจัดการศึกษาเพื่อป้องกันแก้ไขปัญหาเหล้า บุหรี่ และอบายมุข ตั้งแต่ระดับครูผู้สอน ผู้บริหารสถานศึกษา ไปจนถึงเยาวชนและครอบครัว ให้ปลอดภัยจากอบายมุขทุกประเภท เพราะอบายมุขสร้างความเสียหายให้กับการศึกษา สังคม ประเทศชาติเป็นอย่างมาก การมีปัญญารู้เท่าทันอบายมุขในทุกมิติที่แฝงมากับโลกการสื่อสารที่เปลี่ยนไป จะทำให้เด็กและเยาวชนเติบโตเป็นพลเมืองที่ดีของชาติต่อไป” นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ กรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวถึงสถานการณ์การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ว่า “ผลสำรวจของศูนย์วิจัยปัญหาสุรา ในปี 2560 พบว่าเด็กและเยาวชน อายุ 15-24 ปี เป็นกลุ่มนักดื่มหน้าใหม่ จำนวน 2,282,523 คน หรือร้อยละ 23.91 หรือคิดเป็น1ใน4ของเยาวชนทั้งหมด ที่ระบุว่าดื่มสุราในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา แม้สถิตินักดื่มประจำและนักดื่มหนักมีสัดส่วนลดลง แต่ยังนิ่งนอนใจไม่ได้ เพราะมีความเสี่ยงของนักดื่มหน้าใหม่ที่จะผันตัวมาเป็นผู้ดื่มประจำได้ ดังนั้น ครูผู้เปรียบเสมือนพ่อแม่คนที่ 2 ของนักเรียน ล้วนมีบทบาทสำคัญในการดูแล ป้องกัน และเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับนักเรียน เพื่อป้องกันไม่ให้มีเยาวชนเป็นนักดื่มประจำและนักดื่มหนักเพิ่มขึ้นอีกในวันข้างหน้า สสส. เชื่อมั่นว่าการพัฒนาและส่งเสริม “ครูดีไม่มีอบายมุข” และ “โรงเรียนดีไม่มีอบายมุข” จะเป็นกลไกสำคัญในการสร้างเสริมพฤติกรรมนักเรียนที่มีคุณภาพ อันจะนำไปสู่การพัฒนาการศึกษาของประเทศที่ดีขึ้นตามไปด้วย ทั้งนี้ ผลสำรวจจำนวนมากระบุว่า การดื่มสุราหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มักนำไปสู่การสูบุหรี่หรือบริโภคยาสูบ รวมถึงพฤติกรรมเสี่ยงอื่นๆ เช่นการพนันร่วมด้วย นายอำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานกล่าวว่า การค้นหาครูดี และโรงเรียนดีที่ไม่มีอบายมุข เพื่อมาเป็นผู้นำพาคนอื่นๆ ให้ร่วมกันพัฒนาสู่การเป็นต้นแบบในการปลอดอบายมุขด้วยเช่นกัน โดย สพฐ. หวังให้เครือข่ายครูดีไม่มีอบายมุขทั้ง 4 ภาคในปี 2562 ไปขยายเครือข่ายครูดีไม่มีอบายมุขเพิ่มมากขึ้น อยากเห็นโรงเรียนกว่า30,000แห่งในสังกัด สพฐ. เป็นโรงเรียนดีไม่มีอบายมุขในทุกโรงเรียน ตนในฐานะผู้บริหาร สพฐ. พร้อมนำนโยบายและข้อเสนอของเครือข่ายครูเพื่อขับเคลื่อนให้เป็นรูปธรรมต่อไป สำหรับผู้เข้ารับโล่ประกาศเกียรติคุณครั้งนี้มีทั้งสิ้น 453 คน เป็นโล่ประกาศเกียรติคุณประเภท “ครูดีไม่มีอบายมุข (รุ่นที่ 9)” 426 คน ได้แก่ (1) ระดับบุคลากรเขตพื้นที่การศึกษา 18คน (2) ระดับผู้บริหารสถานศึกษา 83 คน (3) ระดับครูผู้สอน 325 คน และโล่ประกาศเกียรติคุณ “โรงเรียนดีไม่มีอบายมุข (รุ่นที่ 4)” 27 โรงเรียน