นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ติดตามการดำเนินงานโครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริบ้านธารทอง อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย วันพฤหัสบดีที่ 16 มกราคม 2563 เวลา 10.00 น. นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริพื้นที่ภาคเหนือ พร้อมด้วยคณะที่ปรึกษา เดินทางไปยังจังหวัดเชียงราย เพื่อเชิญสิ่งของพระราชทาน จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไปมอบให้กับนักเรียนโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 15 ตำบลเวียง อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย จำนวน 1,982 ชุด ซึ่งเปิดทำการสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาลปีที่ 1 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มาจัดทำฐานกิจกรรม โรงเรียนศาสตร์พระราชา วิทยาเขตกู่เต้า /RPG.15 F.C. Academy เพื่อให้นักเรียนเกิดความรู้ ทักษะ เข้าใจศาสตร์พระราชา โดยน้อมนำหลักการทรงงาน การพึ่งตนเอง และเศรษฐกิจพอเพียง นำไปสู่การปฏิบัติ เพื่อสืบสาน รักษา และต่อยอดพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จากนั้นช่วงบ่าย เดินทางไปยังโครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริบ้านธารทอง อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย เชิญสิ่งของพระราชทานไปมอบให้กับราษฎรและผู้ปฏิบัติงานในโครงการ จำนวน 147 ชุด และผู้แทนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ พื้นที่ดอยยาว ดอยผาหม่น ผาจิ อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย จำนวน 37 ชุด โอกาสนี้ องคมนตรี ได้ร่วมกับราษฎร ทำแนวกันไฟและสร้างฝายเพื่อเป็นการป้องกันและรักษาทรัพยากรให้มีความอุดมสมบูรณ์ อันเป็นการกระตุ้นจิตสำนึกให้ราษฎรเกิดความรักและหวงแหนพื้นที่แห่งนี้ยิ่งขึ้น จากนั้น ได้รับฟังสรุปผลการดำเนินงานของโครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริบ้านธารทอง จัดตั้งขึ้นตามพระราชดำริในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ตั้งแต่ปี 2546 เพื่อหยุดยั้งการทำลายป่า โดยให้สถานีเป็นแหล่งจ้างงานผลิตอาหารที่ปลอดภัยและในขณะเดียวกันให้เป็นศูนย์การเรียนรู้การเกษตรที่ถูกวิธี และสามารถนำไปผลิตในที่ดินของตนเองได้ โดยสามารถดำรงชีพอยู่กับป่าได้อย่างยั่งยืน ปัจจุบัน ทรัพยากรธรรมชาติในบริเวณพื้นที่ที่เสื่อมโทรมได้รับการฟื้นฟูมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2546 โดยมีพื้นที่เป้าหมายจํานวน 7,000 ไร่ ปัจจุบัน ดําเนินการไปแล้ว 4,330 ไร่ สภาพป่าคืนความสมบูรณ์มาเป็นลําดับ ทั้งยังสามารถเป็นแหล่งต้นน้ําลําธาร มีลุ่มน้ําจํานวน 3 ลุ่ม คือ ลุ่มน้ํายาบ มีลําห้วยที่สําคัญ คือ ห้วยผาแตก, ห้วยขุนน้ําคํา, และห้วยน้ํา ยาบแง่ซ้าย อยู่ในเขตอําเภอเชียงแสน, ลุ่มน้ําห้วยเม็งและลุ่มน้ําห้วยน้ําส้ม อยู่ในเขตอําเภอเชียงของ ทั้ง 3 ลุ่มน้ํา ไหลลงสู่แม่น้ําโขง ส่งผลให้ทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า เกิดการเกื้อกูลและเพิ่มความสมบูรณ์ให้กับทรัพยากรธรรมชาติยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังได้ส่งเสริมกิจกรรมคุณภาพชีวิตให้กับราษฎร โดยการถ่ายทอดความรู้เทคโนโลยีการผลิตพืชที่เหมาะสมตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง ได้แก่ การปลูกผักและไม้ผล ส่งเสริมการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร เช่น การทำกล้วยฉาบ และสังขยาฟักทอง รวมถึงการพัฒนาอาชีพจากภูมิปัญญาของชนเผ่า เช่น การแปรรูปผ้าปัก หรือ ผ้าปักม้ง การตีมีดม้ง การทำยอดหวายอบแห้ง การทำเครื่องประดับเงิน ทำให้ราษฎรมีอาชีพและรายได้อย่างต่อเนื่องเพียงพอในการดำรงชีพตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงอย่างแท้จริง องคมนตรี และคณะฯ ได้ร่วมปล่อยปลา เพื่อเป็นแหล่งอาหารโปรตีนให้กับราษฎรด้วย