ร่องรอยความขัดแย้งภายในพรรคประชาธิปัตย์ ที่ยังหลงเหลือเอาไว้ ให้คนที่อยู่ข้างหลังได้สัมผัสและเผชิญหน้า ย่อมไม่ใช่รอยใหม่ หรือปัญหาที่ไม่เคยเกิดขึ้นแต่อย่างใด ในทางตรงกันข้าม กลับปฏิเสธไม่ได้ว่า รอยร้าวที่ลึกและถ่างกว้างออก ระหว่าง “ขั้วอำนาจ” ภายในพรรคนั้นนับวันมีแต่จะมากขึ้น จนส่งผลทำให้ สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ด้วยกันเองอยู่ด้วยความ “ลำบากใจ” ! การจากลาสถานะ “สมาชิกพรรค” ของใครหลายคนที่เกิดขึ้นในห้วงระยะเวลาไล่เรี่ยกัน ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาได้กลายเป็นภาพสะท้อนที่แจ่มชัดและตอกย้ำว่า ภายในพรรคประชาธิปัตย์นั้นอาจไม่ใช่มีเพียงแค่ “ความคิดเห็น” ที่ไม่ตรงกันเท่านั้น หากแต่กลับกลายเป็น รอยร้าวที่ยากจะประสานหรือมองหน้ากันได้อีก “ กรณ์ จาติกวณิช” อดีตขุนคลังในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ถือเป็นแกนนำเบอร์ต้นๆของพรรค ได้แถลงจุดยืนทางการเมืองผ่านเฟชบุคว่าตนเองได้ตัดสินใจยื่นหนังสือลาออกจากสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ โดยที่หนังสือได้ถูกส่งไปยังที่ทำการพรรค ในเช้าของวันที่ 15 ม.ค. ไล่หลังวันจัดงานเลี้ยงผองเพื่อนสมาชิกพรรคที่ร้านอาหาร ที-เฮ้าส์ ในค่ำคืนวันที่ 14 ม.ค. งานเลี้ยงในคืนดังกล่าวกลายเป็น ภาพเหตุการณ์ที่นำมาซึ่งภาพจำอันสะเทือนหัวจิต หัวใจสำหรับคนที่ยืนอยู่ข้างกรณ์ เพราะคืนนั้นเขาถึงกับหลั่งน้ำตาเป็นการสื่อความหมายว่า สุดท้ายก็ต้องตัดสินใจจากพรรคการเมืองที่ทำงานด้วยกันมายาวนานถึง 15ปี การลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ของกรณ์ ในครั้งนี้เป็นเหมือน “ชนวน” ที่ปลุกให้เกิดคำถามตามมามากมาย ว่าเขาเองจะเป็นคนสุดท้ายที่ทิ้งพรรคหรือไม่ และ “สาเหตุ”อะไรที่ทำให้กรณ์ต้องเลือกเดินทางครั้งใหม่ แน่นอนว่าทุกข้อสงสัย ถูกเฉลยโดยแกนนำในพรรคที่ยืนอยู่ข้างกรณ์ ว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะ “กลุ่มผู้มีอำนาจ” ในพรรค “ลดบทบาท”ของกรณ์ อีกทั้งยังไม่รับฟังข้อเสนอแนะ หรือข้อคิดเห็นที่จะนำไปสู่การปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงในทางที่ก้าวหน้า และกลุ่มผู้มีอำนาจที่ถูกกล่าวถึง ย่อมหมายความถึง “กลุ่มหัวหน้า” อย่าง “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์” รองนายกฯและรมว.พาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรค อย่างไม่ต้องสงสัย จากนั้นเพียงข้ามวัน ปัญหาเลือดไหลออกจากพรรคประชาธิปัตย์ ยังไม่หยุดอยู่แค่ที่กรณ์ เพราะ “อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี” อดีตส.ส.กทม. และ “ฐนโรจน์ โรจนกุลเสฏฐ์” อดีตส.ส.ชลบุรี ได้ส่งหนังสือลาออกจากสมาชิกพรรคตามมาเป็นรายล่าสุด โดยในรายของฐนโรจน์ นั้นยังได้ไปยื่นจดทะเบียนตั้งพรรคการเมืองใหม่ในชื่อ “พรรค รัฏฐาธิปัตย์” กับกกต.ไปแล้วตั้งแต่เมื่อวันที่ 14 ม.ค.ที่ผ่านมา ปฏิกริยาจาก “คนนอก” ที่มองมายังทุกความเป็นไปภายในพรรคประชาธิปัตย์วันนี้ เต็มไปด้วยความรู้สึกที่หลากหลาย ทั้งแสดงความเป็นห่วง ต่อพรรคการเมืองที่เป็นเสมือน “สถาบันทางการเมือง” ด้วยอุดมการณ์และวาระที่ผ่านร้อน ผ่านหนาวมายาวนานกว่าเจ็ดทศวรรษ กำลังจะเข้าสู่จุดที่เรียกว่า “วิกฤต” อันเกิดจากความขัดแย้งและรอยร้าวที่ยากจะประสานได้อย่างนั้นหรือ ? อย่างไรก็ดี การลาออกของสมาชิกพรรคระดับ “แกนนำ” ที่เกิดขึ้นในช่วงหลังการเลือกตั้ง 24 มี.ค.2562 ที่ผ่านมานั้นต้องยอมรับว่าแต่ละราย ย่อมแตกต่างกันไปตามวาระ และสภาพความขัดแย้ง ในรายของ “หมอวรงค์” นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีตส.ส.พิษณุโลก ที่ได้รับฉายา “มือปราบจำนำข้าว” ติดตาม ขุดคุ้ยปัญหาการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว จนสามารถเอาผิด “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” อดีตนายกฯ จนกลายเป็น “ผลงานชิ้นโบว์แดง” แต่หมอวรงค์ กลับต้อง “พ่ายศึก”ภายในของพรรคเอง เมื่อครั้งเสนอตัวเข้าชิงเก้าอี้ “หัวหน้าพรรค” กับ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ซึ่งว่ากันว่า แม้เกมจบ แต่ความขัดแย้งกลับไม่ยุติลงไปด้วยเมื่อมีรายงานข่าวสะพัดว่า ส่วนหนึ่งที่หมอวรงค์ต้องตัดสินใจลาออกจากพรรคแล้วบ่ายหน้าไปสังกัดพรรครวมพลังประชาชาติไทย ของ “สุเทพ เทือกสุบรรณ” นั้นนอกเหนือไปจาก “ความสัมพันธ์” ที่แนบแน่นต่อกันแล้ว ยังกลายเป็นว่า กลุ่มของหมอวรงค์ เองกลับ “อยู่ยาก” เพราะขั้วอำนาจอภิสิทธิ์ ลดบทบาทแทบทุกทาง ต่อมา “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ได้ยื่นหนังสือลาออกจากพรรค ด้วยอาการเจ็บปวด พร้อมทิ้งท้ายเอาไว้ว่า “เมื่ออยู่ไม่ได้ ก็ลาออก” จากนั้นพีระพันธุ์ ได้เข้ามาร่วมงานกับรัฐบาลในตำแหน่ง “ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี” และยังพ่วงด้วยเก้าอี้ “ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาศึกษาปัญหาหลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560” อันเป็นตำแหน่งที่ เทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ส.ส.ในปีกของอภิสิทธิ์ พยายามเสนอชื่อ อภิสิทธิ์ เข้ามาจับจองตั้งแต่แรก แม้วันนี้พรรคประชาธิปัตย์ จะเกิดปัญหาภายในจนเป็นเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้สมาชิกระดับแกนนำต้องประกาศลาออกก็ตาม แต่อาจไม่ถึงขั้นที่พรรคการเมืองอันมีอายุเก่าแก่ จะถึงคราว “เก็บฉาก” แต่อย่างใด เพราะอย่าลืมว่าประชาธิปัตย์ใช่ว่าจะไม่เคยเกิดวิกฤติครั้งใหญ่ในอดีตมาก่อน แต่ก็สามารถผ่านพ้นมาได้ และอย่าได้ลืมว่า แท้จริงแล้ว ความขัดแย้งที่ “คนนอก” มองเห็นอยู่เบื้องหน้านั้น จะทำให้เกิด “จุดเปลี่ยน” ถึงขั้นมีอันต้องกลายเป็นพรรคต่ำสิบ เพราะแท้จริงแล้ว การเมืองก็เป็นเรื่องการเมือง อีกทั้งยังมีความซับซ้อนอยู่ในตัวเอง จริงหรือที่ “คีย์แมน”ตัวหลักๆภายในพรรคอย่าง “ชวน หลีกภัย” และ “บัญญัติ บรรทัดฐาน” จะยอมให้พรรคพังไปต่อหน้าต่อตา โดยที่ไม่ทำอย่างใดอย่างหนึ่ง นอกจากนี้ยังต้องไม่ลืมว่าพรรคประชาธิปัตย์ ยังคงความเป็นพรรคการเมือง ที่ยึดถืออุดมการณ์ มีฐานพี่น้องประชาชน อยู่ทั่วประเทศ ตามจังหวัดต่างๆ ทว่าวันนี้ พรรคประชาธิปัตย์อาจอยู่ในสภาพของคนที่เพิ่งผ่านศึก เผชิญความขัดแย้งที่ยังต้องอาศัยทั้งวันเวลาและสถานการณ์เป็นตัวคลี่คลาย เพื่อประคองตัวเองทั้งในสถานะ “พรรคร่วมรัฐบาล”ที่ต้องพยายามรักษา “เก้าอี้รัฐมนตรี” ไปพร้อมๆกับการบริหารจัดการปัญหาภายในของตัวเอง เพื่อไม่ให้เกิดภาพ “ฝ่ายค้าน”ในรัฐบาล จนกลายเป็น “จุดอ่อน” ให้ถูกริบเก้าอี้รัฐมนตรีในรัฐบาล “บิ๊กตู่” คืนไปต่อหน้าต่อตา ในคราวเดียวกัน !